บ.ต่างชาติแห่เปิดโรงงานผลิตแม่เหล็กหายากในเวียดนาม รองรับธุรกิจ EV-ลดเสี่ยงซัปพลายเชนจีน
รอยเตอร์ - บริษัทแม่เหล็กของเกาหลีใต้และจีน รวมถึงซัปพลายเออร์ของแอปเปิล เตรียมเปิดโรงงานในเวียดนาม ตามที่ระบุในเอกสารและจากการเปิดเผยของบุคคลที่คุ้นเคยกับแผนดังกล่าว ท่ามกลางการผลักดันการกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน และลดความเสี่ยงจากความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ
บริษัท Star Group Industrial (SGI) ของเกาหลีใต้ และบริษัท Baotou INST Magnetic ของจีน จะร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ในหลายภาคส่วน เช่น อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ย้ายสายการผลิตท่ามกลางข้อจำกัดทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งลูกค้าของบริษัทต่างร้องขอให้ดำเนินการ
จีนโดดเด่นในแม่เหล็กและโลหะหายากที่ใช้ผลิตแม่เหล็ก โดยแม่เหล็กนั้นเป็นส่วนสำคัญของการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า กังหันลม อาวุธ และสมาร์ทโฟน ทำให้ภาคส่วนนี้มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ และมีความพยายามอย่างจำกัดที่จะท้าทายการเป็นผู้นำของจีนในด้านนี้
อย่างไรก็ตาม เวียดนามประเทศเพื่อนบ้านของจีน ยังไม่ได้ใช้แหล่งแร่หายากของตัวเองที่เป็นรองเพียงจีนเท่านั้น รวมถึงอุตสาหกรรมแปรรูปที่เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นทำให้ประเทศมีศักยภาพที่จะเป็นคู่แข่ง คนในวงการอุตสาหกรรมกล่าว
โครงการเวียดนามของ SGI ตั้งเป้าผลิตแม่เหล็กนีโอไดเมียมคุณภาพสูงจำนวน 5,000 ตันต่อปี ในปี 2568 ซึ่งเพียงพอสำหรับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 2 ล้านคัน
เวียดนามผลิตแม่เหล็กเพียง 1% ของโลก ตามข้อมูลของ Adamas Intelligence ที่อ้างในรายงานของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ เทียบกับจีนที่ 92%
ทั้งนี้ โรงงานจีนบางแห่งสามารถผลิตแม่เหล็กได้มากกว่าโครงการ SGI ถึง 10 เท่า และจีนเป็นผู้นำในการขุดและแปรรูปแร่
อย่างไรก็ตาม การการผลิตในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โรงงานของ SGI เมื่อดำเนินการผลิตอย่างเต็มกำลังจะผลิตได้เกือบ 3% ของผลผลิตทั่วโลกในปี 2565 ที่ประมาณการโดย Project Blue บริษัทที่ปรึกษาด้านวัสดุสำคัญ ซึ่งมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของการนำเข้าแม่เหล็กนีโอไดเมียมของสหรัฐฯ ปีก่อน ข้อมูลการค้าของสหรัฐฯ ระบุ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังส่งสัญญาณความสนใจที่มากขึ้นในแร่ธาตุหายากของเวียดนาม ท่ามกลางการหารือเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีในปีนี้ และเกาหลีใต้ได้ลงนามข้อตกลงกับเวียดนามในเดือน มิ.ย. เพื่อส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานของแร่ธาตุสำคัญนี้
ผู้ผลิตแม่เหล็กยังถูกดึงดูดให้ลงทุนในเวียดนามด้วยค่าแรงต่ำและการเข้าถึงตลาดที่มาจากข้อตกลงการค้าเสรีหลายฉบับ และพวกเขายังต้องการเข้าใกล้ลูกค้าในเวียดนามให้มากขึ้น เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ และบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มความระมัดระวังเกี่ยวกับการพึ่งพาอุปทานของจีนมากเกินไป เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งย่ำแย่ลง คนวงในอุตสาหกรรมกล่าว
เวียดนามเป็นเพียงประเทศเดียวนอกเหนือจากจีนที่มีห่วงโซ่อุปทานแม่เหล็กทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขุดหาแร่หายากไปจนถึงการผลิตปลายน้ำ ที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมในเวียดนามกล่าว
