ลุ้นพาณิชย์ รื้อ หรือ เลิก กฎหมาย AD-CVD หลังใช้ครบ 5 ปี
พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติมไปในปี พ.ศ. 2562 หรือ (กฎหมายเอดี-ซีวีดี) บังคับใช้มาจนครบ 5 ปี ซึ่งตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 กำหนดว่า กฎหมายใดที่ใช้บังคับแล้วครบ 5 ปี ต้องประเมินผลสัมฤทธิ์ เกี่ยวกับความเหมาะสม
ตลอดจนถึงความจำเป็นของการมีกฎหมาย ประสิทธิภาพของกฎหมาย ความคุ้มค่า รวมถึงมีวิธีการอื่นนอกเหนือจากการมีกฎหมายหรือไม่ โดยประเด็นที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 เมื่อปี 2562
มีเนื้อหาเกี่ยวกับ 1.มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (anti-dumping : AD) 2.มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (countervailing : CVD) 3.มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (anti-circumvention : AC) ซึ่งประเด็นเหล่านี้นับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับภาคเอกชน ทั้งผู้ผลิตสินค้าในประเทศและผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบ รวมถึงประชาชนผู้ใช้สินค้าล้วนแต่จะได้รับผลตามไปด้วย
ดังนั้นเห็นสมควรรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย การทำข้อเสนอแนะของกฎหมายดังกล่าวต่อไป รวมไปถึงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย
ลดซ้ำซ้อน – ช่วยทำธุรกิจง่าย :
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า เป้าหมายของการทบทวนกฎหมาย ไม่เพียงจะต้องการปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมกฎหมาย แต่หลักสำคัญคือ ต้องการให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น ไม่ให้มีกฎหมายการค้าที่ซ้ำซ้อน หรือขัดแย้ง ลดขั้นตอนการดำเนินการและการอนุญาตที่ไม่จำเป็น
เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ ทั้งยังเป็นการยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย สอดคล้องกับหลักสากล พันธกรณีระหว่างประเทศด้วย ลดความเลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ส่งเสริมการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ
“ต้องการทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย ก็เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมภายในของประเทศ สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลง เพราะบางครั้งการใช้มาตรการเอดีกับสินค้าอาจจะทำให้ผู้นำเข้ามีการหลบเลี่ยงเอดี โดยการปรับเปลี่ยนสินค้าให้ต่างชนิด ไม่ให้อยู่พิกัดที่ถูกมาตรการเอดี จึงต้องการให้แก้ไข โดยให้ครอบคลุมสินค้าที่ทดแทนกันได้”
ส่วนใหญ่เห็นด้วยต้องทบทวน :
ล่าสุด กรมการค้าต่างประเทศเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ถึงแนวทางการในการทบทวนกฎหมายฉบับนี้ไปเมื่อวันที่ 1-31 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยผ่าน 2 ช่องทางคือ ระบบเว็บกลางทางกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางกรมได้มีหนังสือสอบถามความคิดเห็นไป
ปรากฏว่ามีผู้ร่วมแสดงความเห็น 30 ราย ผ่านเว็บ 23 ราย และเป็นหนังสือถึงกรม 7 ราย ได้แก่ กรมการค้าภายใน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย
นายรณรงค์ระบุว่า หลังจากปิดรับฟังความเห็นแล้ว ได้รวบรวมสรุปผลเบื้องต้น พบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ต่อไป พร้อมเสนอให้มีการปรับปรุงและทบทวน เช่น การกำหนดนิยามสินค้าชนิดเดียวกันให้ครอบคลุมถึงสินค้าที่ทดแทนกันได้ หรือหลักเกณฑ์และกระบวนการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.ทุ่มตลาด
