ดับฝันแผนอีวี
ยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของไทยสะดุด "บอร์ดอีวี" ดันมาตรการส่งเสริมไม่ต่อเนื่อง เสนอไม่ทันครม.นี้ "สุพัฒนพงษ์" โยนรัฐบาลใหม่พิจารณางบ เงินอุดหนุนซื้อรถอีวี และตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เอกชนหวั่นนโยบายลักกะปิดลักกะเปิดกระทบอุตสาหกรรมยานยนต์
แม้กระแสรถยนต์ไฟฟ้า EV ในไทยจะแรงต่อเนื่อง จากยอดจดทะเบียน 2,000 คันในปี 2564 กระโดดเป็น 10,000 คันในปี 2565 และปีนี้มีโอกาสขายเกิน 50,000 คัน แต่ในภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ยังมีรอยต่อในเชิงนโยบายจากการเลือกตั้งใหญ่และรอจัดตั้งรัฐบาลใหม่
บอร์ดอีวี ชงมาตรการใหม่ไม่ทัน ครม. :
ที่ผ่านม นโยบาย EV ของประเทศไทยถูกขับเคลื่อนด้วยหัวเรือใหญ่ คือ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ(บอร์ดอีวี) นำโดย “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ที่เห็นชอบหลักการสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หลายมาตรการ แต่ผลการประชุมดังกล่าวยังไม่ได้เสนอเข้าไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยเฉพาะในการประชุมครม.แบบอำนาจเต็มในช่วงกลางเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการเป็นการเร่งด่วน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า มาตรการทั้งหมดผ่านมติบอร์ดอีวี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ที่ผ่านมาเสนอมาตรการนี้ไปยังครม.ไม่ทันก่อนรัฐบาลยุบสภา และอาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้แผนการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต EV และชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค อาจต้องสะดุดไป
ทั้งนี้ บอร์ดอีวี ได้กำหนดนโยบายการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรักษาฐานการผลิตยานยนต์ของประเทศให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยี และความต้องการของตลาดยานยนต์ในประเทศและต่างประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ในปี 2573 หรือ 30@30 เพื่อวางทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยของภาครัฐที่ชัดเจน
รวมทั้งได้ออกมาตรการครอบ คลุมหลายด้าน อาทิ มาตรการส่งเสริมการลงทุน มาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีและชิ้นส่วน การสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าโดยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี เป็นต้น
ในการประชุม “บอร์ดอีวี” ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนเพิ่มเต็มในการขับเคลื่นยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ การสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ โดยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่จาก 8% เหลือ 1% และยกเว้นอากรนำเข้าแบตเตอรี่สำเร็จรูปในช่วง 2 ปี การสนับสนุนเงินให้กับผู้ประกอบการผลิตแบตเตอรี่วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท รวมถึงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ ระยะที่ 2(EV3.5) ระหว่างปี 2567-2568 เป็นต้น
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้เสนอมติที่ “บอร์ดอีวี” ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อขอความเห็นหน่วยงานต่า ๆ ก่อนบรรจุเป็นวาระเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.พิจารณาแล้ว ส่วนจะเสนอในรูปแบบใดระหว่างรูปแบบแรก คือเสนอให้ ครม.รับทราบมติการประชุมบอร์ด EV ล่าสุดทั้งฉบับ ที่มีทั้งมาตรการขอใช้งบประมาณสนับสนุนภาคเอกชนในการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในประทศไทย ก็ต้องดูเรื่องการของบประมาณสนับสนุนก่อน เพราะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับรัฐบาลรักษาการ ซี่งต้องไปดูก่อนว่าอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงบประมาณนั้นสามารถทำอะไรได้บ้าง
ส่วนรูปแบบที่สองคือ เสนอ ครม.เห็นทราบเฉพาะมาตรการบางส่วนที่ไม่ได้ใช้งบประมาณ แต่เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นหน่วยงานปฏิบัติ เช่น กรมสรรพสามิต หรือ กรมศุลกากร ที่มีข้อติดขัดจากการปฏิบัติตามมาตรการสนับสนุนรถ EV หรือ EV3 ที่มีการอนุมัติไปก่อนหน้านี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานต่อได้ โดยจะยังไม่เสนอมาตรการที่ต้องมีการขอรับสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐให้กับ ครม.รับทราบ
