ปัญหาขาดแคลนวิศวกร-แรงงานฝีมือ อาจกระทบแผนสหรัฐฯ วางเวียดนามเป็นฐานผลิตชิป
รอยเตอร์ - ปัญหาการขาดแคลนวิศวกรที่เรื้อรังในเวียดนามกำลังกลายเป็นความท้าทายสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และแผนของสหรัฐฯ ในการพิจารณาให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้เป็นศูนย์กลางการผลิตชิปเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอุปทานที่เกี่ยวข้องกับจีน
เซมิคอนดักเตอร์คาดว่าจะเป็นประเด็นสำคัญ เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เยือนกรุงฮานอยในวันที่ 10 ก.ย. ที่มีเป้าหมายจะยกระดับความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างสองประเทศ ซึ่งเขาจะเสนอการสนับสนุนเวียดนามในการเพิ่มการผลิตชิป เจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหารของไบเดน ระบุ
กลยุทธ์การลงทุนการผลิตในหมู่ประเทศพันธมิตร (Friendshoring) ในภาคส่วนของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ถือเป็นหนึ่งในแรงจูงใจสำคัญของวอชิงตันที่จะชักชวนให้ผู้นำคอมมิวนิสต์ของเวียดนามเห็นพ้องที่จะยกระดับความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ หลังจากในตอนแรกนั้นฮานอยลังเลใจต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าวด้วยวิตกว่าอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางลบจากจีน
การส่งเสริมความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการอาจนำเม็ดเงินหลายพันล้านดอลลาร์จากการลงทุนของภาคเอกชนใหม่และกองทุนสาธารณะบางส่วนมาสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนาม แต่เจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรม นักวิเคราะห์ และนักลงทุน กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกอบรมที่มีอยู่จำนวนไม่มากนั้นจะเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชิป
“จำนวนวิศวกรฮาร์ดแวร์ที่มีอยู่นั้นยังต่ำกว่าจำนวนที่ต้องการเพื่อรองรับการลงทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์” หัวหน้าสำนักงานเวียดนามของสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน กล่าว
ประเทศที่มีประชากร 100 ล้านคนแห่งนี้ มีวิศวกรฮาร์ดแวร์ที่ได้รับการฝึกอบรมสำหรับภาคส่วนชิปเพียงแค่ 5,000-6,000 คน เทียบกับความต้องการที่คาดไว้ที่ 20,000 คน ในช่วง 5 ปี และ 50,000 คนใน 10 ปี
กระทรวงต่างๆ ของเวียดนามที่ดูแลด้านแรงงาน การศึกษา ข้อมูล เทคโนโลยี และการต่างประเทศ ไม่ได้ตอบกลับคำร้องขอความคิดเห็นของรอยเตอร์ในประเด็นนี้
ตามตัวเลขของรัฐบาลเวียดนาม อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มีมูลค่ามากกว่าครึ่งพันล้านดอลลาร์ต่อปี โดยปัจจุบันมุ่งเน้นที่ขั้นตอนการผลิตส่วนหลังของห่วงโซ่อุปทาน นั่นคือการประกอบ การบรรจุ และการทดสอบชิป
ทำเนียบขาวไม่ได้ระบุเจาะจงว่าภาคส่วนใดของอุตสาหกรรมชิปในเวียดนามจะได้รับความสำคัญเป็นลำดับต้น แต่ผู้บริหารในอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ระบุว่า การผลิตส่วนหลังเป็นภาคส่วนการเติบโตที่สำคัญ
จีนมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาสิ่งเหล่านี้ เนื่องด้วยเกือบ 40% ของการผลิตส่วนหลังทั่วโลกในปี 2562 อยู่ในจีน เทียบกับในสหรัฐฯ ที่มีอยู่เพียง 2% ขณะที่อีก 27% อยู่ในไต้หวัน และการที่จีนเพิ่มกิจกรรมทางทหาร ก่อให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับความขัดแย้ง นั่นทำให้ภาคส่วนของการประกอบเป็นหนึ่งในส่วนที่เข้มข้นที่สุดในอุตสาหกรรม รองจากการผลิตชิป
อย่างไรก็ตาม ในเวียดนาม บริษัทอินเทลได้ดำเนินกิจการอยู่ในภาคใต้ของประเทศมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว โดยตั้งโรงงานประกอบ บรรจุภัณฑ์ และทดสอบชิป
ทั้งนี้ ยังพบสัญญาณความสนใจที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัท Amkor ที่เป็นคู่แข่งของอินเทล กำลังสร้างโรงงานขนาดใหญ่ล้ำสมัยใกล้กรุงฮานอยเพื่อประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ ตามการระบุของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ระหว่างเยือนฮานอยเมื่อเดือนก่อน
การลงทุนจากภาคเอกชนอาจเพิ่มมากขึ้นในเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากส่วนแบ่งงบประมาณมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ ภายใต้กฎหมายสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ฉบับใหม่ของสหรัฐฯ ไปจบลงที่เวียดนาม
สหรัฐฯ อาจสนใจที่จะส่งเสริมการจัดหาวัตถุดิบสำหรับชิปของเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรร์เอิร์ธ ที่ประเมินว่าเวียดนามมีแหล่งสำรองมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน
อย่างไรก็ตาม ความทะเยอทะยานในด้านเซมิคอนดักเตอร์อาจเป็นแค่ความฝันหากปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม ทำให้เวียดนามมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อคู่แข่งในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย และอินเดีย
อินเทลได้เรียกร้องหลายหนให้ทางการขยายกลุ่มแรงงานฝีมือ เจ้าหน้าที่ระบุ
แหล่งข่าวระบุเมื่อต้นปีว่าบริษัทได้พิจารณาเพิ่มการดำเนินงานมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ของบริษัทในเวียดนามเป็นเกือบ 2 เท่า แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าสิ่งนั้นยังคงอยู่ในแผนหรือไม่ หลังบริษัทประกาศลงทุนจำนวนมหาศาลในยุโรปเมื่อเดือน มิ.ย.
ส่วนบริษัท Amkor เปิดรับงานประมาณ 60 ตำแหน่ง บนเว็บไซต์ของบริษัทในเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งวิศวกรและผู้จัดการ
แนวทางการแก้ปัญหาอาจเป็นการผ่อนปรนเรื่องกฎระเบียบของเวียดนามในการออกใบอนุญาตทำงานให้วิศวกรต่างประเทศ แต่หัวหน้าสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียนระบุว่าเป็นเรื่องยากมากในปัจจุบัน จนกว่าแรงงานฝีมือภายในประเทศจะได้รับการส่งเสริมอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ ยังต้องปรับเปลี่ยนกฎหมาย และปรับขั้นตอนทางราชการให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย นักการทูตและผู้ประกอบการหลายรายในเวียดนามระบุ
ทั้งนี้ ไบเดนตั้งใจที่จะหารือเกี่ยวกับโครงการพัฒนาแรงงานกับผู้นำเวียดนาม ที่อาจขยายโครงการฝึกอบรมที่มีอยู่เดิม ทำเนียบขาวระบุในคำแถลง
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 31 สิงหาคม 2566