รัฐบาลวางแผนที่จะขยายการผลิตแร่หายากเป็นวงกว้างภายในสิ้นทศวรรษนี้ และกำลังเพิ่มกำลังการสกัดแร่ ที่กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ประเมินว่าคิดเป็น 3% ของส่วนแบ่งทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม เดวิด เมอรริแมน จาก Project Blue กล่าวว่า ใครที่พยายามที่จะสร้างห่วงโซ่อุปทานจากเหมืองสู่แม่เหล็กตั้งแต่ต้นจะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก
SGI ที่จัดหาแม่เหล็กให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของเวียดนาม วินฟาสต์ และฮุนได มอเตอร์ ของเกาหลีใต้ กล่าวกับรอยเตอร์ว่า บริษัทกำลังลงทุน 80 ล้านดอลลาร์ในโรงงานแห่งใหม่ในเวียดนาม ที่จะเริ่มการผลิตในปี 2567
โรงงานแห่งนี้จะเพิ่มผลผลิตของบริษัทเกือบ 2 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 3,000 ตัน
ต่อปีจากโรงงานในเกาหลีใต้และจีน
SGI อธิบายว่า การลงทุนเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการตอบโต้ข้อจำกัดทางการค้าของจีนที่อาจเกิดขึ้น
“นโยบายของจีนในการควบคุมวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับแร่หายาก และเทคโนโลยีกำลังเข้มงวดขึ้น ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนด้านอุปทาน” SGI กล่าว
SGI ระบุว่าแม้บริษัทจัดหาแร่หายากจากจีน แต่ขณะเดียวกันก็กำลังมองหาแหล่งอื่นในเวียดนามและออสเตรเลีย และวางแผนที่จะพัฒนาโรงงานแปรรูปในเวียดนาม
INST ของจีนมีกำหนดเริ่มดำเนินการในต้นเดือนหน้าที่โรงงานเช่าทางตอนเหนือของเวียดนาม หลังได้รับการอนุมัติจากท้องถิ่นในเดือน มิ.ย.
INST บริษัทแม่แหล็กขนาดใหญ่ที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบวงจร ถูกเพิ่มเข้าในรายชื่อซัปพลายเออร์ของแอปเปิลในปี 2564 การขยายธุรกิจไปยังเวียดนามเป็นไปตามคำร้องขอจากลูกค้าที่ต้องการให้กระจายฐานการผลิตออกจากจีนท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น
Luxshare ของจีน และ Foxconn ของไต้หวัน เป็นหนึ่งในซัปพลายเออร์ของแอปเปิลที่ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ติดตั้งแม่เหล็กในเวียดนาม เช่น แท็บเล็ต iPad และแล็ปท็อป MacBook
การลงทุนเบื้องต้นของ INST จำกัดอยู่เพียงไม่กี่ล้านดอลลาร์ แต่ในระยะที่สองเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อสร้างโรงงานของตนเอง แหล่งข่าวระบุ
และด้วยคำร้องจากลูกค้าเช่นเดียวกันนี้ ทำให้บริษัท Magsound ผู้ผลิตแม่เหล็กของจีนอีกรายหนึ่งตัดสินใจที่จะเปิดโรงงานในเวียดนามในครึ่งแรกของปีหน้า แหล่งข่าวระบุ
อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับการอนุมัติในเดือน มิ.ย. Magsound กลับยกเลิกแผนในเดือนนี้ ตามที่ระบุในเอกสารลงทะเบียนโดยแหล่งข่าวระบุว่าเกิดขึ้นหลังจากการเจรจาข้อตกลงเรื่องอุปทานกับบริษัท Luxshare ล้มเหลว
ในบรรดาผู้ผลิตแม่เหล็กในเวียดนาม บริษัท Shin-Etsu Chemical ของญี่ปุ่น ได้ขยายโรงงานในปีนี้ หลังตัดสินใจในปี 2560 ว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 เท่าต่อปีที่ 2,200 ตัน ตามคำแถลงของบริษัทและรายละเอียดบนเว็บไซต์ของบริษัทที่ปรึกษา Obayashi
ในเดือน เม.ย. บริษัท Strategic Materials ของออสเตรเลีย ได้ลงนามข้อตกลงกับโรงงานสกัดของเวียดนาม ที่มุ่งมั่นจะผลิตแร่หายากเพื่อส่งออกไปเกาหลีใต้
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 22 สิงหาคม 2566