จีนคลั่งรักทุเรียนไทย ถึงขั้นทำคู่มือ "วงล้อรสชาติ" เทียบมูซานคิง
จีนคลั่งรักทุเรียนไทย ถึงขั้นทำคู่มือ "วงล้อรสชาติ" หรือ "Durian Flavor Wheel" ขึ้นครั้งแรกโดยประเทศจีน เทียบมูซานคิง เพื่อช่วยแยกความแตกต่างของรสชาติทุเรียน
วันที่ 21 พฤษภาคม 2566 แม้ว่าจะมีทุเรียนจากจากประเทศต่างๆในอาเซียนเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดทุเรียนไทยในประเทศจีนรุนแรงมากโดยเฉพาะทุเรียนจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

แต่ความนิยมในสินค้าทุเรียนไทยในตลาดจีนยังไม่แผ่วลง ซึ่งเฉพาะไตรมาสแรก ปี 2566 นี้จีนนำเข้าทุเรียนไทยแล้วกว่า 63,000 ตัน เพิ่มขึ้น 78%

ล่าสุดฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้แปลและเรียบเรียงข้อมูลจาก panda guide ที่ระบุว่า ความนิยมในทุเรียนไทยเพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งได้มีการจัดทำ “วงล้อรสชาติทุเรียน” หรือ “Durian Flavor Wheel” ขึ้นครั้งแรกโดยประเทศจีน
ทุเรียนนับเป็นผลไม้ที่มีความซับซ้อนทั้งในเรื่องของรสชาติ กลิ่น สี และรสสัมผัส นอกจากนี้ การรับรสในแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะระบุรสชาติของทุเรียนให้ตรงกัน
ซึ่ง “วงล้อรสชาติทุเรียน” หรือ “Durian Flavor Wheel” สามารถช่วยแยกความแตกต่างของรสชาติทุเรียน และช่วยผู้บริโภคที่ไม่เคยรับประทานทุเรียนสามารถจินตนาการถึงรสชาติทุเรียนได้
วงล้อรสชาติ ถูกสร้างขึ้นโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการกำหนดรสชาติ ซึ่งในหลายประเทศมีการใช้วงล้อรสชาติเพื่อแยกความแตกต่างของกลิ่นและรสชาติอาหาร เช่น ไวน์ และกาแฟ
โดยในประเทศจีนมีการทำวงล้อรสชาติในสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น ส้ม องุ่น มะเขือเทศ สตรอว์เบอรรี่ แอปเปิ้ล รวมไปถึง เหล้า และชา แต่ยังไม่เคยมีใครทำวงล้อรสชาติในทุเรียนมาก่อน จนปัจจุบัน บริษัท JD Fresh และ China Green Food ได้ร่วมกันทำวงล้อรสชาติทุเรียนเป็นครั้งแรก ซึ่งจะช่วยให้ชาวจีนที่ไม่เคยทานทุเรียนมาก่อนได้รู้จักทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ดียิ่งขึ้น
โดยได้มีการเปรียบเทียบรสชาติและคุณลักษณะของทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ ดังนี้
ทุเรียนหมอนทองไทย ฉายาว่า ‘ขวัญใจมหาชน’ เนื้อทุเรียนสีเหลืองทอง เนียนแน่นละเอียด มีกลิ่นหอมของแอลกอฮอล์ รสขมปานกลาง หวานเข้มข้น รสติดลิ้นนาน และมีรสชาติชาลิ้นเล็กน้อย หมอนทองไทยเป็นสินค้าที่ได้รับการแนะนำเป็นพิเศษ ซึ่งจะมีผลผลิตในช่วงฤดูกาลช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม

ทุเรียนมูซังคิงมาเลเซีย ฉายาว่า ‘ทุเรียนแอร์เมส’ เนื้อทุเรียนเนียนละเอียด อร่อยนุ่มหนึบ มีรสแอลกอฮอล์อ่อนๆ รสออกหวานอมขม กลิ่นหอมคาราเมล มีรสชาลิ้น รสหวานติดลิ้นนาน เป็นสินค้าที่ได้รับการโปรโมทว่าต้องทาน

ทุเรียนพวงมณีไทย ฉายาว่า ‘มูซังคิงก้านยาวไทย’ เนื้อทุเรียนสีเหลืองอมส้ม เนียนนุ่ม มีรสแอลกอฮอล์ปานกลาง ไม่มีรสขม กลิ่นหอมดอกไม้ รสหวานเข้ม กลิ่นติดลิ้นนาน เป็นสินค้าที่ได้รับการโปรโมตว่าต้องทาน

ทุเรียนชะนีไทย ฉายาว่า ‘ทุเรียนพันธุ์หายาก’ เนื้ออเนียนนุ่ม หวานฉ่ำ เข้มข้น มีกลิ่นหอมของแอลกอฮอล์ รสชาติหวานอมขมติดลิ้นนาน เป็นสินค้าที่คุ้มค่าแก่การแนะนำ
ซึ่งการสนับสนุนและผลักดันการส่งออกทุเรียนของภาคราชการของไทยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายของรัฐบาลมุ่งจะส่งเสริมการส่งออกผลไม้ในปี2566นี้ให้ได้ 4.44 ล้านตัน มูลค่า 2 แสนล้านบาท
โดยเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว จัดกิจกรรม Durian tasting ภายใต้งานเทศกาลผลไม้ไทย ประจำปี 2566 ณ นครหนานหนิง

และได้นำทุเรียนไทย จำนวน 5 สายพันธุ์ ได้แก่ หมอนทอง ชะนี ก้านยาว พวงมณี และนวลทองจันทร์ มาให้แขกผู้ร่วมงาน สื่อมวลชน ผู้มีอิทธิพลทางความคิด (KOL) และผู้มีอิทธิพลในการตลาด (KOC) ได้ทดลองรสชาติ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียของจีน ภายใต้แนวคิด “想到榴莲 想到泰国” (Think Durian Think Thailand)

ภายในงาน นายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ได้นำเสนอข้อมูลความหลากหลายของสายพันธุ์ทุเรียนไทย พร้อมคุณค่าทางโภชนาการของทุเรียนไทย ซึ่งถือเป็นราชาผลไม้ ควบคู่ไปกับการแนะนำมังคุดไทย ราชินีผลไม้ ผ่านการจัดกิจกรรม Durian tasting เพื่อประชาสัมพันธ์ทุเรียนคุณภาพของไทยที่มีหลากหลายสายพันธุ์ให้เป็นที่รู้จักในตลาดจีนมากขึ้น และส่งเสริมภาพลักษณ์ในด้านคุณภาพและมาตรฐาน ตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นหนึ่งของทุเรียนไทยในตลาดจีน เพื่อรองรับการแข่งขันของทุเรียนในตลาดจีนในอนาคต
และในวันที่ 10 มิถุนายน 2566 ที่จะถึงนี้ก็จะเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคใต้ “จ.ชุมพร” ต่อจากฤดูการเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออก
เป็นที่น่าจับตามองว่าการส่งออกทุเรียนล็อตใหม่จะเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายได้หรือไม่
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 21 พฤษภาคม 2566