“จะเสนอ ครม.เป็นเรื่องๆ เพื่อทราบดู แต่ก็ต้องถามความเห็นจากสำนักเลขาฯครม.ว่าควรจะเสนออย่างไรจะเสนอเข้าไปทั้งฉบับหรือว่า เสนอเฉพาะมาตรการที่ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานได้ ตอนนี้ต้องระมัดระวัง เพราะถ้าเสนอเข้าไปหมดก็อาจตกทั้งฉบับ ตกทั้งกระดานจะยุ่งไปใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องของโรงงานแบตเตอรี่ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องขอสนับสนุนงบประมาณ เป็นเรื่องที่ผูกพันไปถึงรัฐบาลใหม่ ซึ่งต้องรอรัฐบาลใหม่ เรื่องนี้ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเสนอไปอาจโดนทักท้วงเหมือนตอนเรื่องของค่าไฟฟ้าก็ได้” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
เอกชนหวั่นนโยาย EV สะดุด :
นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หากนโยบายรัฐบาลในระยะยาวไม่มีความชัดเจน จะทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ขาดความมั่นใจ
ส่วนเอ็มจี ยังเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเพิ่งทำพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานผลิตแบตเตอรี่ในจังหวัดชลบุรี และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ปลายปีนี้
“โรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของเอ็มจีในไทย ล่าช้ากว่าแผนเดิมของเราเพราะเปลี่ยนจากแนวคิดที่จะหาซัพพลายเออร์มาทำให้ เปลี่ยนเป็นการลงทุนเอง ดังนั้นอยากให้รัฐบาลชุดใหม่มีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจ และดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เปิดเผยว่า หวังว่าหลังการเลือกตั้งใหญ่ จะสามารถฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลได้เร็ว เพราะไม่เช่นนั้นระบบเศรษฐกิจมหภาคจะสะดุด เพราะอนุมัติงบประมาณไม่ได้ เศรษฐกิจไม่เดิน
“ขณะเดียวกัน ความต่อเนื่องของนโยบายในอุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะมีหน่วยงานราชการทำหน้าที่รับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ไม่มีอะไรยืนยันว่ารัฐบาลใหม่จะเดินหน้านโยบายตามรัฐบาลชุดเดิมทั้งหมด” แหล่งข่าวกล่าว
นาย Yin Tongue ประธาน เชอรี่ ออโตโมบิล ประเทศจีน ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เปิดเผยว่า ต้นปี 2567 บริษัทเตรียมนำเข้า EV มาทำตลาดในไทยก่อน ส่วนแผนลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย บริษัทกำลังศึกษา แต่จะมีความชัดเจนหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
หวั่นงบไม่พอขอเพิ่ม 3,000 ล้าน :
นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมได้เตรียมขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าหรือ รถอีวี ในปี 2566/67 ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนเม็ดเงินให้แก่ผู้ซื้อรถอีวีตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยรถยนต์อีวีจะได้รับเงินอุดหนุนสูงสุด 1.5 แสนบาทต่อคัน ส่วนรถจักรยานยนต์อีวี ได้รับ 1.8 หมื่นบาทต่อคัน
“งบประมาณที่รัฐบาลตั้งไว้สำหรับการจ่ายชดเชยในปี 2565/66 จำนวน 2,900 ล้านบาท จะสิ้นสุดในช่วงเดือนก.ย.นี้ ซึ่งเราประเมินว่า งบดังกล่าวจะเพียงพอ แต่หากว่า มีการเร่งโอนรถเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายปีงบก็น่าจะไม่พอซึ่งขณะนี้ เราเตรียมของบเพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในปี 2566/67”
กรมฯได้รับรายงานว่า มีแนวโน้มความสนใจรถอีวีที่ดี คาดว่าจะทำให้ยอดจองรถอีวีที่ขอรับมาตรการส่งเสริมภาครัฐสะสมเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 5 หมื่นคัน ใช้งบอีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
ส่วนมาตรการอีวีในช่วงปี 2567-2678 นั้น คาดว่า จะมีการปรับรายละเอียดใหม่ ซึ่งจะต้องรอคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลใหม่อีกครั้ง เช่นเดียวกับ โครงสร้างภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่สำหรับสนับสนุนอุตสาหกรรมรถอีวีด้วย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 11 พฤษภาคม 2566