ภาพรวมชาติอาเซียน เศรษฐกิจโตชะลอตัวไตรมาสแรก
ภาพรวมชาติอาเซียน เศรษฐกิจโตชะลอตัวไตรมาสแรก ท่ามกลางสงครามการค้า ซึ่งกระทบต่อกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างมาก
นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า ในบรรดาชาติอาเซียนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุด 5 ใน 6 อันดับแรกมีการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ช่วงไตรมาสแรกปี 2025 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลงอยู่แล้ว ก่อนเผชิญมาตรการภาษีจากสหรัฐ
ประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลักอย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ต้องเผชิญการเติบโตทั้งปีที่ต่ำกว่าคาด ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่มีต่อภาคการส่งออก ซึ่งลามถึงเศรษฐกิจในประเทศผ่านการลงทุนของภาคเอกชน
บริโภคซบเซาฉุดเศรษฐกิจไทย :
ตามข้อมูลที่เผยแพร่ในวันที่ 19 พฤษภาคม สภาพัฒน์แถลงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกของไทยที่ 3.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี (YOY) ชะลอลงจากการขยายตัว 3.3% ในไตรมาส 4 ปี 2024
แม้การส่งออกโตจะเติบโตเพิ่มขึ้น โดยโต 12.3% ในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้นจากการเติบโต 11.5% ในไตรมาส 4 ปี 2024 แต่การใช้จ่ายภาครัฐและการใช้จ่ายผู้บริโภคที่ซบเซาเป็นตัวฉุดภาพรวมการเติบโต
ไทยต้องเผชิญกับวิกฤตหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ซึ่งกระทบต่ออำนาจซื้ออย่างมาก โดยเฉพาะยอดขายในภาคยานยนต์
แถลงการณ์ของสภาพัฒน์ระบุว่า “การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลง 1.4% ต่อเนื่องจากการลดลง 9.5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะลดลง 2.0% เทียบกับการลดลง 21.2% ในไตรมาสก่อนหน้า”
เพื่อนบ้านอาเซียนโตชะลอตัว :
ตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านรายอื่น ๆ แสดงแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน ซึ่งอินโดนีเซีย ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดในอาเซียนขยายตัว 4.87% ในไตรมาสแรก ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเติบโตในไตรมาสก่อนที่โต 5.02% ทำให้อินโดนีเซียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2021
ขณะที่ตัวเลขจีดีพีเบื้องต้นของมาเลเซียโต 4.4% สิงคโปร์โต 3.8% และเวียดนามโต 6.93% แต่ทั้งสามประเทศล้วนมีการเติบโตชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 4.9%, 5% และ 7.55% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ฟิลิปปินส์กลับมีการเติบโตขยายตัวขึ้นเล็กน้อย โต 5.4% ในไตรมาสแรก จากระดับ 5.3% ในไตรมาส 4 ปี 2024 ด้วยผลของการลดอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อต่ำ
การค้าโลกชะลอกระทบอาเซียน :
ในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนเติบโตชะลอตัว จากการที่หลายประเทศพึ่งพาการส่งออกอย่างหนัก ซึ่งจะต้องเผชิญมาตรการภาษีครั้งรุนแรงจากสหรัฐที่ตั้งอัตราแต่ละประเทศไว้สูงมาก เวียดนามโดนเรียกเก็บอัตรา 46% ส่วนไทยโดน 36% อินโดนีเซียอัตรา 32% ด้านมาเลเซีย 24% และฟิลิปปินส์ 17% ขณะที่สิงคโปร์ถูกเรียกเก็บเพียงอัตราพื้นฐาน 10%
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่ากลุ่มประเทศอาเซียนอาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง เนื่องจากจีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของกลุ่มประเทศอาเซียน
แกเร็ธ ลีเธอร์ (Gareth Leather) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากแคปิตัล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) ประจำภูมิภาคเอเชียกล่าวถึงเศรษฐกิจมาเลเซียว่า การส่งออกอาจเติบโตขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากมีการเร่งจัดส่งสินค้าล่วงหน้าไปยังสหรัฐ อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยการค้าของจีนและสหรัฐที่จะลดน้อยลงก็มีผลทำให้การส่งออกจะอ่อนแอในช่วงหลังของปีเช่นกัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 19 พฤษภาคม 2568