ยอดขายอิเล็กทรอนิกส์ทรุด ฉุดอุตฯ "ชิป" ชะลอตัวนาน
ตอนที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อหน้าร้อนปีที่แล้ว ยอดขาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็ "บูม" ตามไปด้วย จนเกิดภาวะขาดแคลนชิปประมวลผลและชิ้นส่วนประกอบขึ้น ผลก็คือบรรดาบริษัทผู้ผลิตเร่งผลิตชิปเหล่านั้นออกมาเป็นจำนวนมาก ปริมาณชิปที่เก็บตุนไว้ในคลังสินค้าเพิ่มขึ้นมานับตั้งแต่บัดนั้น
ในทันทีที่บริบทแวดล้อมของตลาดเปลี่ยนไป อัตราเงินเฟ้อพุ่ง อัตราดอกเบี้ยทะยานสูง ตลาดพลิกกลับแบบตาลปัตร ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดวูบ ภาวะชะลอตัวที่รวดเร็วและรุนแรงในรอบกว่า 10 ปีของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ก็เกิดขึ้นตามมา
บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกต้องดิ้นรนปรับตัวรับมือกับภาวะท้าทายนี้อย่างหนัก โดยคาดว่าทุกอย่างจะดีขึ้น สมดุลมากขึ้น แต่จนถึงขณะนี้ผู้ผลิตสำคัญ ๆ ทั้งหลายออกมายอมรับแล้วว่า ภาวะชะลอตัวของทั้งอุตสาหกรรมยังคงอยู่ และอาจต้องรออีกระยะกว่าการฟื้นตัวที่คาดหวังจะเกิดขึ้น
“ซีซี เว่ย” ซีอีโอของทีเอสเอ็มซี ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลก ยอมรับว่า การปรับตัวรับมือความท้าทายที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมชิปนั้น คงใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้ ภาวะชะลอตัวของอุตสาหกรรมน่าจะคงอยู่ตลอดครึ่งแรกของปี 2023 หรืออาจจะลามไปจนถึงไตรมาส 3 ก็เป็นได้ ก่อนที่จะปรับเข้าสู่สมดุล
ในเวลานี้ ทีเอสเอ็มซี คาดการณ์ว่าในปี 2023 รายได้สุทธิของบริษัทจะโตต่ำมาก ลดลงมาเหลือเพียงแค่เลขตัวเดียวระดับต่ำถึงกลาง ๆ เทียบกับปีที่แล้วที่เติบโตถึง 43% แสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวที่แรงและเร็วในช่วงที่ผ่านมา
สภาพรายได้ของทีเอสเอ็มซี สะท้อนชัดเจนถึงผลกระทบจากสถานการณ์ตามที่สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แถลงเมื่อต้น เม.ย.นี้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่ายอดขายทั้งอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 2023 ลดลงถึง 20.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า และเป็นยอดขายที่ลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน
ปีเตอร์ เวนนิงก์ ซีอีโอของเอเอสเอ็มแอล ผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับผลิตชิปสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ระบุว่าในเวลานี้คือสถานการณ์ “ขาลง” ของทั้งอุตสาหกรรมที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว เนื่องจากชิปที่ผลิตและเก็บตุนไว้ในคลังสินค้าล้นมากเกินกว่าความต้องการของตลาด
สถานการณ์คล้ายคลึงกันนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤต 2008-2009 แต่ เบน บาจาริน นักวิเคราะห์ของครีเอทีฟ สแตรเทจีส์ บริษัทที่ปรึกษาจากซิลิคอน วัลเลย์ ชี้ว่า ทุกวันนี้เซมิคอนดักเตอร์กลายเป็นส่วนสำคัญในหลายอุตสาหกรรมมากกว่าในช่วงก่อนหน้านั้นมาก
หมายความว่าภาวะผันผวนที่เป็นขาลงของอุตสาหกรรมในเวลานี้ เทียบแล้วใหญ่โตกว่าครั้งก่อนหน้ามากเช่นเดียวกัน
ข้อมูลของไอดีซี บริษัทวิจัยตลาดอิเล็กทรอนิกส์ ระบุว่า อุตสาหกรรมพีซี ได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษจากการชะลอตัวครั้งนี้ โดยยอดขายพีซีในช่วงไตรมาสแรกปีนี้จะลดลงมากถึง 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2022 จนอาจถือได้ว่าเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดของอุตสาหกรรมพีซีเท่าที่เคยมีมาเลยทีเดียว
ขณะที่บริษัทวิจัยตลาดอย่างคานาลิสระบุว่า ยอดขายสมาร์ทโฟนทรุดตัวลงต่อเนื่องเป็นไตรมาส 4 แล้ว โดยประมาณว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ก็จะลดลงอีก 12% เมื่อเทียบกันปีต่อปี เป็นการลดต่อเนื่องเป็นไตรมาส 5
และบรรดานักวิเคราะห์พากันลงความเห็นตรงกันว่า “แอปเปิล” ที่จะแถลงผลประกอบการในเดือน พ.ค. ก็น่าจะมีรายได้ลดลง 5% เพราะความต้องการไอโฟนอ่อนตัวลง พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า ยอดขายคอมพิวเตอร์ แมค จะลดลงมากถึง 25%
นักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่า บริษัทผู้ผลิตชิปที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแบบเต็ม ๆ จากสถานการณ์นี้ หนีไม่พ้น “อินเทล” ยักษ์ใหญ่ในแวดวงเซมิคอนดักเตอร์ ที่คาดกันว่าจะแถลงผลประกอบการรายไตรมาส ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารายได้ในไตรมาสล่าสุดของบริษัทจะลดลงมากถึง 39% เทียบกันปีต่อปี
ในขณะที่ชิปสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคลล้นตลาด ชิปประมวลผลในรถยนต์กลับตกอยู่ในภาวะขาดแคลนเรื่อยมาจนถึง 2-3 เดือนแรกของปีนี้ จนกลายเป็น “ไบรต์สปอต” จุดเดียวสำหรับบริษัทผู้ผลิตชิป
แต่ซีอีโอแห่งทีเอสเอ็มซี ก็ชี้ให้เห็นว่า แม้แต่ตลาดชิปสำหรับรถยนต์ที่ว่าดี ๆ ก็ส่งสัญญาณให้เห็นภาวะอ่อนตัวลงต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 2 ปีนี้
อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตชิปส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า ความต้องการชิปจะกระเตื้องขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ หลังจากทรุดตัวลงสู่จุดต่ำสุดในไตรมาส 2
โดยคาดหวังว่า การที่บริษัทเทคโนโลยีทั้งที่เป็นยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ไปจนถึงสตาร์ตอัพหันมามุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาระบบ “เอไอ” หลังการกระตุ้นครั้งใหญ่ของ “แชตจีพีที” จะส่งผลให้ความต้องการชิปประมวลผลที่ทรงพลังพุ่งสูงขึ้นได้
และคาดหวังว่า ภาวะขาลงครั้งใหญ่นี้จะคงอยู่อีกเพียงแค่ 1-2 ไตรมาสเท่านั้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 28 เมษายน 2566