"ฟรีวีซ่า" กับ "วีซ่าฟรี" ต่างกันอย่างไร ใช้คำไหนถึงจะถูก แม้แต่คนในธุรกิจท่องเที่ยวยัง "งง"
"ฟรีวีซ่า" เป็นคำที่เราได้ยินบ่อยสุด ๆ หลังจากที่ไทยมีรัฐบาลใหม่และมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน
ในวันแรก ๆ หลายคนก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า “ฟรีวีซ่า” ของรัฐบาลจะหมายถึงอะไร จะเป็นการอนุญาตให้เข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า หรือเป็นการให้ขอวีซ่าโดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม
เมื่อมีคำถามมากเข้า นายกฯเศรษฐาและรัฐบาลก็ชี้แจงว่า เป็นการอนุญาตให้เข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ภายในระยะเวลาที่กำหนด
ซึ่งกรณีแบบนี้มีคำนิยามว่า “ยกเว้นวีซ่า”
แล้วคำถามและความสับสนก็ยังตามมาอีกว่า “ยกเว้นวีซ่า” มันคือสิ่งเดียวกันกับคำว่า “ฟรีวีซ่า” หรือไม่ ? ซึ่งเราเห็นการใช้คำนี้ในสื่อไทยมากกว่าคำว่า “วีซ่าฟรี”
เมื่อมีการใช้ทั้งสองคำ แล้วคำไหนล่ะที่ถูกต้อง?
เนื่องจากเป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษ เราจึงต้องย้อนไปดูคำแปลตรง ๆ ของมันก่อน
เริ่มจาก ฟรีวีซ่า (free visa) ถ้าจับเอาคำนี้มาแปลมันจะแปลได้ว่า “วีซ่าที่ได้มาฟรี ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม” เหมือนที่เอาคำว่า free ไปวางไว้ข้างหน้าคำอื่น ๆ เช่น free concert แปลว่า คอนเสิร์ตที่เปิดให้ชมโดยไม่ต้องซื้อตั๋ว
ส่วนคำว่า วีซ่าฟรี (visa free) ความหมายตรงตัวมันคือ ปลอดวีซ่า เหมือนที่คำว่า free มันไปขยายคำอื่น ๆ อย่างเช่นคำว่า sugar free คือ ปราศจากน้ำตาล หรือคำที่ธุรกิจท่องเที่ยวคุ้นเคยกันดี คือ duty free ที่แปลว่า ปลอดภาษี
เพราะความหมายตรงตัวของคำว่า ฟรีวีซ่า หมายถึงวีซ่าที่ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม เราจึงได้เห็นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจำนวนหนึ่ง ออกมาเรียกร้องว่า ฟรีวีซ่า หรือการไม่เก็บค่าธรรมเนียมนั้นจะไม่ให้ผลดีเท่ากับการยกเว้นวีซ่าชั่วคราว ทั้งที่จริง ๆ แล้วความตั้งใจของรัฐบาลก็คือจะยกเว้นวีซ่าชั่วคราวอย่างที่เอกชนอยากให้เป็น เพียงแต่เอกชนมีความเข้าใจไม่ตรงกันว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการอะไรกันแน่ เพราะมีการใช้คำว่า ฟรีวีซ่า กันอย่างแพร่หลาย
เมื่อเห็นความแตกต่างของคำแปลแบบตรง ๆ แล้ว หลายคนที่ก่อนหน้านี้งง ก็น่าจะเริ่มเข้าใจแล้วว่าคำไหนถูก
แต่… เรื่องมันก็ยังไม่จบแค่นั้น
เมื่อคนในธุรกิจท่องเที่ยวอีกจำนวนหนึ่งเขาเข้าใจกันว่า “ฟรีวีซ่า” คือคำที่ถูกต้องแล้ว และใช้คำนี้กันมาเนิ่นนาน รวมถึงจากการที่ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ของเราได้สัมภาษณ์หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องการตรวจลงตรา หรือการออกวีซ่าโดยตรง และได้สอบถามข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานนั้นแล้ว ก็ได้รับคำอธิบายยืนยันว่า การยกเว้นให้ไม่ต้องขอวีซ่า ใช้คำว่า “ฟรีวีซ่า”
