เตือนภัย "เศรษฐกิจจีน" กำลังเดินตามรอยญี่ปุ่น
ในญี่ปุ่นเมื่อปี 1989 ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกดังโพละ ไม่เพียงทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในเวลานั้นร่วงวูบลงเหวเท่านั้น ยังทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเดินเข้าสู่กับดักของวงจรอุบาทว์ของภาวะเงินฝืด (deflation downward spiral) ที่ส่งผลให้เกิดภาวะตกต่ำซบเซา (stagnation) ยาวนานติดต่อกัน
กลายเป็นที่มาของวลี “2 ทศวรรษที่หายไป” ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่กลายเป็นกรณีศึกษาทางเศรษฐศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามที่รัฐบาลปักกิ่งกำลังนำพาเศรษฐกิจของจีนทั้งประเทศ เดินซ้ำรอยญี่ปุ่นเมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และอาจหลุดเข้าสู่กับดักภาวะเงินฝืด ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจซบเซา แบบเดียวกันอีกประเทศ
สถานการณ์เศรษฐกิจจีนในเวลานี้ไม่สู้ดีนัก ดัชนีชี้สภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสแรก ไม่เพียงสร้างความผิดหวังให้เกิดขึ้นเท่านั้น ยังส่งผลให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่พากันฟันธงว่า ไตรมาสที่สองของปีนี้ เศรษฐกิจจีนอาจไม่ขยายตัวเอาเลยก็เป็นได้
มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้การฟื้นตัวของจีนไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ตั้งแต่ปมขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกาที่นำไปสู่การ “ควบคุมการส่งออก” โดยเฉพาะในส่วนของเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศหดหาย เรื่อยไปจนถึงปัญหาการจัดการ “กวาดล้าง” บรรดาบริษัทระดับยักษ์เทคโนโลยีทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศ และปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์
นอกจากปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีพลวัตการเมืองโลกเข้ามามีส่วนด้วยอย่างมีนัยสำคัญแล้ว นักวิเคราะห์ชี้ว่าส่วนที่เหลือทั้งหมด เป็นปัญหาที่ทางการจีนก่อขึ้นด้วยตัวเองทั้งสิ้น
ตัวอย่างเช่น การออกกฎเกณฑ์ใหม่ทางด้านการศึกษาเมื่อปี 2021 ส่งผลถึงกับ “ถอนรากถอนโคน” ธุรกิจการศึกษาเอกชนไปโดยสิ้นเชิง เกิดการลอยแพพนักงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าเพียงหนึ่งบริษัทก็ทำให้มีคนตกงานมากถึง 60,000 คนเลยทีเดียว
หรือในกรณีของการกวาดล้าง “วิดีโอเกม” ในเวลาต่อมา ซึ่งนำไปสู่การปิดตัวของบริษัทที่ทำธุรกิจเกมออนไลน์และออฟไลน์มากถึง 14,000 บริษัท และการจัดการกับ “แจ็ก หม่า” กับ อาลีบาบา เป็นต้น
แต่ปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้น ถือเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย หากเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับภาคอสังหาริมทรัพย์
อสังหาริมทรัพย์เป็นตัวขับเคลื่อน ผลักดันเศรษฐกิจจีนมาตลอดในช่วง 2 ทศวรรษหลังมานี้ เป็นภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการลงทุนมากถึงราว ๆ 7% ของการลงทุนทั้งหมดของชาวจีน
ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนในเวลานี้ยังทรงตัวอยู่ในภาวะอ่อนเปลี้ย หลังจากฟองสบู่แตก เปิดเผยให้เห็นหนี้สินมหาศาล ภายในกิจการขนาดใหญ่ทั้งหลาย กิจกรรมของภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงอย่างรุนแรงเมื่อรัฐบาลพยายามเข้าไปควบคุม จัดการภับภาระหนี้สินของบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เหล่านั้น ที่ส่งผลให้การลงทุนลดวูบในขณะที่ยอดขายก็หดหาย
ในช่วงตั้งแต่มกราคมจนถึงพฤษภาคมปีนี้ การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์จีนหายไปมากถึง 7.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่งสัญญาณให้เห็นชัดว่า ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่แตกดังโพละก่อนหน้านี้ กำลังกลายเป็นปัญหาเรื้อรังสำหรับเศรษฐกิจจีน
ปัญหานี้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมในหลายด้าน ทั้งที่เป็นผลกระทบโดยตรง คือฉุดดึงเอาภาคการก่อสร้าง และธุรกิจกับบริการที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ให้ทรุดตามลงไปด้วย และผลกระทบในทางอ้อม อย่างเช่นกระทบต่อจิตวิทยาการบริโภคของประชาชนที่เป็นเจ้าของอสังหาฯ รวมไปถึงกระทบต่อการลงทุนทางด้านธุรกิจ ที่นิยมใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ในจีน เป็นต้น
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ ทุกครั้งที่ฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวต่อเนื่องนาน ๆ แตกออก ผลลัพธ์มักลงเอยไม่สู้ดีนัก ฟองสบู่อสังหาฯในสหรัฐอเมริกาถึงกับก่อให้เกิดวิกฤตการเงินระดับโลกขึ้นตามมา แต่นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า กรณีของจีนไม่น่าจะลงเอยแบบเดียวกันนั้น
ในทางตรงกันข้าม จีนในเวลานี้ เทียบได้กับญี่ปุ่นเมื่อทศวรรษ 1980 ได้ใกล้เคียงที่สุด และสิ่งที่เกิดกับญี่ปุ่นในเวลานั้น กำลังจะเกิดขึ้นซ้ำรอยที่จีนในขณะนี้
ทางการญี่ปุ่นในเวลานั้นตอบสนองต่อปัญหาช้าเกินไป แบงก์ชาติใช้เวลานานถึง 10 ปีกว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยเป็น 0% และมาตรการกระตุ้นที่นำมาใช้ก็ผิดจุด เพราะไปกระตุ้นการลงทุน แทนที่จะกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศโดยตรง
ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ เศรษฐกิจที่ตกต่ำซบเซานานถึง 2 ทศวรรษ
จีนดูเหมือนกำลังเดินซ้ำรอยญี่ปุ่นอย่างชัดเจน ตัดสินใจกระตุ้นการลงทุน แทนการกระตุ้นการบริโภคโดยตรง แบงก์ชาติจีนลดดอกเบี้ยลงก็จริง แต่ยังน้อยเกินไป ผลก็คือ การใช้จ่ายของครัวเรือนจีนยังคงต่ำ อยู่ที่ระดับ 38% ของจีดีพียังต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 55% ของจีดีพีของทั่วโลก
ทั้งยังไม่ขยับเพิ่มขึ้นเลยตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 28 มิถุนายน 2566