เช็กให้ชัวร์ คุ้มไหมถ้าคิดจะติด "แผงโซลาร์ เซลล์" หนีค่าไฟแพง
บ่นระงมกันทั่วทั้งประเทศ เมื่อค่าไฟเดือนเมษายน พุ่งสูงกันไปทั่วหลายต่อหลายบ้าน บางคนก็ได้ออกมาโพสต์เล่าว่า ค่าไฟพุ่ง 2 เท่า บ้างก็บอกว่า แพงขึ้นจนเจ้าหน้าที่ไม่ออกบิล
แต่มีหนุ่มรายหนึ่ง ได้ออกมาโพสต์ให้คำแนะนำ เปิดแนวทางใหม่ ค่าไฟลดลงจาก 4-5 พันบาท เหลือเพียง 71 บาท แม้จะเปิดแอร์ 3-4 ตัว เพียงเพราะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์
ทำให้หลายคน มองหาหนทางใหม่ในการประหยัดค่าไฟ แต่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด มีขั้นตอนอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

โซล่าเซลล์ ลดค่าไฟได้จริงไหม?
การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) นั้น สามารถช่วยลดค่าไฟได้จริง แต่จะคุ้มทุน-คืนทุน เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับขนาดของระบบโซลาร์ (Solar) และพฤติกรรมการใช้ไฟของเจ้าของบ้านแต่ละหลัง
หากเราลงทุนกับการติดตั้งโซล่าเซลล์ ในมูลค่าที่เท่ากัน บ้านที่มีการติดตั้งระบบโซลาร์ขนาดใหญ่ และใช้ไฟฟ้ามาก ย่อมคืนทุนเร็วกว่าบ้านที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเป็นบ้านที่ใช้ไฟกลางวันเป็นหลัก ผลิตไฟฟ้าได้แล้วใช้เลย จึงจะคุ้มค่ามากที่สุด เพราะในปัจจุบันระบบ Energy Storage สำหรับใช้ในบ้านยังมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้จุดคุ้มทุนยิ่งนานขึ้นตามกันไป
เช็กให้ชัวร์ ก่อนติดโซลาร์เซลล์ :
เราอาจตรวจสอบบ้านในเบื้องต้น ว่าบ้านของเรานั้น สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ ได้หรือไม่ ดังนี้
– ตรวจสอบกำลังไฟบ้าน เพื่อให้รู้ว่าในแต่ละเดือนใช้อยู่เท่าไหร่ และ ควรเลือกติดขนาดเท่าไหร่จึงจะเหมาะ โดยคำนึงถึงเวลาที่อยู่ในช่วงกลางวันของบ้านด้วย
– ความแข็งแรงของหลังค้าบ้าน มาตรฐานของแผ่นโซลาร์เซลล์ จะมีขนาดอยู่ที่ 1×2 เมตร โดย 1 แผ่น หนัก 22 กิโลกรัม ควรตรวจสอบหลังคาบ้าน และ วัสดุที่ใช้ปูหลังคา หากเกิดรอยแตก ร้าว รั่ว ตรวจแล้วไม่แข็งแรง ควรรีโนเวทใหม่ เพราะต้องติดตั้งแผงเป็นเวลาหลายสิบปี อาจเกิดผลกระทบต่อน้ำหนัก

โซลาร์เซลล์ มีประเภทใดบ้าง :
“หลังคาบ้านโซลาร์เซลล์ (Solar Cell)” ระบบ On grid คือ การผลิตไฟฟ้าช่วงกลางวันได้แล้วใช้เลย เป็นที่นิยมในไทย ซึ่งบ้านที่จะติดตั้ง ควรมีค่าไฟขั้นต่ำ 3,000 บาท
แผงโซลาร์เซลล์ที่นิยมใช้ในประเทศไทย จะแบ่งออกเป็น 3 แบบ ซึ่งคุณสมบัติจะแตกต่างกันออกไปเพื่อรองรับการใช้งานที่ต่างกัน
แผงโมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline Silicon Solar Cells)
วิธีการสังเกตแผงโซลาร์เซลล์ประเภทนี้ รูปทรงของเซลล์จะมีสีเข้ม มุมทั้งสี่มุมจะเป็นสี่เหลี่ยมมุมตัด ทำมาจากซิลิคอนทรงกระบอกบริสุทธิ์
ข้อดี มีคุณภาพสูง สามารถผลิตไฟได้ดีแม้ว่าแสงแดดจะน้อย และอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 25-40 ปี
ข้อเสีย ในกรณีที่มีคราบสกปรกบนแผงเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้ระบบอินเวอร์เตอร์ไหม้ได้ และแผงโซล่าเซลล์ชนิดนี้มีราคาสูง
แผงโพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Silicon Solar Cells) :
วิธีการสังเกตแผงโซลาร์เซลล์ประเภทนี้ รูปทรงของเซลล์เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ไม่มีการตัดมุม สีแผงเข้มออกไปทางสีน้ำเงิน ทำมาจากผลึกซิลิคอน

