สงกรานต์เงินสะพัด 1.8 หมื่นล้าน "ไทยเที่ยวไทย" กลับสู่ปกติ
ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สทท.) ระบุชัดเจนว่า ในช่วงไตรมาส 2/2566 นี้เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงวันหยุดยาว (ระหว่างวันที่ 13-16 เม.ย. 2566) จำนวน 4 วัน คาดว่าจะมีการเดินทางของนักท่องเที่ยวสูงสุดเมื่อเทียบกับวันหยุดอื่น
คาด 4 วันเงินสะพัด 1.8 หมื่นล้าน
โดยข้อมูลจากกองกลยุทธ์การตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 ภาพรวมบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวทั้งจากตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศมีความคึกคักมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยคาดว่าจะสร้างรายได้คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 18,530 ล้านบาท

แบ่งเป็นตลาดในประเทศ (วันที่ 13-16 เมษายน 2566) ประมาณ 13,500 ล้านบาท จากจำนวนชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 3,808,500 คน-ครั้ง และใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียน 13,500 ล้านบาท ซึ่งทั้งจำนวนและรายได้ทางการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ปี 2566 ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19
และตลาดต่างประเทศ (วันที่ 12-16 เมษายน 2566) ประมาณ 5,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 630 และฟื้นตัวกลับมาร้อยละ 60 ของช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปี 2562
บูมอีเวนต์ทั่วประเทศ :
ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนการเดินทางในประเทศช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ประกอบด้วย
(1).การจัดงานเทศกาลสงกรานต์จาก ททท. กิจกรรมสงกรานต์ 5 ภูมิภาค, กิจกรรม International Amazing Splash 2023 โดยการนำกิจกรรม highlight ที่จำลองเทศกาลประเพณีวัฒนธรรมจาก 4 ประเทศ
ได้แก่ เทศกาลอาบโคลน (Boryeong Mud Festival) จากเกาหลีใต้ เทศกาลโฮลี (Holi Festival) จากอินเดีย เทศกาลสงกรานต์สิบสองปันนา จากสาธารณรัฐประชาชนจีน และเทศกาลเซตซึบุน (Setsubun Festival) จากญี่ปุ่น
(2).โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง 3.การจัดแคมเปญ “โครงการ 365 วันมหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน” ภายใต้แนวคิดเที่ยวได้ทุกวันมหัศจรรย์ทั้งปี
ประกอบไปด้วยแคมเปญ Wonder Deal เปลี่ยนวันสิ้นเดือนให้เป็นการเริ่มต้นวางแผนออกเดินทางครั้งใหม่ในเดือนถัดไป และแคมเปญ CODE ลับ 365 พาเพื่อนเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบฉบับชาวแก๊ง ส่งต่อประสบการณ์ท่องเที่ยวในมุมมองต่าง ๆ
“ปัญหาศก.-ฝุ่นพิษ” ปัจจัยลบ :
ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคเช่นกัน ได้แก่ 1.ปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ และราคาพลังงานที่สูงขึ้น ที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับกำลังซื้อที่มี ทั้งในรูปแบบลดจำนวนวันเดินทาง เลือกเที่ยวระยะใกล้ และใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น โดยเน้นการใช้จ่ายในหมวดอาหาร ที่พักมากกว่าการช็อปปิ้ง
(2).ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ปกคลุมหลายภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวตอนบนของภาคเหนือ
รายได้ต่างชาติฟื้น 60% :
สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น คาดการณ์ว่าการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศระหว่างวันที่ 12-16 เมษายน 2566 (รวม 5 วัน) จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย 305,000 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 525 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58 ของจำนวนนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2562
และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 5,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 630 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของรายได้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2562
