ธุรกิจไทยสู้กลับ รับมือโลกเสี่ยง มั่นใจฟื้น "ยั่งยืน"
ไทยยังเจอความท้าทายจากกระแสโลก เอกชนจี้เร่งดึงดูดการลงทุน หนุนสร้างความเข้มแข็งภายใน ปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล ปฎิรูปกฎหมายปลดปล่อยพลังธุรกิจไทย ปตท.-เอสซีจี ปรับองค์กรมุ่งรักษ์โลก WHA มั่นใจไทยยังมีเสน่ห์แหล่งลงทุน สยามพิวรรธน์ชี้ “คน” คือหัวใจขับเคลื่อนองค์กร
จากแนวโน้มเศรษฐกิจและแนวทางขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในการสัมมนา Thailand Economic Outlook 2023 จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” ที่ภาครัฐมุ่งให้ฟื้นตัวอย่างทั่วถึงและค่อยเป็นค่อยไป ผู้บริหารสถาบันภาคเอกชนและกิจการขนาดใหญ่ไทย ร่วมชี้เป้าความท้าทายและข้อเสนอแนะ เพื่อใช้พลังภาคเอกชนร่วมขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจปี 2566 ยังมีความท้าทาย โดยเฉพาะวิกฤตพลังงานที่กระทบห่วงโซ่อุปทานโลก การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยตัวแปรสำคัญคือนโยบายเปิดประเทศของจีน ที่จะชัดเจนขึ้นหลังการประชุมใหญ่พรรควันที่ 16 ต.ค.นี้
ขณะนี้หอการค้าฯ อยู่ระหว่างผลักดันแผนนโยบายหลายๆ ภาคอุตสาหกรรม ทั้งคงเป้าส่งออก ยอดนักท่องเที่ยต่างชาติที่ตั้งไว้ 20 ล้านคนปีหน้า เพื่อสร้างเม็ดเงิน 1.73 ล้านล้านบาท (ไม่นับรวมโอกาสจีนเปิดประเทศ) ยกระดับภาคการเกษตรเพิ่มมูลค่า ในโอกาสโลกขาดแคลนอาหาร
โจทย์สำคัญอยากให้ภาครัฐผลักดันการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าไทยเพิ่มเติม เพื่อขับเคลื่อนจีดีพี ซึ่งจะเกิดได้ต้องมีเสถียรภาพทางการเมืองและนโยบายที่ต่อเนื่องของรัฐบาลหน้า และที่อยากเห็นมากที่สุดคือ การปฎิรูปกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มสตาร์ทอัพ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลรอบด้าน
สอดคล้องกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เรียกร้องให้โละกฎหมายล้าสมัยกว่า 1,400 ฉบับ และอนุบัญญัตินับแสนเรื่อง ที่มัดมือมัดเท้าคนทำธุรกิจ ถ้าปลดล็อกจะเปิดทางให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ จากความสามารถของคนไทย แทนที่ต้องหนีไปสิงคโปร์
ขณะที่ส.อ.ท. ซึ่งมี 45 กลุ่ม 11 คลัสเตอร์ อยู่ระหว่างผลักดัน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมสำคัญของทิศทางอุตสาหกรรมไทยยุคหน้า ที่มีโอกาสรออยู่ เอกชนสามารถดึงดูดการลงทุนใหญ่เข้ามาได้แล้ว อยู่ที่ภาครัฐจะต่อยอดนโยบายอย่างไรให้น่าสนใจ โดยเฉพาะเพื่อแข่งขันกับเวียดนาม
ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทิศทางราคาพลังงานปี 2566 มีแนวโน้มลดลง คาดน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 85-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดแรงกดดันต่อเศรษฐกิจรุนแรงน้อยกว่าปี 65 เช่นเดียวกับราคาก๊าซธรรมชาติ (LNG) ที่น่าจะถูกลงเช่นกัน
ส่วนภาพรวมในระยะยาวจะมุ่งไปในทิศทางการใช้พลังงานสะอาดที่มีราคาแพงกว่ามากขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทาย โดยในระยะต่อไปจะมีการปรับวิสัยทัศน์ไปสู่ “powering life with future energy and beyond” หรือการขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต นำเทคโนโลยีมาพัฒนาพลังงาน รวมถึงระบบไฮโดรเจนที่ตั้งเป้าหมายศึกษาอย่างจริงจัง ส่วนธุรกิจเดิมจะเริ่มออกไปนอกธุรกิจพลังงานเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยตอบโจทย์ new s curve ของประเทศตามนโยบายรัฐบาล
ด้านเป้าหมาย Net Zero นั้น ทั้งกลุ่มปตท.ได้รวมตัวทุกบริษัทจะต้องประกาศเป้าหมายและทำให้ได้ก่อนเป้าหมายประเทศไทยในปี 2065 เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศ โดยกำหนดเป้าหมาย Net Zero ในปี2050 อาทิ เพิ่มพอร์ตพลังงานสะอาดเป็น 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ ปลูกป่าจาก 1 ล้านไร่เป็น 2 ล้านไร่ จากเดิม 1 ล้านไร่ ช่วยดูดซับคาร์บอนได้ 2 ล้านตันต่อปี เป็นต้น
