ลุ้นส่งออกอาหารไทยปี 66 กวาด 1.5 ล้านล้านบาท ทำสถิตินิวไฮ
สภาหอการค้าฯ-สภาอุตสาหกรรม-สถาบันอาหาร เผยส่งออกอาหารไตรมาสแรกปี’66 ทำรายได้เข้าประเทศ 3.46 แสนล้านบาท โต 10.0% คาดปีนี้ไทยส่งออกทะลุ 1.50 ล้านล้านบาท โต 2.1% ลุ้นฝ่าวิกฤตปี 66 พร้อมข้อเสนอรัฐบาลชุดใหม่ เพิ่ม-สร้าง-ผลัก
วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจัดงานแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร ครั้งที่ 32 เรื่อง สถานการณ์ธุรกิจเกษตรเศรษฐกิจและอาหารในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ณ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2566 มีอัตราขยายตัวส่งออกเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งมีมูลค่า 346,379 ล้านบาท เทียบกับปี 2565 ที่มูลค่าอยู่ที่ 315,296 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าและอาหารในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นในตลาดประเทศกำลังพัฒนาหลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ประกอบกับ ความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ภัยสงคราม ประกอบกับความแปรปรวนของสภาพอากาศอย่างปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่เกิดขึ้น รวมถึงการที่จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการโควิด-19 ยังส่งผลให้อัตราการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น
สินค้าส่งออกหลักที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำตาทราย ข้าว ไก่ และผลไม้สด โดยการส่งออกน้ำตาลทรายมีมูลค่า 40,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 อยู่ 37.3% เนื่องจากหลายประเทศกังวลปัญหาขาดแคลนอาหารประกอบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายใหญ่อย่างอินเดียจำกัดการส่งออกน้ำตาล
สำหรับการส่งออกข้าวมีมูลค่า 38,066 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 29.2% เนื่องจากผลผลิตข้าวที่มีจำกัดในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสำคัญ รวมถึงความกังวลขาดแคลนอาหาร ทำให้ประเทศผู้บริโภคเสริมสต็อกข้าวเพิ่มขึ้น
ขณะที่การส่งออกไก่มีมูลค่า 36,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 โดยเป็นไก่สดแช่แข็งที่ส่งออกไปจีนเป็นหลัก ส่วนไก่แปรรูปขยายตัวดีในสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ด้านการส่งออกผลไม้สด มีมูลค่า 27,477 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.4 จากการส่งออกไปตลาดจีนเป็นหลัก หลังจีนยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ ทำให้ระยะเวลาขนส่งสินค้าสั้นลงและปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น
ส่วนสินค้าส่งออกที่ขยายตัวลดลงเนื่องจากปัญหาเรื่องวัตถุดิบมีปริมาณลดลง ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง สับปะรด และปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในกลุ่มประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องปรุงรส เป็นต้น
นอกจากนี้ ปัญหาค่าเงินเยนอ่อนตัวต่อเนื่องที่ส่งผลต่อการนำเข้าของญี่ปุ่น และกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยหลายรายการ ทำให้สินค้าอาหารส่งออกของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นหลายรายการหดตัวลงค่อนข้างมาก อาทิ ไก่ (-6%), กุ้ง (-20%), สับปะรด (-40%), เครื่องปรุงรส (-40%) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าอาหารไทยในตลาดรองหรือตลาดใหม่ เช่น เอเชียใต้ กลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย (GCC) ละตินอเมริกา และกลุ่มประเทศประชาคมรัฐเอกราช (CIS) ขยายตัวในระดับสูง ที่รอการรุกตลาดและเพิ่มพูนปริมาณการค้าอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
นางอนงค์ ประเมินแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2566 ว่า “การส่งออกสินค้าอาหารจะหดตัวลงในไตรมาสที่ 2 จากฐานการส่งออกที่สูงในปีก่อน แต่จะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 หรือในครึ่งปีหลังของปี 2566 โดยในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าไทยจะส่งออกสินค้าอาหารมูลค่า 734,459 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.0 และกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 5.2 ในครึ่งปีหลัง มูลค่าส่งออก 765,541 ล้านบาท ภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,500,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ซึ่งหากเป็นไปตามคาดจะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ (New high) ของการส่งออกอาหาร”

ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐมีนโยบายฟื้นฟูและการเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ท่องเที่ยว บริการ การค้าและการลงทุน ปัจจัยเรื่องการขาดแคลนอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ส่งผลต่อความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดประเทศกำลังพัฒนาและตลาดในภูมิภาคตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และอีกปัจจัยหนึ่งคือ ความกังวลเรื่องความมั่นคงอาหาร (Food Safety)
รวมถึงปัจจัยเรื่องความเชื่อมั่นในคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารของไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาดผู้นำเข้าทั่วโลก และปัจจัยสุดท้ายคือ จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ทำให้ปริมาณการค้าเพิ่มสูงขึ้น ระยะเวลาในการขนส่งสั้นลง โดยเฉพาะสินค้าที่มีตลาดทางตอนใต้ของจีน เช่น ไก่แช่แข็ง เป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น
ทั้งนี้ คาดว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ได้แก่ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาพลังงาน อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส เป็นต้น และความกังวลของเศรษฐกิจไทยอันเนื่องมาจากความผันผวนของค่าเงิน รวมถึงความกังวลภาวะเศรษฐกิจและปัญหาภาคธนาคารของสหรัฐ กระทบกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
นอกจานี้ เงินเยนญี่ปุ่นที่อ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อความสามารถในการนำเข้าสินค้าจากภายนอกของญี่ปุ่น และภาวะเงินเฟ้อยังคงกดดันกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาที่เป็นตลาดหลักของไทย เช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น สุดท้ายคือ ผลผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบสำคัญลดปริมาณลง และราคาปรับตัวสูง เช่น สับปะรดโรงงาน หัวมันสำปะหลัง กุ้ง ปลาทูน่า เป็นต้น
นางอนงค์ ยังฝากขอเสนอถึงรัฐบาลใหม่ในการพัฒนาอุสาหกรรมอาหารของประเทศ 3 ข้อ คือ
1).การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารไทยและมีภูมิคุ้มกันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงโลก โดยการสนับสนุนสนับการทำสหกรณ์ และสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการให้เข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมสนับสนุนเงินทุนเพื่อผลักดันผู้ประกอบการ SMEs
2).การสร้างระบบการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด BCG โมเดลผ่านการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจภายใต้โมเดล BCG & ESG พร้อมประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในห่วงโซ่อาหารเพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และส่งเสริมการพัฒนาการประกอบธุรกิจ โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า (Circular economy) และ
3).การผลักดันประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้สูงด้วยอุตสาหกรรมอาหาร (High-income countries) ผ่านการสนับสนุนผู้ประกอบการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี ในการยกระดับสินค้าพื้นฐาน (Basic food) ไปสู่อาหารอนาคต (Future food) และสร้างมาตรการผลักดันการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง จากการที่ไทยมีอาหารเป็น Soft power พร้อมจัดทำแผนงานและงบประมาณสนับสนุน รวมถึงจัดตั้งหน่วยงานหลักและสนับสนุนงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย
นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฝากโจทย์รัฐบาลใหม่แก้ไขปัญหาพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟและค่าน้ำมัน ซึ่งกระทบกับอุตสาหกรรมการผลิตและการขนส่ง รวมถึงการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม พร้อมเสนอให้คณะกรรมการกำกับพลังงานแห่งประเทศไทย (กกพ.) คิดราคาค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่า Ft บนต้นทุนที่แท้จริงและให้รัฐบาลแก้ไขสัญญาประกันกำไรของโรงไฟฟ้าเอกชน
และสุดท้าย นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า ถ้าตลาดหลักสามารถกลับมาได้จะเป็นโอกาสที่ดีมาก และมีความเป็นห่วงถึงปัญหาภัยแล้งจากเอลนีโญ่ ปัญหาเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งถึง 2.6% ประกอบกับต้นทุนจากค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น จึงคาดหวังให้รัฐบาลชุดใหม่จะช่วยเหลือสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารอย่างจริงจัง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 10 พฤษภาคม 2566