ข้อดี ราคาไม่แพง และแผงโพลีคริสตัลไลน์สามารถใช้งานในพื้นที่ที่อุณหภูมิสูงกว่าแผงคริสตัลไลน์เล็กน้อย
ข้อเสีย ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 13-16% และมีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างสั้นเพียง 20-25 ปี
แผงโซล่าเซลล์ชนิด ฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cells) :
วิธีการสังเกตุแผงโซลาร์เซลล์ประเภทนี้ สีแผงจะเข้ม มีสีดำ ฟิล์มจะมีลักษณะบางกว่าชนิดอื่น
ข้อดี ราคาถูกที่สุด มีน้ำหนักเบา สามารถโค้งงอได้ดี ทนต่ออากาศร้อนได้ดี
ข้อเสีย ผลิตไฟฟ้าได้น้อยที่สุด อายุการใช้งานสั้น และไม่เหมาะนำมาติดตั้งในภาคอุสาหกรรมและบ้านเรือน
ปัจจัยสำคัญในการเลือกผู้ให้บริการติดตั้งโซล่าเซลล์ควรศึกษาการให้บริการหลังการขายและการรับประกันให้ถี่ถ้วน เพื่อเป็นการป้องกันหากแผงโซล่าเซลล์เกิดปัญหา โดยปกติแล้วการรับประกันจะแบ่งออกเป็น2 ส่วนดังนี้
รับประกันสินค้า 10 ปี
รับประกันประสิทธิภาพของแผง 25 ปี

ต้องขอติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ก่อนติด :
หลังจากรู้แผงโซลาร์เซลล์แบบต่างๆ และ เลือกผู้เชี่ยวชาญได้แล้ว ก็จะนำมาสู่ขั้นตอน การทำเรื่องขอติดตั้งโซลาร์เซลล์ โดยจะต้องใช้เวลา 1-2 เดือน โดยมีรายละเอียดแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์
ผู้ขออนุญาติต้องเตรียมเอกสาร ไปยื่นที่การไฟฟ้านครหลวง และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมีเอกสารคือ
-รูปถ่ายแสดงการติดตั้งของอุปกรณ์
-สำเนาหลักฐานการยื่นแจ้งราชการส่วนท้องถิ่น ในขั้นตอนนี้คุณ-สามารถทำเรื่องขอไปที่ สำนักงานเขต เพื่อทำการแจ้งขอติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนที่พักอาศัย
-ในกรณีต่อเดิม เปลี่ยนแปลงอาคารไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ต้องแจ้งให้ทางวิศวกรโยธาเข้ามาตรวจสอบและเซ็นรับรอง เพื่อนำเอกสารชุดนี้ไปยื่นขอใบอนุญาต อ.1 ที่สำนักงานเขต
-แจ้งทางโยธาพร้อมวิศวกรโยธาที่มีใบ กว. เข้าไปตรวจความพร้อมในการติดตั้ง เพื่อทำการรับรองว่าสถานที่อยู่อาศัยมีความพร้อม
-เอกสาร Single line Diagram ที่ถูกลงนานด้วยวิศวกรไฟฟ้าที่มีใบ กว. รับรอง
-รายละเอียดของแผงโซล่าเซลล์
-รายการตรวจสอบมาตรการด้านการออกแบบ
โดยผู้ให้บริการหลายบริษัท ก็รับเป็นตัวแทนขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
คิดติดตั้ง เริ่มที่ไหนดี :
ผู้ให้บริการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในไทยนั้น มีผู้ให้บริการหลายบริษัท และมีแพกเกจติดตั้งที่หลากหลาย อาทิ
1). Solar PPM โรงงานผลิตและประกอบแผงโซลาร์เซลล์ของไทย ให้บริการทั้งที่พัก อาคารสำนักงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรม ราคาเริ่มต้น 150,000 บาท
2).SCG Solar Roof Solutions ให้บริการตรวจเช็กโครงสร้างหลังคา ออกแบบระบบ และดำเนินเรื่องขออนุญาตรัฐ และทำความสะอาดหลังการขาย มีราคาตั้งแต่ 119,000 บาท ไปจนถึง 719,000 บาท
3).Shera Solar System บริการติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์จาก เชอร่า ในเครือห้าห่วง อำนวยความสะดวกทุกขั้นตอน รวมถึงพูดคุยกับหน่วยงานรัฐ ราคาตั้งแต่ 115,000 – 399,000 บาท
4).SPR Solar Roof เครือ SPCG ผู้นำการติดตั้งโซลาร์เซลล์ บนหลังคารายแรกของไทย ติดตั้งครบวงจร พร้อมซ่อมบำรุง ราคาเริ่มต้น 220,000 บาท
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 18 เมษายน 2566