อีอีซีเดินหน้า ... ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาคเดินตาม
รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ดังเห็นได้จากการระบุ “การพัฒนาต่อยอดเขตเศรษฐกิจพิเศษ และระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่ และเมืองให้เป็นไปตามผังเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาค” ในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566
ต่อยอดเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซีอยู่ระหว่างการเดินหน้าดำเนินงานภายใต้กรอบระยะที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 ที่วางเป้าหมายการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 ล้านล้านบาท เร่งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเต็มศักยภาพ 4.5-5.0% ต่อปี เพื่อให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2572 ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และบริการใหม่ๆ มีพื้นที่รองรับการลงทุนด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม กำลังเป็นต้นแบบให้ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ได้เดินตาม
ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เน้นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ดิจิทัล เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน
ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต
ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง – ตะวันตก ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี เน้นเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง และอุตสาหกรรมสินค้าไฮเทค เชื่อมโยงพื้นที่อีอีซี กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เน้นอุตสาหกรรมชีวภาพ และการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง และพัฒนาเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้า และโลจิสติกส์ของประเทศ รวมทั้งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวนานาชาติ
คงมีการตั้งคณะกรรมการ “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค” เพื่อบริหารและขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนจริงให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการจ้างงาน รวมทั้งนำเสนอสิทธิประโยชน์พิเศษเพื่อจูงใจนักลงทุน ดึงซอฟต์พาวเวอร์ของชุมชนขึ้นมาสนับสนุน ตลอดจนกระจายหรือจัดสรรงบประมาณลงไปตามพื้นที่ ซึ่งหลายฝ่ายคงให้การสนับสนุนนโยบายนี้อย่างเต็มที่ เพราะมั่นใจว่าโมเดลดังกล่าวจะช่วยดึงดูดการลงทุน กระจายความเจริญ และขยายฐานอุตสาหกรรมไปยังจังหวัดที่มีศักยภาพทั่วประเทศ
ผังอีอีซี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และ
ฉะเชิงเทรา ครอบคลุมพื้นที่ 30 อำเภอ รวม 30 ผัง ได้กำหนดพื้นที่รองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจไว้ 20 ปี แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ พื้นที่พัฒนาเมือง และชุมชนพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมพื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม และพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม คาดว่า การประกาศใช้ผังเมืองทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการต้องการลงทุนกิจการในพื้นที่ ที่ตรงกับผังอีอีซี ก็สามารถดำเนินการได้ทันที
ปัจจุบัน คลื่นนักลงทุนจีนที่ย้ายฐานมาเริ่มเห็นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะนักธุรกิจจีนกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และต่างให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากสงครามการค้ารวมทั้งความขัดแย้งในขั้วมหาอำนาจ ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตได้รับผลกระทบและมีความจำเป็นต้องหาแหล่งผลิตนอกประเทศจีน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการทำธุรกิจในอนาคต เมื่อผู้ผลิตเข้ามาแล้ว ยังพาอุตสาหกรรม และชิ้นส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตตามมาด้วย
ในช่วงถัดไป จะเห็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสีเขียวที่จะเข้ามาในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น อาทิ พลังงานสะอาด ทั้งโซลาร์เซลล์ พลังงานลม เทคโนโลยีแบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงาน หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น อีอีซีจึงต้องเร่งขับเคลื่อนแผนดึงดูดการลงทุน รวมทั้งอำนวยความสะดวกการลงทุนในแต่ละขั้นตอนให้เร็วขึ้น ท่ามกลางปัจจัยท้าทายคือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร คู่แข่งขันในอาเซียน ตลอดจนการพัฒนาทักษะแรงงานไทยให้สูงกว่าค่าแรงที่กำลังเร่งขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 20 กันยายน 2566