ไทยดันเอกชนเพิ่มลงทุนสหรัฐ ชูโมเดลผลิตร่วม แลกลดภาษีขาเข้า
KEY POINTS
* 'พิชัย' มั่นใจ 5 ข้อเสนอไทยที่ส่งถึง USTR โดนใจสหรัฐ มุ่งลดเกินดุล เพิ่มนำเข้าสินค้า และลงทุนในสหรัฐ
* ดันเอกชนที่มีศักยภาพ และความพร้อมลงทุนในสหรัฐ เช่น ในสาขาปิโตรเคมี พลังงาน ชิ้นส่วนยานยนต์
* เชื่อลดภาษีจาก 36% เหลือแค่ 10% ได้ ตามพื้นฐานที่สหรัฐ กำหนดกับประเทศอื่นๆ
* ประธานผู้แทนการค้าไทยบุกสหรัฐ หารือหนุนไทยลงทุนเพิ่มเสนอโมเดล joint manufacturing เพิ่มมูลค่า และการสร้างงานทั้งสองประเทศ
ความพยายามของรัฐบาลไทยในการเจรจาการค้ากับสหรัฐเพื่อขอลดภาษีศุลกากรจากระดับ 36% ให้ลดลงภายในกรอบระยะเวลา 90 วันหรือภายในวันที่ 7 เดือน 7 ปี ยังต้องติดตามว่าจะดำเนินการได้ทันเวลาหรือไม่
ล่าสุดรัฐบาลได้ยื่นข้อเสนอ (Proposal) จำนวน 5 ข้อถึงสหรัฐ โดยยื่นผ่านนายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ และยื่นผ่านสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ กล่าวในเวที Saudi Investment Forum ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย วันที่ 13 พ.ค.2568 ถึงการหารือกับญี่ปุ่นได้ผลมาก ส่วนเกาหลีใต้กำลังอยู่ช่วงเปลี่ยนแปลงผู้นำแต่ได้ติดต่อสหรัฐมาก่อนการเลือกตั้งพร้อมข้อเสนอดีมาก ขณะที่อินโดนีเซียคู่ค้ารายใหญ่ก็ติดต่อกันอย่างดี ส่วนไต้หวันยื่นข้อเสนอที่ดีมาก และประเทศไทยก็เช่นกัน

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่งข้อเสนอรัฐบาลไทยถึงนายเจมสัน กรีเออร์ ประธานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) วันที่ 8 พ.ค.2568 โดยข้อเสนอได้ผ่านการหารือที่ผ่านจากคณะทำงานนโยบายการค้า และผ่านความเห็นชอบจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแล้ว รวม 5 ข้อ ได้แก่
(1)ความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-สหรัฐ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูป และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล (Data Center and AI Industry) และการพิจารณาลดอุปสรรคทางการค้าทั้งภาษี และไม่ใช่ภาษี
(2)การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ โดยเฉพาะสินค้าพลังงาน สินค้าเกษตร และเครื่องบิน ส่วนประกอบ และอุปกรณ์บริการ โดย นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมผู้บริหาร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) เดินทางไปรัฐอะแลสกา เพื่อหารือผู้ว่าการรัฐอะแลสกา และบริษัทพลังงานของสหรัฐ เพื่อเพิ่มความร่วมมือด้านพลังงานไทย-สหรัฐ
(3)การเปิดตลาดสาขาเกษตรของไทย เช่น ผลไม้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
(4)การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งไทยเริ่มดำเนินการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง และเจ้าที่กรมขนส่งสหรัฐพึงพอใจระดับหนึ่ง
(5)ส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐมากขึ้น โดยขณะนี้ นางนลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย รวมถึงนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และภาคเอกชนไทยเยือนสหรัฐร่วมงาน Select USA Investment Summit 2025 เพื่อดูลู่ทางการลงทุนในสหรัฐเพิ่ม
สัญญาณดีสหรัฐชื่นชมข้อเสนอไทย
