ชี้ 5 ข้อเสนอไทยยังไม่โดนใจสหรัฐ คาดถูกเก็บภาษีตอบโต้ไม่ต่ำ 10%
ผู้เชี่ยวชาญให้คะแนนปานกลางบวก ชี้ 5 ข้อเสนอไทยเตรียมเจรจาสหรัฐ ยังไม่โดนใจพอ ทั้งแอ็กชั่นแพลนแก้ปัญหาสินค้าสวมสิทธิ์ การลงทุนแปรรูปอาหารในสหรัฐ ฟันธงไทยถูกเก็บภาษีตอบโต้ไม่ต่ำกว่า 10% ค่ายอสังหาฯ ระบุสหรัฐลดภาษีจีน กระทบลงทุนไหลเข้าไทย TDRI ชี้ 4 ภาคธุรกิจไม่กระทบมั่นใจโตต่อ
งวดเข้ามาทุกขณะ ของระยะเวลาการเจรจาการค้าไทย-สหรัฐอเมริกา ที่เส้นตายสหรัฐได้ชะลอการขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐออกไป 90 วัน (จะครบกำหนดในวันที่ 7 ก.ค. 2568) เบื้องต้นสหรัฐประกาศจะเก็บภาษีไทยที่ 36% ซึ่งล่าสุดไทยยังไม่มีคิวเจรจา แต่ได้ยื่น 5 ข้อเสนอสำคัญ ในการเจรจากับสหรัฐไปแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568
ประกอบด้วย 1.การเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 2.เพิ่มการนำเข้าสินค้าสหรัฐ 3.เปิดตลาดสินค้าเกษตรและลดอุปสรรคทางการค้า 4.การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าอย่างเคร่งครัด และ 5.การส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐมากขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากการพิจารณา 5 ข้อเสนอ หรือ 5 เสาหลักของไทยที่ได้ยื่นขอเปิดเจรจากับสหรัฐไปแล้ว ซึ่งเหลือเพียงวันที่จะนัดหมายเจรจากันต่อไปนั้น มองว่า ใน 3 ข้อแรกเป็นข้อเสนอในการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐของไทยเพิ่มขึ้น เพื่อตอบโจทย์การลดการขาดดุลการค้าที่สหรัฐมีต่อไทย
ส่วนข้อที่ 4 ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าของสินค้าเมดอิน ไทยแลนด์ จากสินค้าของประเทศที่ 3 เพื่อผ่านไทยไปสหรัฐ ที่ผ่านมาไทยถือว่าสอบตก เพราะไม่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ รวมถึงการตรวจสอบสินค้าด้อยมาตรฐานจากต่างประเทศที่เข้ามา ซึ่งในการเจรจาครั้งนี้ไทยต้องมีแอ็กชั่นที่ต้องแสดงให้สหรัฐเห็นว่าไทยจะทำอย่างไร และจะเอาจริงเอาจังแค่ไหน และต้องตอบสนองให้เร็ว
ตัวอย่างเวียดนามที่เจรจาการค้ากับสหรัฐล่าสุดได้ประกาศสินค้าที่ส่งไปสหรัฐต้องเป็นสินค้าเมด อิน เวียดนามเท่านั้น และจะเร่งปราบปรามสินค้าปลอมและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์แบรนด์ดัง ๆ ของสหรัฐอย่างเข้มงวด
ขณะที่ในเรื่องที่ 5 การส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐมากขึ้น เช่น การลงทุนด้านก๊าซแอลเอ็นจีในรัฐอลาสก้าของสหรัฐ(ที่ล่าสุดผู้บริหารของ บมจ.ปตท.,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และบมจ.ผลิตไฟฟ้าได้เดินทางไปรัฐอลาสก้าของสหรัฐเพื่อหารือกับผู้ว่าการรัฐอลาสก้าและบริษัทด้านพลังงานของสหรัฐเพื่อหาโอกาสและเพิ่มความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างกัน) ในเรื่องนี้ก็มีหลายชาติที่ได้ยื่นข้อเสนอที่จะลงทุนด้านแอลเอ็นจีในอลาสก้าเช่นกัน ทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งน้ำหนักที่สหรัฐให้ความสนใจมากที่สุดอยู่ที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้
นอกจากนี้ข้อเสนอความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในสหรัฐของไทย หากจะให้สหรัฐพอใจไทยควรต้องระบุให้ชัดว่า จะไปลงทุนในรูปแบบใด ในสินค้าไหน ไซซ์ขนาดไหน ไปปลูกหรือจะร่วมทุนกับบริษัทภาคเกษตรของไทย ในการนำสินค้าเกษตรไทยไปแปรรูปที่สหรัฐ เป็นต้น
“โดยสรุปผมให้คะแนนความน่าสนใจของข้อเสนอไทยทั้ง 5 ข้ออยู่ในระดับปานกลางขึ้นหรือปานกลางบวก เพราะข้อเสนอยังขาดความชัดเจนอีกหลายเรื่องที่สหรัฐอยากเห็นในอีก 4 ปีของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ หรือในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ขณะที่ในข้อเสนอของไทยส่วนใหญ่จะคล้ายกับข้อเสนอของหลายประเทศในอาเซียน เช่น การจะนำเข้าสินค้าสหรัฐเพิ่ม การแก้ปัญหาทรานชิปเมนต์ของสินค้าสวมสิทธิ์ การขยายการลงทุนในสหรัฐ เป็นต้น”
