"หมอธีระ" เผยโควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.9.1 และ XBB.1.16 พบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
"หมอธีระ" เผย "โควิด-19" สายพันธุ์ที่ระบาดหลักยังคงเป็น XBB.1.5 มีสัดส่วนตรวจพบราว 41.57% มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ขณะที่สายพันธุ์ XBB.1.9.1 และ XBB.1.16 พบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า
อัปเดตเรื่องโควิด-19

(1)สายพันธุ์ที่ระบาดทั่วโลก :
องค์การอนามัยโลกออกรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา (ภาพที่ 1-3)
ปัจจุบันมีประเทศที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมาที่ WHO ลดลงมาก เหลือราว 42 ประเทศ หรือเพียง 18% ของประเทศทั้งหมดที่เป็นภาคีสมาชิก ทั้งนี้มีเพียง 22 ประเทศที่รายงานอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ ข้อมูลจนถึง 7 พฤษภาคม 2566 พบว่า สายพันธุ์ที่ระบาดหลักยังคงเป็น XBB.1.5 มีสัดส่วนตรวจพบราว 41.57% โดยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
ในขณะที่ XBB.1.9.1 พบ 15.65% และ XBB.1.16 พบ 13.17% โดยทั้งสองสายพันธุ์นี้พบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
(2)ประสิทธิภาพของวัคซีน Bivalent ในอเมริกา :
ทีมงานจาก US CDC เผยแพร่ผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนชนิด Bivalent ลงในวารสาร MMWR วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 (ภาพที่ 4)

การลดเสี่ยงป่วยนอนโรงพยาบาล :
ในภาพรวมพบว่า ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย Bivalent vaccine ในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปนั้น ช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยนอนโรงพยาบาลได้ราว 60% ในช่วง 2 เดือนแรกหลังฉีด
แต่ประสิทธิภาพจะลดลงเหลือราว 25% หลังฉีดไปเกิน 4 เดือน โดยประสิทธิภาพในคนสูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะมากกว่าคนอายุ 18-64 ปีเล็กน้อย
การลดเสี่ยงป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิต :
ในภาพรวมพบว่า ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย Bivalent vaccine ในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปนั้น ช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยรุนแรงจนต้องนอนรักษาในไอซียู หรือเสียชีวิตได้ราว 69% ในช่วง 2 เดือนแรกหลังฉีด

ทั้งนี้ ประสิทธิภาพจะลดลงเหลือราว 50% หลังฉีดไปเกิน 4 เดือน
ผลการศึกษาข้างต้น ช่วยให้เราเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน ที่จะช่วยลดความเสี่ยงป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง สูงอายุ มีโรคประจำตัว ซึ่งมักมีสถานะสุขภาพที่ไม่แข็งแรง
อย่างไรก็ตาม ก็ตอกย้ำให้เราทราบว่า ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดที่ยังรุนแรงในประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องมีการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด แม้จะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมาแล้วก็ตาม เพราะวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงได้บางส่วน

การป้องกันตัวด้วยวิธีอื่นๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเรื่องการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท เลี่ยงที่แออัดหรือที่ระบายอากาศไม่ดี ไม่แชร์ของกินของใช้กับผู้อื่นนอกบ้าน
ที่สำคัญที่สุดคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 28 พฤษภาคม 2566