ควรพิจารณาบนพื้นฐานที่ไม่ก่อให้เกิดภาระจนเกินจำเป็น โดยมีการเสนอไม่ให้นำมาตรา 28 (ว่าด้วยเกณฑ์ขั้นต่ำที่นำไปสู่การยกเว้นการใช้มาตรการ) มาบังคับใช้ โดยอนุโลมในกรณีการทบทวนการบังคับใช้มาตรการตามมาตรา 56 (การทบทวนอัตราอากร) และมาตรา 57 (การทบทวนความจำเป็นที่จะบังคับใช้มาตรการต่อไป) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเห็นว่าควรจะยกเลิกบางมาตราด้วย เพื่อลดการใช้มาตรการเอดีให้น้อยลงด้วย
หนุนเลิกใช้กฎหมาย :
อย่างไรก็ตาม กรมยังพบว่ามีความคิดเห็นบางส่วน ต้องการให้ “ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ไปเลย” เพราะเห็นว่าสินค้าที่นำเข้ามามีคุณภาพ ราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ ส่งผลประโยชน์ให้กับผู้บริโภคและประชาชน อีกทั้งมองว่าไม่ควรปล่อยให้อุตสาหกรรมภายในผูกขาดมากเกินไป ควรส่งเสริมให้มีการค้าเสรี เพื่อผู้บริโภคจะใช้สินค้าที่ถูกลง”

ชงกฤษฎีกาสเต็ปต่อไป :
โดยภายหลังจากสรุปผลประเมินผลสัมฤทธิ์เป็นที่เรียบร้อย อยู่ระหว่างการจัดทำเสนอเป็นรายงานไปให้กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเผยแพร่ทางเว็บไซต์ต่อไป อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ กรมได้จัดตั้งคณะทำงานกฎหมายขึ้นมา เพื่อวิเคราะห์ประเด็นจากการรับฟัง ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายที่เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมอีกชั้นหนึ่งด้วย
นายรณรงค์เน้นย้ำว่า การดำเนินการนั้นไม่ได้หมายความว่าให้แก้กฎหมายตามข้อเสนอแนะ รับฟังความคิดเห็น จำเป็นต้องศึกษาผลดี-ผลเสียก่อน เพื่อประโยชน์ในภาพรวม รวมไปถึงเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อพิจารณาว่าจะปรับปรุง แก้ไขกฎหมาย หรือดำเนินการอย่างไรกับกฎหมายฉบับนี้
จ่อถอด 8 สินค้ามาตรการ ปี 2566 :
การกำกับดูแลการนำเข้า-ส่งออกสินค้าตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 หนึ่งในภารกิจสำคัญ
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมปรับปรุงและยกเลิกกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นของสินค้าที่กำกับดูแล เพื่อลดความซ้ำซ้อน และให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น โดยในปี 2566 มีแผนจะ ยกเลิกสินค้าที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลในกฎหมายนี้ 8 รายการ จากที่ได้ยกเลิกไปแล้ว 10 รายการ ในปี 2564-2565
โดยกลุ่มสินค้า 8 รายการ ประกอบด้วย
1).เศษพลาสติก อยู่ระหว่างรวบรวมความเห็นจากการประชาพิจารณ์
2).ขยะอิเล็กทรอนิกส์ อยู่ระหว่างรอความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล
3).ทราย อยู่ระหว่างเสนอ รมว.พิจารณาลงนาม
4).ไม้และผลิตภัณฑ์ อยู่ระหว่างเสนอ รมว.พิจารณาลงนาม
5).ยางรถยนต์ใช้แล้ว ปรับปรุงเพื่อยกเลิกขอบเขตสินค้าบางรายการ ตาม มอก. อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาร่างประกาศกระทรวง
6).เครื่องยนต์ดีเซลใช้แล้วขนาดเล็ก สมอ.อยู่ระหว่างกำหนดให้เป็นสินค้าที่มี มอก. คาดว่าจะบังคับใช้ ปลายปี 2566
7).เครื่องทำน้ำอุ่นและน้ำร้อน สมอ.จะบังคับใช้มาตรฐาน มอก.ปลายปี 2566 8.ถ่านหิน อยู่ในขั้นตอนการเตรียมการจัดทำประชาพิจารณ์เช่นกัน เพราะ กระทรวงอุตสาหกรรมมีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลแล้ว
ส่วนสินค้า 10 รายการที่ยกเลิกแล้ว ได้แก่ 1.พัดลม หม้อหุงข้าว และหลอดไฟ 2.เครื่องพิมพ์สามมิติ 3.เครื่องจักรที่ใช้ในการละเมิดลิขสิทธิ์เทปเพลง วิดีโอเทป และแผ่นซีดี 4.เทวรูปและชิ้นส่วนของเทวรูป 5.ปลาทะเลสวยงามที่มีชีวิต 6.หอยมุกและผลิตภัณฑ์ 7.รถจักรยานยนต์ใช้แล้ว 8.เหรียญตัวเปล่าโลหะ 9.เครื่องพิมพ์อินทาลโย 10.สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 7 พฤษภาคม 2566