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ กล่าวอีกว่า ประเมินในเบื้องต้นหลังไทยได้เจรจากับสหรัฐแล้ว หากสร้างความพอใจให้สหรัฐในระดับหนึ่ง คาดที่สุดแล้วสหรัฐจะยังเก็บภาษีตอบโต้ไทยไม่ต่ำกว่า 10% (จากจะเก็บ 36%) เนื่องจากหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าและเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าให้สหรัฐซึ่งมีประมาณ 10 ประเทศ ในเวลานี้ยังถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตรา 10% เช่น อังกฤษ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ สเปน ออสเตรเลีย บราซิล ชิลี แอฟริกาใต้ โคลอมเบีย ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้าสหรัฐจึงมีโอกาสถูกเก็บภาษีตอบโต้ไม่ต่ำกว่า 10%
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า กรณีการเจรจาการค้าระหว่าง สหรัฐและจีนที่ล่าสุด ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงในการลดภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันลง 115% โดยสหรัฐฯ จะลดภาษี จากเดิม 145% เหลือ 30% ให้จีนขณะที่จีนจะลดภาษีให้สหรัฐจากเดิม 125% ลงเหลือ 10 % นั้น มองว่าสินค้าจีนที่คิดย้ายฐานการผลิตมาไทย น่าจะชะลอดูสถานการณ์ ยังไม่ย้ายมาเนื่องจากทิศทางอัตราภาษีของไทยมีแนวโน้มจะถูกสหรัฐเก็บในอัตราที่สูงกว่าสินค้าที่ผลิตในจีน
ทั้งนี้การยืดเวลาออกไปอีก 90 วันของการขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐ มีผลให้คลายกังวล คล้ายว่าเรื่องจะจบ ขณะที่ผู้บริโภคและคู่ค้าที่สต๊อกสินค้าตุนไว้ก็รอความชัดเจน แต่ในระยะยาวน่าจะยังไม่จบเรื่อง เนื่องจากการผ่อนปรนภาษีให้จีน จะทำให้การขาดดุลการค้ากับจีนของสหรัฐยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร เหมือนเพียงเป็นการลดความตึงเครียดของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลสหรัฐชั่วคราว ประเด็นคือ ประเทศอื่นๆ จะมีผลการเจรจาเป็นอย่างไรยังตอบได้ยาก
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้โลกจะมีความไม่แน่นอนสูง จากนโยบายของทรัมป์ ที่จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวในภาพรวมของเศรษฐกิจไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่าในปีนี้จะขยายตัวเพียง 1.5% และธนาคารโลกก็เพิ่งหั่นการขยายตัวของจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 1.6% แต่จากการวิเคราะห์เศรษฐกิจในเชิงลึก พบว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย จะเป็นไปในลักษณะ K-Shape Recovery
ทั้งนี้แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะเติบโตไม่สูงนัก แต่ยังมีธุรกิจหลายประเภทที่อยู่ในขาบนของ K-Shape และมีโอกาสการขยายตัวที่ดีในปัจจุบันประกอบด้วย
(1)ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว แม้จะยังไม่กลับมาเท่า 40 ล้านคนเมื่อเทียบกับปีก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2562 แต่ก็มีการฟื้นตัว โดยเชื่อว่าจะมีแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนการเดินทางจากสหรัฐฯ หรือประเทศ อื่นๆ มาสู่ไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างภูเก็ต
(2)ธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการปรับตัวของภาคธุรกิจและผู้บริโภคในยุคดิจิทัล 3.ธุรกิจเวลเนส (Wellness) ได้รับความนิยมสูงขึ้น สอดคล้องกับเทรนด์สุขภาพและการดูแลตัวเองที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และ 4. ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนท์ มีการเติบโตดีมาก เป็นอีกหนึ่งเซกเตอร์ที่มีโอกาสสูงในปัจจุบัน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 15 พฤษภาคม 2568