จับตา "จีน" ขยับลงทุนอาเซียนระลอกใหม่
ขณะที่ผลการเจรจานัดแรกระหว่างสหรัฐกับจีนที่นครเจนีวาเป็นไปด้วยดี โดยทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงลดภาษีชั่วคราว 90 วัน ทำให้สินค้านำเข้าจากจีนที่โดนอัตราภาษี 145% ลดลงเหลือ 30% เช่นเดียวกัน สินค้านำเข้าจากสหรัฐที่โดนอัตราภาษี 125% เหลือเพียง 10% นับเป็นความคืบหน้าครั้งใหญ่ สมคำพูดของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้ซึ่งคาดเดาอะไรแน่นอนได้ยาก
นักลงทุนทั่วโลกตอบรับผลการหารือดังกล่าวทันที สินทรัพย์สหรัฐ ทั้งตลาดหุ้น และค่าเงินปรับตัวขึ้นครั้งใหญ่ ราคาทองร่วงลงต่อเนื่องจากเสียงสะท้อนว่าความตึงเครียดการค้าอาจคลี่คลายได้ในที่สุด
นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า แม้กำแพงภาษีจะลดลงอย่างมาก แต่ผู้ประกอบการชาวจีนหลายรายยังคงวางแผนเพิ่มการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย เพื่อเร่งปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานระดับโลกต่อไป อาทิ “วีลง เอ็นเตอร์ไพรส์” (Velong Enterprise) บริษัทผลิตอุปกรณ์เครื่องครัวและทำอาหารของจีน ยังคงยืนยันขยายการลงทุนนอกประเทศต่อไป หลังปริมาณการส่งออกจากโรงงานในจีนลดลงจนแทบจะเป็นศูนย์ จากการที่ทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีอัตรา 145%
ขณะที่บริษัทร่วมทุนในกัมพูชาและอินเดียกลับพุ่งทะยานขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการนําเข้าสินค้ามาจําหน่ายในสหรัฐต่างพากันยื้อแย่งหาแหล่งจัดซื้อวัตถุดิบแห่งใหม่ทดแทน
สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะผู้ประกอบการจีนยังคงไม่ไว้ใจทรัมป์ จากพฤติกรรมที่คาดเดาไม่ได้ ซึ่ง “เจคอบ ร็อธแมน” ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งวีลง เอ็นเตอร์ไพรส์ ระบุว่า ลูกค้าสหรัฐหลายรายยังคงไม่สบายใจที่จะสั่งซื้อสินค้ากับจีนต่อไป เนื่องจากไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าอัตราภาษีจะเพิ่มหรือลดลงอีกเมื่อไร
จิ่ญ เหงวียน (Trinh Nguyen) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากแนติซิส (Natixis) วาณิชธนกิจในฮ่องกง กล่าวว่า ภาษีศุลกากรของสหรัฐจะนำไปสู่การสับเปลี่ยนด้านห่วงโซ่อุปทานอย่างถาวร และจะทำให้เกิดการบูรณาการระดับภูมิภาคอย่างเข้มข้น
ขณะที่ข้อมูลสำนักงานศุลกากรจีนในเดือนเมษายน 2025 พบว่า จีนมีการส่งออกไปสหรัฐลดลง 21% หลังมีการประกาศเก็บภาษีในช่วงต้นเดือนเมษายน แต่ยอดส่งออกไปอาเซียนเพิ่มขึ้น 21% และส่งออกไปสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 8% แสดงให้เห็นถึงการเร่งส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่สาม ก่อนที่มาตรการภาษีแบบตอบโต้จะเริ่มมีผลในเดือนกรกฎาคม
อัลลิอันซ์ เทรด (Allianz Trade) วิเคราะห์ว่า ยุทธศาสตร์ China+1 จะเข้มข้นขึ้นในยุคทรัมป์ 2.0 เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ในเอเชียต่างต้องการขยายฐานการผลิตใหม่ในเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย
ขณะที่จากผลสำรวจของคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (CCPIT) ชี้ว่า กว่า 75% ของผู้ส่งออกชาวจีนทั้งหมด 1,100 คน มีแผนที่จะขยายกิจการไปยังประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) และบอกว่าจะลดการทำธุรกิจกับสหรัฐกันเกือบครึ่ง
อย่างไรก็ดี การขยายการลงทุนของจีนเข้าอาเซียนครั้งนี้ก็ต้องมีความระมัดระวัง และเป็นโมเดลที่สหรัฐยอมรับว่า ไม่ใช่รูปแบบที่จีนใช้ประเทศที่ 3 เป็นทางผ่านในการส่งออกเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากที่ทรัมป์เรียกเก็บภาษีตอบโต้กับบรรดาชาติอาเซียนที่เป็นพันธมิตรของจีน ในอัตราที่ค่อนข้างสูงเพื่อสกัดกั้นปัญหาดังกล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 18 พฤษภาคม 2568