เศรษฐกิจโลกปี 68 ชะลอตัว เสี่ยงซ้ำรอยวิกฤตปี 51 หุ้น-อสังหาฯ จ่อดิ่งพร้อมกัน
เศรษฐกิจโลกปี 68 ส่งสัญญาณถดถอย ผู้บริโภครัดเข็มขัด ธุรกิจลดลงทุน ท่าเรือว่างเปล่า เงินเฟ้อยังสูง ซ้ำเติมตลาดหุ้นและอสังหาฯ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Stagflation
เศรษฐกิจโลกกำลังส่งสัญญาณชัดเจนของการชะลอตัวอย่างรุนแรงในช่วงต้นปี 2568 โดยรายงาน GDP ไตรมาสแรกพลิกกลับมาติดลบ ขณะที่ดัชนีข้อมูลเชิงคุณภาพ (Soft Data) จากภาคธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคต่างตอกย้ำว่าการถดถอยอาจเริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างเงียบๆ
Jesse Felder นักวิเคราะห์ตลาดชื่อดังชี้ว่า การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของธุรกิจหลายภาคส่วนกำลังถูก "แช่แข็ง" ด้วยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจถดถอยก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับที่ McDonald’s และ Chipotle ต่างรายงานยอดขายที่อ่อนแรงในช่วงไตรมาสล่าสุด สะท้อนว่าครัวเรือนเริ่มรัดเข็มขัดและตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
สัญญาณการชะลอตัวไม่เพียงสะท้อนจากยอดขายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกิจกรรมการขนส่งสินค้า โดย Chris Muan ผู้เชี่ยวชาญซัพพลายเชนเผยว่าท่าเรือหลักทั่วโลกกำลังประสบภาวะตู้คอนเทนเนอร์หายไปเฉลี่ยราว 54 ตู้ต่อสัปดาห์ สร้างแรงกระเพื่อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่สินค้าบางหมวดในสต็อกเหลือใช้ได้เพียง 7 สัปดาห์ และผู้นำเข้าหลายรายเริ่มลังเลที่จะสั่งซื้อเพิ่ม
ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแรงยังไม่ได้มาพร้อมกับข่าวดีเรื่องเงินเฟ้อ เพราะตัวเลข CPI กลาง (Median CPI) ยังทรงตัวที่ระดับสูงราว 3.5% และมีแนวโน้มพุ่งกลับขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ นำไปสู่ความเสี่ยงของภาวะ "Stagflation" หรือภาวะเงินเฟ้อสูงควบคู่กับเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายสำหรับผู้กำหนดนโยบายการเงิน เพราะการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้เงินเฟ้ออาจทำให้เศรษฐกิจทรุดหนักกว่าเดิม ขณะที่การลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจไปกระพือเงินเฟ้อให้แรงขึ้นอีก
นอกจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่น่ากังวลแล้ว สถานการณ์การค้าโลกก็ยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับตลาด เนื่องจากนโยบายกำแพงภาษีของรัฐบาลหลายประเทศเริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการประกาศพักการเก็บภาษีบางรายการ 90 วันเมื่อเดือนพฤษภาคม 2568 ซึ่งเป็นเพียงการพักหายใจชั่วคราว ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเร่งตัดสินใจทั้งเรื่องการบริหารสต็อก การตั้งราคาสินค้า และการปรับโครงสร้างซัพพลายเชน โดยไม่มีความแน่นอนใด ๆ รองรับ
Chris Muan เปรียบว่าผลกระทบจากภาษีรอบนี้เหมือน "มินิโควิด" ที่อาจทำให้ชั้นวางของในร้านค้าหลายแห่งว่างเปล่า การเร่งนำเข้าสินค้าก่อนกำแพงภาษีมีผลทำให้เกิดภาวะสินค้าล้นในบางหมวด แต่ในขณะเดียวกันสินค้าหลายรายการกลับขาดแคลนอย่างรุนแรง สร้างแรงกดดันให้ราคาสินค้าโดยรวมสูงขึ้น แม้ในช่วงที่ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นก็ตาม
ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มแสดงสัญญาณเปลี่ยนผ่านจากภาวะกระทิง (Bull Market) ไปสู่ภาวะหมี (Bear Market) โดยกราฟรายสัปดาห์ของดัชนีใหญ่ ๆ เช่น S&P 500 มีลักษณะคล้ายช่วงก่อนฟองสบู่แตกในปี 2551 ซึ่ง Chris Muan ระบุว่ากำลังเกิด "Dead Cat Bounce" หรือการรีบาวด์ระยะสั้นท่ามกลางแนวโน้มขาลง
ยิ่งไปกว่านั้น การขายหุ้นโดย "Insider" หรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยอัตราส่วนขายต่อซื้อในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 20:1 ซึ่งเป็นระดับที่มักเกิดก่อนตลาดเข้าสู่ภาวะหมีหรือกำไรบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า Felder เตือนว่านี่อาจเป็นสัญญาณนำที่นักลงทุนทั่วไปควรจับตาอย่างใกล้ชิด
ในอีกด้านหนึ่ง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายย่อยยังดู "บวกเกินเหตุ" ด้วยเม็ดเงินไหลเข้าสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงอย่าง ETF แบบ Leverage สร้างภาพการสวนทางระหว่างความหวังของนักลงทุนรายย่อยและการถอยของนักลงทุนมืออาชีพ
ตลาดอสังหาริมทรัพย์เองก็ไม่ได้หลุดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ โดยหลังจากราคาพุ่งขึ้นต่อเนื่องหลายปีจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ ปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณของ "จุดเปลี่ยน" ที่อาจทำให้ราคาทรุดลงรุนแรงได้ Chris Muan เตือนว่า "อสังหาฯ กำลังจะร่วง" และเมื่อสินทรัพย์ใหญ่สองประเภททั้งหุ้นและบ้านกำลังอยู่ในทิศทางขาลงพร้อมกัน ผลกระทบต่อความมั่งคั่งของครัวเรือนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะยิ่งทวีความรุนแรง
ท่ามกลางวิกฤตทางเศรษฐกิจ ทองคำกลับได้รับความสนใจในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยราคาทองคำอยู่ในวัฏจักรขาขึ้นระยะยาวตั้งแต่ปี 2019 ล่าสุดราคาทะลุระดับ Fibonacci สำคัญที่ 2,750-2,800 ดอลล่าร์ต่อออนซ์ ซึ่งอาจเป็นจุดสิ้นสุดของรอบเร่งขึ้นในระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม Muan คาดว่าทองคำอาจเผชิญการพักฐานราว 22-24% ลงมาที่ประมาณ 2,400 ดอลล่าร์ต่อออนซ์ในอีก 6-8 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะเป็นโอกาสในการเข้าสะสมรอบใหม่ ก่อนที่ราคาจะกลับเข้าสู่ขาขึ้นอีกครั้ง โดย Muan เชื่อว่าทองจะหาจุดต่ำสุดก่อนตลาดหุ้นแล้วเป็นผู้นำเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นรอบถัดไป
ขณะที่นักลงทุนทั่วโลกยังรอการประกาศภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการจาก NBER ซึ่งปกติมีดีเลย์ราว 6-9 เดือน Jesse Felder เตือนว่าเราน่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยไปแล้วตั้งแต่ต้นปี หากไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ GDP ยังติดลบ ก็จะเข้าเงื่อนไขการถดถอยทางเทคนิคทันที แม้การรับรองอย่างเป็นทางการอาจตามมาทีหลังก็ตาม
เศรษฐกิจโลกในปี 2568 จึงเต็มไปด้วยความเปราะบางและความไม่แน่นอนสูงสุดในรอบหลายปี ท่ามกลางความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ภาวะถดถอยครั้งใหญ่ พร้อมกับภาวะเงินเฟ้อที่ไม่ยอมลดลง สถานการณ์เช่นนี้ต้องการทั้งความระมัดระวังจากนักลงทุน และความเด็ดขาดจากผู้กำหนดนโยบายทางการเงินอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในทศวรรษนี้
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 21 พฤษภาคม 2568