ไทยอยู่ตรงไหนบนแผนที่เศรษฐกิจโลกในปี 2568?
เปิดโผตำแหน่งไทยบนแผนที่เศรษฐกิจโลก 2568 น่าห่วง! เศรษฐกิจไทยคาดโตแค่ 1.3-2.3% ร้ังท้ายอาเซียน ขณะที่เวียดนาม-ฟิลิปปินส์พุ่งทะยาน เรายืนอยู่ตรงไหนในเวทีโลก? ทำไมคู่แข่งถึงแซงหน้าเราไปไกล?
เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในจุดที่น่าเป็นห่วงเมื่อพิจารณาจากตัวเลขคาดการณ์การเติบโตในปี 2568 รายงานล่าสุดจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเผยแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่เพียง 1.3-2.3% ซึ่งเมื่อจัดอันดับในเวทีโลกแล้ว ไทยกลับอยู่ในตำแหน่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 และแนวโน้มปี 2568 ว่า ไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทย ขยายตัว 3.1% เป็นผลมาจากภาคการผลิต และการใช้จ่ายยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะปริมาณการการส่งออกสินค้า ขยายตัว 13.8% และการส่งออกบริการขยายตัว 12.3% เช่นเดียวกับการลงทุนภาครัฐขยายตัว 26.3%

ส่วน แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2568 สศช. ได้ปรับประมาณการใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว อยู่ที่ 2.3 – 3.3% โดยมีค่ากลางของการประมาณการอยู่ที่ 2.8% เหลือเพียง ขยายตัว 1.3 – 2.3% โดยมีค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ 1.8%
จากการวิเคราะห์ข้อมูลการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2568 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 9 จาก 11 ประเทศ/ภูมิภาคสำคัญ ด้วยอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเศรษฐกิจโลกที่ 2.6% แต่สิ่งที่น่าวิตกยิ่งกว่าคือ ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีการคาดการณ์การเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก
เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจไทยยิ่งแสดงถึงความแตกต่างที่ชัดเจน โดยเวียดนามคาดว่าจะเติบโต 4.8% ฟิลิปปินส์ 5.2% อินโดนีเซีย 4.4% และมาเลเซีย 3.8% ทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนมีคาดการณ์การเติบโตสูงกว่าไทยทั้งสิ้น ในขณะที่อินเดีย ยังครองแชมป์การเติบโตสูงสุดใน 11 ประเทศ/ภูมิภาคที่วิเคราะห์ ด้วยอัตรา 6.2%
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันตามการแถลงของสศช. ก็ไม่ได้ดีนัก แม้ไตรมาส 1/2568 ไทยจะเติบโต 3.1% แต่เมื่อจัดอันดับแล้ว ไทยอยู่อันดับที่ 6 จาก 9 ประเทศ/ภูมิภาค โดยเติบโตดีกว่าเฉพาะสหรัฐฯ (2.0%) ญี่ปุ่น (1.7%) และยูโรโซน (1.2%) ซึ่งล้วนเป็นเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและมีอัตราการเติบโตต่ำอยู่แล้ว
สิ่งที่น่าสนใจคือแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยจากไตรมาส 1 ที่ 3.1% มาเป็นทั้งปีที่คาดการณ์เพียง 1.3-2.3% ซึ่งบ่งชี้ว่าช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจไทยจะยิ่งชะลอตัวลงไปอีก
สาเหตุสำคัญมาจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย นอกจากนี้ ไทยยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงความผันผวนในภาคเกษตร
แม้เศรษฐกิจไทยจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว แต่ภาพรวมยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ไทยแข่งขันได้ในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าการลงทุนภาคเอกชนยังติดลบที่ -0.9% ในไตรมาสแรก
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าไทยกำลังเสียเปรียบในการแข่งขันทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และอาจถูกทิ้งห่างมากขึ้นหากไม่มีการปรับตัวเชิงโครงสร้างอย่างเร่งด่วน
สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น การเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราต่ำเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย การเติบโตในระดับ 1.3-2.3% ถือว่าไม่เพียงพอต่อการยกระดับรายได้ประชาชาติให้ทัดเทียมกับประเทศพัฒนาแล้ว และยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วห่างมากขึ้น
ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องทบทวนนโยบายเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในสถานะ "คนป่วยแห่งอาเซียน" และหลุดจากแผนที่การแข่งขันทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในอนาคต
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 19 พฤษภาคม 2568