สัญญาณอันตราย ธุรกิจ SME ไทย ซมพิษ "ภาษีทรัมป์" หนักหน่วง
สศช. เปิดข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายการค้าสหรัฐฯ และจีน ต่อธุรกิจ SME ไทย มีความยากลำบากในการประกอบกิจการต่อไป พบข้อมูลปิดกิจการโรงงานต่อเนื่อง บี้หามาตรการดูแล
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายการค้าสหรัฐฯ และจีน ต่อธุรกิจ SME ไทย โดยระบุว่า สถานการณ์ความตึงเครียดเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา และมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าต่าง ๆ มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการค้าโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งผลกระทบผ่านการส่งออกและผลกระทบจากการแข่งขันทางด้านราคาของสินค้านำเข้าจากประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะจีนซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะอุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัว จึงจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ด้านการค้าโดยเร่งระบายการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าอื่น ๆ รวมทั้งประเทศไทย เพื่อชดเชยการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่ลดลง คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ในปี 2567 โรงงานในไทยที่เลิกกิจการมีจำนวนทั้งสิ้น 536 แห่ง และในจำนวนดังกล่าว มี 142 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 25% เป็นโรงงานที่ผลิตสินค้าใกล้เคียงกับสินค้าที่นำเข้าจากจีน ในสัดส่วนที่สูง อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะประดิษฐ์ (ยกเว้น เครื่องจักรและอุปกรณ์)
จากข้อมูลการปิดกิจการโรงงานในไทยไตรมาสแรกของปี 2568 พบว่ามีจำนวนโรงงานรวม 124 แห่งที่ปิดกิจการ โดย 36 แห่งที่เป็นโรงงานที่ผลิตสินค้าใกล้เคียงกับสินค้านำเข้าจากจีน และในจำนวนดังกล่าวกว่า 75% เป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อย (Small and micro business)
แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนแรงกดดันต่อผู้ประกอบการ SME ของไทยที่จะต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดด้านต้นทุนการเข้าถึงสภาพคล่องทางการเงินและเทคโนโลยี รวมทั้งความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการ SME ไทยในปัจจุบัน
สำหรับปัจจุบัน ผู้ประกอบการ SME ของไทยต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ จากทั้งปัญหาในเชิงโครงสร้าง อาทิ ความไม่สมดุลของข้อมูลระหว่างผู้ให้กู้และผู้กู้ หลักประกันไม่เพียงพอ และบทบาทของตลาดทุนในการระดมทุนของ SME ยังจำกัด
นอกจากนี้ คุณภาพสินเชื่อ SME ในระบบธนาคารพาณิชย์ที่ปรับลดลง สะท้อนจากสัดส่วน สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan: SML) ต่อสินเชื่อรวมของธุรกิจ SME ที่มี แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อกับธุรกิจ SME มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้โครงสร้างการจัดหาเงินทุนของธุรกิจ SME ไทยเปลี่ยนแปลงไปจาก ปี 2565 ที่แหล่งทุนส่วนใหญ่ของธุรกิจ SME ยังคงมาจากธนาคารพาณิชย์
แต่ในปี 2567 ธุรกิจ SME ต้องจัดหาเงินทุนจากแหล่งทุนส่วนตัว (เพื่อน/ญาติพี่น้อง) มากขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของธุรกิจ SME ที่ยังมีข้อจำกัดทั้งในด้านการจัดหาเงินทุน และความสามารถในการแข่งขันที่จำกัด โดยเฉพาะจากการแข่งขันด้านราคาที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
ดังนั้น ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SME ที่ประสบปัญหา ด้านการเข้าถึงสภาพคล่อง โดยมุ่งเน้นการสร้างรายได้และยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีด ความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ SME
ควบคู่ไปกับการลดช่องว่างในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ของธุรกิจ SME อาทิ การเร่งรัดการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency: NaCGA) เพื่อยกระดับกลไกการค้ำประกันให้มีประสิทธิภาพ
รวมทั้งเร่งรัดโครงการ Your Data ที่จะเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญของ NaCGA รวมทั้งการส่งเสริมบทบาทของผู้ให้บริการสินเชื่อทางเลือก เช่น Non-Bank และ Fintech ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถให้บริการได้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ SME เข้าถึงสินเชื่อและสภาพคล่องได้ดียิ่งขึ้นด้วย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 23 พฤษภาคม 2568