โดยการเดินทางส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางของตลาดระยะใกล้จากภูมิภาคเอเชีย และภูมิภาคอาเซียน ตลาดที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ อินเดีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ซึ่งมีการจองการเดินทางเข้าไทยล่วงหน้าเพิ่มขึ้นสูงในสัปดาห์ก่อนหน้าของเทศกาลสงกรานต์
รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียและลาว มีการเดินทางข้ามแดนเข้ามาท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์คึกคัก ในพื้นที่จังหวัดชายแดน อาทิ งาน Hatyai Midnight Songkran อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และงาน Udon Songkran Festival จ.อุดรธานี
เพิ่ม “ไฟลต์ใหม่-เหมาลำ” รองรับ :
รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า ปัจจัยที่สนับสนุนการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 ประกอบด้วย
(1).เที่ยวบินใหม่ช่วงสงกรานต์ โดยมีเที่ยวบินที่เริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2566 มีเที่ยวบินใหม่รวม 20 เที่ยวบิน หรือ 2,074 ที่นั่ง ส่วนใหญ่มาจากจีน ไต้หวัน เวียดนาม และกัมพูชา รวมทั้งเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากรัสเซียที่บินตรงเข้าภูเก็ตและอู่ตะเภา
(2).การจัดกิจกรรมนานาชาติในช่วงสงกรานต์ โดยนอกจากรูปแบบการจัดเทศกาลสงกรานต์ในประเทศไทยกระจายทั่วทุกภูมิภาค ชูจุดเด่นด้านวัฒนธรรมและความสนุกสนานของคนไทยแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมสงกรานต์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ ผนวกด้วยเทศกาลดนตรีแนว EDM (electronic dance music) และกิจกรรมนานาชาติช่วงสงกรานต์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้าไทย
อัดอีเวนต์อินเตอร์ดึงต่างชาติ :
อาทิ S2O Songkran Music Festival เทศกาลดนตรีระดับเวิลด์สัญชาติไทย แลนด์มาร์กงานสงกรานต์ในกรุงเทพฯ มีศิลปินดีเจ. EDM ที่ขึ้นแสดงดนตรีตลอดช่วงเย็นจนถึงเที่ยงคืน Waterbomb Bangkok การจัดงานนอกประเทศเกาหลีใต้เป็นครั้งแรก วันที่ 13-14 เมษายน 2566 ณ สนามฟุตบอล ธันเดอร์โดม สเตเดียม เมืองทองธานี
UDON SONGKRAN FESTIVAL 2023 เทศกาลดนตรี EDM party ที่จะจัด 4 คืนต่อเนื่อง (13-16 เม.ย. 66 เวลา 17.00-24.00 น.) ดึงดูดชาวลาวที่มีกำลังซื้อสูงเข้ามาท่องเที่ยว Andamanda Songkran Festival วันที่ 14 เมษายน 2566 กิจกรรมคอนเสิร์ต EDM สวนน้ำอันดามันดา อ.กระทู้ จ.ภูเก็ต
Rolling Loud Thailand 2023 เทศกาลดนตรีฮิปฮอปสุดยิ่งใหญ่ระดับโลกครั้งแรกในเมืองไทยและแห่งแรกของเอเชีย วันที่ 13-15 เมษายน 2566 ที่ Legend Siam เมืองพัทยา จ.ชลบุรี Hatyai Midnight Songkran เวทีการแสดง ซึ่งกิจกรรมหลักมีทั้งขบวนแห่รับเทียมดา ขบวนคาร์นิวัล มิดไนต์สงกรานต์ เป็นต้น
สำนักงาน ททท.ต่างประเทศหนุน :
และ 3. ททท. สำนักงานต่างประเทศ จัดกิจกรรมด้านการตลาดกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 อาทิ สำนักงานโฮจิมินห์ จัดกิจกรรม Laos Cross Border Promotion ไปยังพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและหนองคาย
สำนักงานคุนหมิง ร่วมกับบริษัทนำเที่ยวพันธมิตรเสนอขายแพ็กเกจท่องเที่ยวแบบคาราวานมายังประเทศไทย ผ่านเข้ามาทางด่านชายแดนเชียงของ จ.เชียงราย ด่านท่าลี่ จ.เลย ด่านสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว จ.หนองคาย และด่านบ่อเกลือ จ.น่าน
ยอดจองตั๋วบินล่วงหน้า 46% :
สำหรับภาพรวมการจองบัตรโดยสารล่วงหน้าของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในช่วงสงกรานต์ ปี 2566 นั้น พบว่าฟื้นตัวกลับมาราวร้อยละ 46 หรือฟื้นตัวกลับมาเกือบครึ่งหนึ่งของปี 2562 (ช่วงวันที่ 12-16 เมษายน 2562) โดย 5 อันดับของตลาดที่มีจำนวนยอดจองบัตรโดยสารล่วงหน้าเข้าไทยมากที่สุดคือ สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และจีน
และตลาดที่มีแนวโน้มยอดจองเติบโตดีคือ อินเดีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และรัสเซีย จากแนวโน้มการเดินทางที่เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับเทศกาลอีสเตอร์ (Easter 9 เมษายน 2566) นักท่องเที่ยวบางส่วนจึงเลือกที่จะเดินทางเข้าไทยเร็วขึ้น
ทำให้ยอดการจองจากภูมิภาคยุโรปในช่วงเทศกาลสงกรานต์ไม่สูงมากนัก
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 9 เมษายน 2566