กองทุนน้ำมันติดลบแสนล้าน งัดกฎหมายคุมค่าตลาดเบนซิน
นโยบายลดราคาพลังงานทันทีทำกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอ่วมหนักจ่อติดลบ 100,000 ล้านบาท หลังราคาดีเซลตลาดโลกขยับขึ้น สกนช.จำเป็นต้องกู้เงินจากแบงก์ "ออมสิน-กรุงไทย-กรุงเทพ" อีก 50,333 ล้านบาท ขยายเวลาใช้หนี้ 5 ปี เสนอรัฐบาลดูแลราคาน้ำมันปีหน้าขยายเงินกู้รอบใหม่ ลดภาษีสรรพสามิต หรือขยับกรอบตรึงดีเซลสูงขึ้น “พีระพันธุ์” งัดกฎหมายคุมค่าการตลาดน้ำมันเบนซิน
จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ให้ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงประมาณ 2.50 บาทต่อลิตร (มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-31 ธ.ค 2566) เพื่อที่จะส่งผลให้น้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศลดลงไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ควบคู่ไปกับการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องจ่ายเงินอุดหนุนอยู่ระหว่างลิตรละ 2-8 บาทภายใต้นโยบายลดราคาพลังงานทันทีตามที่ได้หาเสียงกันเอาไว้นั้นปรากฏ
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นจากที่ประมาณการการลดภาษีสรรพสามิตในช่วงนั้นอยู่ที่ 87.27 เหรียญ/บาร์เรล แต่ในปัจจุบันราคาน้ำมันดิบได้ขยับขึ้นมาถึง 92.94 เหรียญ/บาร์เรล (ดิบดูไบ) ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลตลาดสิงคโปร์อยู่ที่ 125 เหรียญ/บาร์เรล
ด้านสถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ใช้อุดหนุนราคาพลังงานในประเทศก็ไม่ดีนัก จากเทอมเงินกู้ที่มีการออกพระราชกำหนดผ่อนผันให้ กระทรวงการคลัง ค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ที่วางกรอบไว้ 150,000 ล้านบาท ก็กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 5 ตุลาคม 2566
ล่าสุด สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ทยอยกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินไปแล้วรวม 105,333 ล้านบาท โดยปัจจุบัน สกนช.เบิกเงินกู้ยืมแล้ว 55,000 ล้านบาท และมีทำสัญญากู้เพิ่มอีก 50,333 ล้านบาท ยังคงเหลือวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้กู้อีก 44,667 ล้านบาท
กู้เพิ่ม 50,333 ล้านสนองนโยบายรัฐ :
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สกนช.ได้ทำสัญญาเงินกู้ 50,333 ล้านบาท จากสถาบันการเงิน 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงเทพ มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3% จากเดิมที่กองทุนน้ำมันฯได้กู้เงินมาแล้ว 55,000 ล้านบาท เพื่อมาใช้ในการดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ
โดยการทำสัญญากู้เงินครั้งนี้ยังไม่ถึงกรอบตามที่ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 วงเงิน 150,000 ล้านบาท หรือเหลืออีกประมาณ 40,000 ล้านบาท
สำหรับแผนการใช้เงินกู้หลังจากนี้ สกนช.จะทยอยเบิกเงินงวดละ 5,000 ล้านบาท เพื่อนำออกมา “ชดเชย” ช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับ 30 บาท/ลิตร ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2566 คิดเป็นการชดเชยเฉลี่ย 6-8 บาท/ลิตร ซึ่งจะใช้เงินประมาณ 10,000-12,000 ล้านบาท/เดือน โดยระดับราคาดีเซลเดือนกันยายนถึงสิงหาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 116.72 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาดีเซลสำเร็จรูปในตลาดโลกเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) 2566 ยังคงอยู่ที่ 103.69 เหรียญ/บาร์เรล
“แนวโน้มราคาดีเซลตอนแรก เราแถลงว่า ปี’66 จะไม่ร้อนแรงเหมือนปี 2565 แต่ล่าสุดปรับขึ้นมาอยู่ที่ 125 เหรียญ/บาร์เรล สะท้อนถึงความร้อนแรงของราคา ประกอบกับยังมีตัวแปรต่าง ๆ ที่จะต้องติดตามอีก 3-4 เรื่องในช่วงไตรมาส 4 นี้ด้วย ทั้งเรื่องของค่าเงินเหรียญสหรัฐ อัตราดอกเบี้ยจากการปรับขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) การขยายตัวเศรษฐกิจจีนที่เป็นประเทศผู้ใช้พลังงานสูง การประชุมกลุ่มโอเปกและโอเปก พลัส ในวันที่ 4 ตุลาคมจะมีปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่องหรือไม่ และค่าเงินบาทไทย ซึ่งปัจจุบันอ่อนค่ามาอยู่ที่ 37 บาท/เหรียญ ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลที่นำเข้ามีความผันผวน” นายวิศักดิ์กล่าว
ดีเซล 130 เหรียญกองทุนติดลบแสนล้าน :
อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปในตลาดโลกปรับขึ้นไปเฉลี่ย 130 เหรียญ/บาร์เรล สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคาดการณ์ว่า ในปีนี้กองทุนน้ำมันฯมีโอกาสจะติดลบถึง -90,000-100,000 ล้านบาท แต่ก็ยัง “ต่ำกว่า” ภาพรวมกองทุนน้ำมันฯในปี 2565 ที่เคยติดลบถึง -130,000 ล้านบาท เนื่องจากในขณะนั้นราคาน้ำมันดิบโลกปรับขึ้นไปสูงถึง 176 เหรียญ/บาร์เรล
