สหรัฐขู่ 18 ประเทศคู่ค้ารายใหญ่รวม "ไทย" ใช้ภาษีตอบโต้แน่ ถ้า "ไม่ได้ดีลที่จริงใจ"
สหรัฐขู่ 18 ประเทศคู่ค้ารายใหญ่รวม "ไทย" จะใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้ตามที่ประกาศวันที่ 2 เม.ย. ถ้าไม่เจรจาข้อตกลงอย่างจริงใจ
สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NBC News ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะใช้อัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ที่เคยประกาศไปก่อนหน้านี้ กับประเทศคู่ค้า "ที่ไม่เจรจาข้อตกลงการค้าอย่างซื่อตรง"
เบสเซนต์ไม่ได้บอกว่าการเจรจาอย่าง "ซื่อตรง" คืออะไรหรือประกอบด้วยอะไรบ้าง และไม่ได้ให้รายละเอียดเรื่อง "ช่วงเวลา" ว่าสหรัฐจะประกาศการตัดสินใจเมื่อไรว่าประเทศนั้นๆ จะต้องถูกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariffs) ในอัตราที่เคยประกาศไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน
รอยเตอร์สระบุว่าในการให้สัมภาษณ์ล่าสุดเมื่อวานนี้ เบสเซนต์กล่าวว่ารัฐบาลทรัมป์โฟกัสไปที่พันธมิตรทางการค้าที่สำคัญที่สุดของสหรัฐ 18 ราย ส่วนเรื่องระยะเวลาของแต่ละดีลนั้นขึ้นอยู่กับว่าประเทศต่างๆ เจรจากันด้วยความซื่อตรงหรือไม่ โดยจะมีการส่งหนังสือแจ้งประเทศที่เสี่ยงต่อการถูกเก็บภาษีอัตราเดิมตามมา
“นั่นหมายความว่าพวกเขาไม่ได้เจรจากันด้วยความซื่อตรง พวกเขาจะได้รับหนังสือแจ้งว่า 'นี่คืออัตราภาษีของคุณ' ดังนั้นผมคาดหวังว่าทุกคนจะเข้ามาเจรจากันด้วยความจริงใจ” เบสเซนต์กล่าวในรายการ Meet the Press ของ NBC News โดยย้ำว่าประเทศที่ได้รับหนังสือแจ้งอาจจะได้เห็นอัตราเดิมที่ทรัมป์เคยประกาศเม่อวันที่ 2 เม.ย.
ส่วนประเด็นเรื่องที่จะมีการประกาศข้อตกลงการค้าอื่นๆ ได้เมื่อใดนั้น เบสเซนท์ตอบในรายการ “State of the Union” ของ CNN ว่า “เหมือนที่เคยกล่าวไป มันขึ้นอยู่กับว่าพวกเขากำลังเจรจากันด้วยความซื่อตรงหรือไม่”
“อีกอย่างที่ผมรู้สึกก็คือ เราจะทำข้อตกลงระดับภูมิภาคมากมาย นี่คืออัตราสำหรับอเมริกากลาง และนี่คืออัตราสำหรับแอฟริกา” เขากล่าวเสริม
ทั้งนี้ เบสเซนต์ไม่ได้ระบุรายชื่อ 18 พันธมิตรคู่ค้ารายใหญ่ แต่จากรายงานข่าวของสื่อบางสำนักก่อนหน้านี้คาดว่าเป็น 18 ประเทศคู่ค้าที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุด ซึ่งรวมถึง "ประเทศไทย" ด้วย
แคโรลีน เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาวเคยแถลงก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐได้รับข้อเสนอดีลการค้าจาก 18 ชาติพันธมิตรแล้ว และตัวเบสเซนต์เองก็เคยกล่าวถึง "ประเทศไทย" ระหว่างการร่วมประชุมที่ซาอุดีอาระเบียว่า ตนเน้นการทำข้อตกลงในเอเชียใหญ่สุดก็คือจีน การหารือกับญี่ปุ่นได้ผลมาก ส่วนเกาหลีใต้กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงผู้นำ อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ได้ติดต่อสหรัฐมาก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งพร้อมด้วยข้อเสนอที่ดีมาก อินโดนีเซีย คู่ค้ารายใหญ่ก็ติดต่อกันอย่างดี ไต้หวันยื่นข้อเสนอที่ดีมาก “และประเทศไทยก็เช่นกัน”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 19 พฤษภาคม 2568