นอกจากนี้ การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ แสดงท่าทีเป็นบวกต่อข้อเสนอไทย โดยสิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณบวกจากระดับนโยบายของสหรัฐ และคาดว่าได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ระดับ Working level พิจารณารายละเอียดต่อ ซึ่งอาจใช้เวลาดำเนินการแต่แสดงให้เห็นว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สหรัฐให้ความสำคัญ และพร้อมหารือเพื่อหาข้อยุติในส่วนมาตรการภาษีต่างตอบแทน
“ได้หารือเป็นระยะในระดับผู้ปฏิบัติงาน โดยข้อเสนอของไทยเป็นข้อ เสนอที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้ ถึงแม้จะนำเข้ามากขึ้น แต่ก็คิดถึงการส่งออกมากขึ้นด้วย และเมื่อนำเข้ามากขึ้น การส่งออกก็มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในสหรัฐที่ต้องการสินค้าไทย และทำอย่างไรไม่ให้ผู้ผลิตไทยได้รับผลกระทบ ซึ่งสินค้าที่นำเข้าต้องเป็นสินค้าที่ไทยประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และดีต่อต้นทุนการแปรรูปเพื่อส่งออก”
ส่วนประเด็นที่จะได้หารือกับสหรัฐภายในเดือนพ.ค.2568 หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า สหรัฐพยายามตกลงกับประเทศใหญ่ก่อนเพราะมีเงื่อนไขมาก และมีสินค้าหลายประเภท ซึ่งพอจะเดาได้ว่าเมื่อจะใช้กรอบเจรจากับหลายประเทศอย่างไร และอาจใช้เป็นแนวทางเดียวกัน โดยไทยโฟกัสการนำเข้าสินค้าเกษตรที่สหรัฐต้องการส่งออกเป็นเงื่อนไขที่ตรงกัน
“จะคุยเมื่อไหร่ ผมเชื่อว่าระดับเจ้าหน้าที่ทราบแล้ว ถ้าคุยแล้วนอกเหนือจากนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เชื่อว่าเขาคงรอเวลา เพราะเจ้าหน้าที่ ที่ทำงานของ USTR มี 200 กว่าคน ต้องแบ่งงานกันทำ”
ขณะที่การหารือระดับรัฐมนตรี นายพิชัย กล่าวว่า ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐเดินทางไปต่างประเทศมาก โดยถ้ามีจังหวะดีคงจัดคิวว่าใครอยู่กลุ่มที่จะเข้าไป ซึ่งหวังว่าจะเกิดขึ้นเร็ววันเพราะในเวลา 90 วันที่ผ่อนผันผ่านมาเกือบ 2 เดือน
ดันธุรกิจมีศักยภาพลงทุนสหรัฐ :
สำหรับธุรกิจที่จะมีการลงทุนเพิ่มในสหรัฐจะต้องมีลักษณะ 2 อย่าง คือ 1.ไทยมีขีดความสามารถดำเนินการ ซึ่งระยะหลังไทยมีความสามารถด้านกระบวนการผลิต และบริการในส่วนรถยนต์ 2 ไทยมีความชำนาญ และต้องการนำเข้า ซึ่งดูว่านอกจากนำเข้าแล้วลงทุนได้หรือไม่
เมื่อถามว่า ขณะนี้ภาษีจีนอยู่ที่ 30% แต่ของไทยอยู่ที่ 36% มีความกังวลเรื่องนี้หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ตัวเลขเหล่านั้นสะท้อนได้ 2 เรื่อง โดยคำนึงถึงขนาดเศรษฐกิจ คำนึงแต่สัดส่วนที่ประเทศคู่ค้าได้เปรียบดุลการค้าจากสหรัฐ สิ่งที่เรากำลังจะทำต่อไปลดสัดส่วนดุลการค้าได้แน่นอน และเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย เมื่อลดการขาดดุลได้ตนคิดว่า ตัวเลขก็ไม่น่าจะอยู่อย่างนี้
รัฐบาลหวังลดภาษีลงเหลือ 10%
สำหรับเป้าหมายของรัฐบาลในการเจรจาลดภาษี นายพิชัย กล่าวว่า สหรัฐต้องการภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น และมองอัตรา 10% เป็นขั้นต่ำ ซึ่งสินค้าสิ่งที่เกี่ยวข้องคือ ยานยนต์ ซึ่งเชื่อว่าคงได้อัตราใกล้เคียงประเทศอื่นหากการเจรจาจบ โดยอัตราดังกล่าวคิดว่าเกือบทุกชนิดสินค้าที่สหรัฐน่าจะยืนอยู่ระดับ 10%
“ไทยเป็นประเทศคู่ค้าที่ไม่ได้อยู่ในเทียร์ 1 และอยากฟังว่าเขาคุยอะไรกับประเทศใหญ่ เพราะมีสินค้าบางชนิดที่เหมือนไทย ดังนั้น ถ้าพูดตามตรงเวลาที่เขายังไม่คุย เราอาจรู้สึกว่าทำไมไม่คุยสักที แต่ถ้ามองไปแล้วจะทำให้รู้ว่าเขาคุยอะไรกับคนอื่น ซึ่งการคุยในจังหวะเหมาะสมน่าจะดีที่สุด ผมคิดว่าไม่ช้า เพราะคงจบไล่ๆ กัน”