ขณะที่นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า โลกเจอภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤต จากสงครามการค้า การระบาดเชื้อโควิด-19 ต่อด้วยเงินเฟ้อสูงและสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนถึงภาวะโลกร้อนหรือโลกรวน ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลกระทบมากที่สุดตั้งแต่เจอมา
สำหรับธุรกิจใหม่ที่เอสซีจีมองในอนาคตก็คือ เรื่องของพลังงานทดแทน ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะตรงกับโลกร้อน โดยพลังงานทดแทนหากมองต้นน้ำจะมีทั้งลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจของไทยคือไบโอแมส เพราะขาดภาคการเกษตรไม่ได้ และจะเป็นโอกาส
นอกจากนี้ยังมีเรื่องภาวะสิ่งแวดล้อมที่มีการเสื่อมโทรมลงไป เช่น การไม่สามารถจัดการขยะ เช่น ขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรม หากทำให้ดีจะเป็นโอกาสที่สำคัญของเอสซีจี เช่นเดียวกัน
ส่วนปลายน้ำเรื่องบ้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบไฮบริดซิสเต็มส์ ในการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้มาบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในบ้าน ซึ่งภาคธุรกิจ เอสซีจีมีบริษัทซู่ซันที่นำเอาระบบโซลาร์ มาบริหารจัดการกับภาคธุรกิจ เพื่อทำให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด และอีกหนึ่งธุรกิจคือเอสซีจีคลีนเนอร์ยี เพื่อลงทุนในพลังงานสะอาด โดยมีโครงการที่ลงทุนให้ผู้ประกอบการ หรือลูกค้าในกรณีที่ไม่อยาลงทุนเองทั้งหมด
ด้านเวทีพลังสตรี“Power Women พลิกธุรกิจรับโลกเปลี่ยน” ย้ำความเชื่อมั่น ไทยยังเป็นเป้าหมายการลงทุน นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า ยังมีโอกาสอีกเยอะ เช่น เป็นฐานการผลิตรถยนต์ EV ของทุนจีน ซึ่งไทยต้องเชื่อมและต่อยอดสู่ผู้ประกอบการไทย ให้ยกระดับสู่การสร้างแบรนด์ จะอยู่ที่เดิมไม่ได้
“WHA มี 4 ธุรกิจในช่วงโควิด โลจิสติกส์ดีมาก เช่นเดียวกับพลังงานเติบโตดี แต่ที่กระทบคือกิจการสาธารณูปโภค และนิคมฯ เพราะคนเดินทางไม่ได้ ทำให้พอบาลานซ์พอร์ตยอดขายแทบไม่ได้ลดลง ยังเติบโตขึ้น 20% มาปีนี้ทุกอย่างดีหมด โลจิสติกส์ดีต่อเนื่อง นิคมอุตสาหกรรมยอดขายเติบโตมากกว่า 2-3 เท่าตัว ตามกระแสเคลื่อน ย้ายฐานทุนที่ค่อนข้างมาก น้ำและพลังงานมีทิศทางที่ดี และดิจิตอลมาแรงมาก จึงมั่นใจว่าปีนี้จะเติบโต”
ด้านนางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า ในช่วงโควิดสยามพิวรรธน์เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เจอวิกฤต และสามารถก้าวข้ามมาได้ ปัจจุบันผลประกอบการของศูนย์การค้า 9 เดือนมากกว่ารายได้ 9 เดือนของปี 2019 ก่อนโควิด ซึ่งเป็นปีที่ทราฟิคนักท่องเที่ยวกินสัดส่วน 30% ของคนที่จับจ่ายใช้สอย ทั้งที่ปีนี้นักท่องเที่ยวยังมาไม่มาก ทำให้เห็นว่าประเทศนี้ยังมีดี
ขณะเดียวกันในช่วง 7 ปีที่ผ่านมายอดขายของเราเติบโต 5 เท่า และมีการขยายบริษัทย่อยจาก 32 บริษัทขึ้นมาเป็น 48 บริษัท และยังสามารถเปิดตัวลักชัวรี เอาท์เล็ต มอลล์ ออกมาได้ท่ามกลางวิกฤตโควิด ในปี 2021 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี
“เป็นสปริงบอร์ดสำคัญ ที่เราจะได้ร่วมกับพันธมิตรและคู่ค้า ภายใต้แนวทาง Above the Ocean Strategy สิ่งที่สยามพิวรรธน์กำลังจะทำคือ สร้างคุณค่าไปสู่มูลค่า อันดับแรกคือ Sharing Economy แบ่งปันประโยชน์ให้กับคู่ค้าพันธมิตร 2. ผนึกกำลังกับพันธมิตรเพื่อครีเอทสิ่งใหม่ๆ ร่วมมือเพื่อเติบโตไปด้วยกัน และสร้างความยั่งยืนผ่านทุกกระบวนการในทุกธุรกิจที่ดำเนินการ
สิ่งสำคัญที่สุดของธุรกิจบริการก็คือ “คน” ไม่ว่าเราจะออโตเมชั่น หรือทดแทนคนในบางส่วน แต่ที่เราอยู่มาได้รอดมาทุกวิกฤต เพราะผู้บริหารและพนักงานของเรา การเปลี่ยนกลยุทธ์ คือการเปลี่ยน mindset ที่ยิ่งใหญ่ เราจะต้องสื่อสารและได้ใจเขา เพื่อให้เขามีใจไปให้บริการคู่ค้า เพื่อดันยอดขายให้ผลประกอบการดี และทำให้องค์กรของเราเป็นที่หนึ่งได้ต่อไป” นางชฎาทิพย้ำ
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที 6 ตุลาคม 2565