สรรพากรแก้กฎหมาย ยกเว้นภาษีเงินได้จากต่างประเทศนำกลับเข้าไทย
สรรพากรเตรียมแก้กฎหมาย ยกเว้นภาษีผู้มีเงินได้จากต่างประเทศนำกลับเข้าไทย คาดเริ่มบังคับใช้รอบยื่นแบบ ม.ค.-มี.ค.69 ดึงรายได้ภาษีแสนล้านกลับเข้าประเทศ
นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศ โดยคนไทยที่มีรายได้ในต่างประเทศหากนำเงินเข้ามาในประเทศภายในปีที่เกิดรายได้ หรือปีถัดไป จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่หากนำเข้ามาหลังจากนั้นจะมีการจัดเก็บภาษีตามปกติ
”ตอนนี้กรมอยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมาย เพื่อแก้ไขเกณฑ์ดังกล่าว และจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในรอบการยื่นภาษี เดือนม.ค.-มี.ค. 2569 หรือนับรายได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป“
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว เพื่อต้องการให้เม็ดเงินลงทุนของคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ เช่น ในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ตลาดที่ซื้อขายที่ดิน รวมประมาณ 2 ล้านล้านบาท ไหลกลับเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เนื่องจากรายได้ที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินดังกล่าว เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล หากนำเข้ามาในประเทศแล้วต้องเสียภาษีจะอยู่ที่ประมาณแสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน ที่มาของการแก้กฎหมายมาจากการที่เริ่มแรกการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยกฎหมายกำหนดให้ เก็บภายใต้ 2 หลัก คือ
(1)ที่มาของเงินได้ เช่น เงินเดือนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ต้องเสียภาษีทั้งหมด
(2)ถิ่นที่อยู่อาศัย โดยกำหนดให้ผู้ที่อาศัยในประเทศไทยเกิน 180 วัน ถือว่ามีหน้าที่เสียภาษี
ยกตัวอย่าง เช่น นักกีฬาไทยที่ไปแข่งและได้รางวัลที่ต่างประเทศ หากอยู่ไทยไม่ถึง 180 วันก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเกิน 180 วัน ต้องเข้าอีกเงื่อนไข คือ เงินได้ต้องเกิดขึ้นและนำเข้าในปีเดียวกัน ต้องยื่นภาษีในช่วง 3 เดือนแรกของปีถัดไป (ช่วง ม.ค.-มี.ค.)
ซึ่งต่อมากรมสรรพากรมองว่าควรปรับปรุงกฎหมายฉบับดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยกำหนดให้ไม่ว่าจะนำรายได้จากต่างประเทศกลับเข้ามาในปีใดก็ต้องเสียภาษี
อย่างไรก็ตาม จากกฎหมายแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศที่ได้บังคับใช้แล้ว ทำให้กรมสรรพากรเห็นข้อมูลของผู้มีเงินได้ในต่างประเทศ ดังนั้น จึงมองว่าควรแก้กฎหมายโดยปรับเกณฑ์ให้ผู้มีเงินได้จากต่างประเทศนำเงินกลับเข้ามาเพื่อลงทุนในประเทศไทย
โดยมีเงื่อนไข คือ จะยกเว้นภาษีหากนำเงินได้กลับเข้ามาในประเทศภายใน 2 ปี คือปีที่เงินได้เกิดขึ้นหรือปีถัดไป เช่น หากมีเงินได้ปี 2568 แล้วนำเงินได้มาในปี 2568 หรือ ปี 2569 จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ถ้านำเข้ามาในปี 2570 จะต้องเสีย
“เหตุผลที่เว้นระยะให้ 2 ปี คือ เผื่อเวลาให้กรณีที่บางบริษัทจ่ายเงินปันผลให้ในช่วงปลายปีแล้วจะนำเงินกลับเข้ามาไม่ทัน และยืนยันว่า วัตถุประสงค์ของการดำเนินการดังกล่าว คือเป็นการจูงใจ เราอยากให้เขาเอาเงินมาลงทุนในเมืองไทย ถ้าเขาเอามาซื้อหุ้น หุ้นก็อาจจะขึ้น”
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 26 พฤษภาคม 2568