ผู้แทนการค้าไทยนำเอกชนบุกสหรัฐ
นางนลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย อยู่ระหว่างเยือนสหรัฐร่วมกับภาคเอกชนไทยเพื่อดูลู่ทางการลงทุนในสหรัฐ โดยเมื่อวันที่ 13 พ.ค.2568 ได้หารือกับวุฒิสมาชิก แทมมี ดัควอร์ธ จากรัฐอิลลินอยส์ และวุฒิสมาชิก เอลิสซา สล็อตคิน จากรัฐมิชิแกน และภาคเอกชนรายสำคัญในพื้นที่ เพื่อหารือถึงบทบาทไทยในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ และการขยายการลงทุนในสหรัฐ
รวมทั้งได้ย้ำถึงความพร้อมของไทยในการลงทุนเพิ่มเติม อาทิ เกษตร พลังงาน อาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งที่ผ่านมาเอกชนไทยลงทุนในสหรัฐ 17,000 ล้านดอลลาร์ และสร้างการจ้างงานไม่น้อยกว่า 15,000 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ได้หารือกับผู้แทนรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐถึงข้อเสนอการร่วมผลิต (joint manufacturing) เช่น การผลิตแผงโซลาร์ หรือชิ้นส่วนยานยนต์ในไทย เพื่อส่งไปประกอบขั้นสุดท้ายในสหรัฐ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่า และการสร้างงานทั้ง 2 ประเทศ
8 บริษัทไทยมีแผนเพิ่มลงทุนสหรัฐ
นอกจากนี้ ได้ร่วมงาน SelectUSA Investment Summit 2025 โดยมีภาคเอกชนนำเสนอแนวทางการลงทุนในสหรัฐ 8 ราย คือ
1)กลุ่ม CP Group นำเสนอกรณีศึกษาบนเวที Industry Spotlight: Food & Beverage โดย คุณอำพล อสุวพงษ์พัฒนา เผยถึงกลยุทธ์การขยายธุรกิจผ่าน M&A และการร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น เช่น การลงทุนฟาร์มกุ้งในรัฐฟลอริดา เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์เข้าถึงผู้บริโภคได้ตรงจุด และ CP Group จ้างงานชาวอเมริกันแล้วกว่า 2,000 ตำแหน่ง และมีแผนเพิ่มการลงทุนต่อเนื่อง
2)SCG Packaging มองว่าการเจรจาครั้งนี้ช่วยเปิดโอกาสขยายธุรกิจในตลาดสหรัฐได้ชัดเจนมากขึ้น หลังจากมีการค้าขายกับสหรัฐอย่างต่อเนื่อง
3)บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เห็นความต้องการพลังงานในสหรัฐโดยเฉพาะรัฐเท็กซัสยังคงเติบโตต่อเนื่อง เป็นสัญญาณบวกต่อแผนขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงาน
4)บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ PTT International Trading USA มองว่าการมาเยือนครั้งนี้ต่อเนื่องจากภารกิจร่วมกับกระทรวงพลังงาน เพื่อขยายความร่วมมือด้านการค้าก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะในรัฐอะแลสกา
5)บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group เห็นโอกาสการลงทุนด้านพลังงานในหลายรัฐ พร้อมขยายธุรกิจในอนาคต
6)บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยลงทุนผ่าน Chicken of the Sea Frozen Foods ซึ่งมีประสบการณ์ในตลาดสหรัฐนานเกือบ 30 ปี มองว่าตลาดนี้ยังคงเป็นตลาดหลักที่สำคัญ พร้อมเดินหน้าเจรจาเพื่อหาทางออกแบบ Win-Win Partnership ในฐานะ Reliable Strategic Partner
7)Indorama Ventures ที่ผ่านมาลงทุนผลิตเม็ดพลาสติกในสหรัฐ
8)กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท โดย Thai Summit America Corporation เข้าร่วมหารือกับพันธมิตรหลากหลายกลุ่มในสหรัฐเพื่อมองหาโอกาสขยายธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 15 พฤษภาคม 2568