ยังไงต่อล่ะทีนี้ ? จากที่ตอนแรกผู้เขียนเองก็คิดว่าต้องใช้ “วีซ่าฟรี” เท่านั้นถึงจะถูกต้อง ก็เลยมาสังเกตใหม่
แล้วก็พบข้อสังเกตใหม่ว่า คนไทยมีนวัตกรรมการใช้ภาษา ดังนั้น การที่เราจะบอกว่าใช้คำไหนถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง หรือคำไหนถูกต้องกว่ากันนั้น จะต้องดูเป็นรายกรณีไปว่า คนใช้คำ เขาใช้มันเป็นคำนาม หรือใช้เป็นคำกริยาที่สื่อถึงการกระทำ
ในกรณีที่เป็น “คำนาม” ชัดเจนว่าต้องใช้คำว่า วีซ่าฟรี (visa free) ที่แปลว่า การไม่ต้องขอวีซ่า ยกตัวอย่างการใช้ เช่น “ไทยจะใช้มาตรการวีซ่าฟรี เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว” ในประโยคนี้ “วีซ่าฟรี” เป็นคำนาม
แต่จากที่สังเกตพบว่าหลาย ๆ กรณี สื่อไทยใช้ “ฟรีวีซ่า” ในความหมายที่สื่อถึงการกระทำ คือ เราต้องการบอกว่า “นายกฯเศรษฐาจะอนุญาตให้คนจีนเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า”
เนื่องจากคำที่ใช้สื่อการกระทำ คือ “อนุญาตให้คนจีนเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า” มันต้องใช้กลุ่มคำที่ยาวมาก ก็เลยมีการหาคำที่เข้าใจกันได้มาใช้แทน คือ “ฟรีวีซ่า” ซึ่งคำว่า “ฟรี” (free) ในกรณีนี้ มันไม่ได้ทำหน้าที่เป็นคำขยายคำนาม (adjective) เหมือนเวลาที่มันอยู่ในคำว่า “วีซ่าฟรี” (visa free) แล้ว แต่มันทำหน้าที่เป็นคำกริยา (verb) ที่แปลว่า ปล่อย ให้อิสระ อย่างเช่น
“เศรษฐาจะฟรีวีซ่าจีน”
ในกรณีแบบนี้ ไม่ได้ผิดหลักภาษา การนำคำว่า ฟรี มาเป็นคำกริยานั้นใช้ได้ เพียงแต่คำว่า “ฟรีวีซ่า” แบบนี้ ในภาษาอังกฤษเขาไม่ใช้กัน มันเป็นการใช้ภาษาอังกฤษแบบไทย ๆ ที่เข้าใจกันเอง ลักษณะเหมือนกับที่เรานิยมใช้คำว่า “in trend” ที่แปลว่า “ทันสมัย อยู่ในกระแสความนิยม” แต่ฝรั่งเขาไม่ได้ใช้คำนี้กัน
สรุปว่า “การไม่ต้องขอวีซ่า” (ซึ่งเป็นคำนาม) ในขอบเขตที่เราสับสนสงสัยกันในช่วงที่ผ่านมานี้ พูดและเขียนว่า “วีซ่าฟรี”
แต่ถ้าใช้เพื่ออธิบายการกระทำ ใช้ “ฟรีวีซ่า” ได้ ตามความเข้าใจกันแบบไทย ๆ (ย้ำว่าตามความเข้าใจแบบไทย ๆ)
ซึ่งการใช้สองแบบนี้ในประโยคจะมีจุดต่างกันอยู่นิดเดียว…
“วีซ่าฟรี” ที่เป็นคำนามจะอยู่ข้างหลังคำกริยาเสมอ ไม่มีคำกริยาไม่ได้ ยกตัวอย่างการใช้ เช่น นายกฯให้วีซ่าฟรีแก่นักท่องเที่ยวจีน (“ให้” เป็นคำกริยา + “วีซ่าฟรี” เป็นคำนาม)
ส่วน “ฟรีวีซ่า” ไม่ต้องมีกริยาอยู่ข้างหน้า เพราะ “ฟรี” เป็นคำกริยาเอง เช่น “นายกฯฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน” แค่นี้จบ ครบองค์ประกอบของประโยคที่หมายความว่า นายกฯยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนแล้ว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 12 กันยายน 2566