“ปี 2566 ก่อนหน้านี้กองทุนน้ำมันฯติดลบอยู่ที่ -49,000 ล้านบาท และเคยเก็บเงินเข้ากองทุนได้ แต่ภายหลังจากการเลือกตั้งมีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้วยการนำภาษีสรรพสามิตที่คืนไป 5 บาท ทำให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯลดลง และยังมีการสนับสนุนเรื่องการตรึงราคาดีเซลจาก 32 บาทต่อลิตร เป็น 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2566 ขณะเดียวกันก็ยังตรึงราคาก๊าซหุงต้ม LPG อยู่ที่ถังละ 423 บาท ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบกว่า -65,000 ล้านบาท”
ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สุทธิ ณ วันที่ 1 ต.ค. 2566 ติดลบอยู่ที่ -65,732 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ -20,806 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ -44,926 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ผลจากการกู้เงินของ สกนช.ในรอบใหม่ที่ 50,333 ล้านบาทนั้น จะทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถบริหารจัดการราคาพลังงานต่อไปได้ไปจนถึงสิ้นปี 2566 แต่หลังจากนี้จะต้องมีการเตรียมแผนบริหารจัดการในเรื่องของการดูแลราคาน้ำมันในปี 2567 ต่อไป
โดยคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปในตลาดโลกจะเฉลี่ยอยู่ที่ 115-130 เหรียญ/บาร์เรล จากปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและโอเปกพลัส อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐยังคงทรงตัวสูง ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดย สกนช.เตรียมจัดทำแนวทางการดูแลเพื่อเสนอสู่การพิจารณาของ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566
“ซีนาริโอในการดูแลราคาน้ำมันปี 2567 จะสรุปให้ได้ภายใน พ.ย. มีหลายแนวทางคล้ายกับที่เคยดำเนินการในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นเราเคยตรึงราคาน้ำมันที่ 35 บาท โดยเข้าไปชดเชยให้ลิตรละ 14 บาท ตอนนั้นราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกปรับสูงขึ้นมาก แต่ตอนนี้ยังไม่สูงเท่ากับระดับปี 2565 แต่หากต้องเพิ่มการชดเชยจาก 8 บาท ไปจนถึง 10 บาทต่อลิตร ก็ยังพอรับได้”
ถกคลังเรื่องหนี้สาธารณะ :
สำหรับแนวทางที่จะดูแลราคาน้ำมันปี 2567 อาจจะ 1) การขอวงเงินกู้เพิ่มจากกระทรวงการคลัง เนื่องจากกรอบกู้เดิม 150,000 ล้านบาท พ.ร.ก.จะสิ้นสุด 5 ต.ค.นี้ 2) การปรับกรอบการตรึงราคาดีเซลจากปัจจุบันอยู่ที่ 30 บาท/ลิตร ให้ขึ้นไปให้สอดรับการราคาตลาดโลก 3) การลดภาษีเรื่องภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และ 4) การกำหนดมาตรการช่วยเหลือแบ่งเป็นรายเฉพาะกลุ่ม
“ทุกอย่างจะต้องกลับไป set zero กันใหม่ เรามีแผน 1 แผน 2 เพราะรัฐบาลให้ตรึงราคาดีเซล 30 บาท/ลิตร ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2566 แน่นอนว่าจะมีการหารือกับกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะ หาก สกนช.จะต้องมีการกู้เงินเพิ่ม ซึ่งในปี 2565 เราก็ขยายกรอบเงินกู้โดยใช้มาตรา 26 วรรค 3 จากเดิมที่กู้ได้ 20,000 ล้าน ก็ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาจนทำให้ขยายกรอบเป็น 150,000 ล้านบาท แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับระดับนโยบายตัดสินใจ” นายวิศักดิ์กล่าว
ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า การขอวงเงินกู้เพิ่มจะติดเพดานหนี้สาธารณะที่ไม่น่าจะขยายได้อีกต่อไปแล้ว ดังนั้นหากรัฐบาลยังคงยืนยันที่จะใช้นโยบายลดราคาน้ำมันดีเซล หลังวันที่ 1 มกราคม 2567 ต่อไป วิธีที่จะเป็นไปได้ก็คือ การลดภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นจนเต็ม 5 บาท/ลิตร หรือการขยายเพดานราคาน้ำมันดีเซลให้สูงกว่า 30 บาท/ลิตร ในขณะที่ฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเองก็จะไม่มีความสามารถในการก่อหนี้ได้อีก
แผนคืนหนี้เงินกู้ 5 ปี :
ต่อประเด็นที่ว่า หากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องติดลบในปีนี้ถึง 90,000-100,000 ล้านบาทแล้ว แนวทางจ่ายคืนเงินกู้จะทำอย่างไร นายวิศักดิ์อธิบายว่า สถานะของเงินหมุนเวียนของกองทุน ณ ปัจจุบันมีเงินไหลเข้ากองทุนวันละ 153.54 ล้านบาท และมีเงินไหลออกวันละ 573.48 ล้านบาท เท่ากับหักลบแล้ว เงินกองทุนเน็ตจะติดลบอยู่ที่ -419.94 ล้านบาท
ขณะที่การใช้คืนเงินกู้เวลา 5 ปี โดยในช่วง 2 ปีแรกของการกู้จะเป็นช่วงเกรตพีเรียดให้จ่ายเฉพาะ “ดอกเบี้ย” จะแบ่งเป็น การใช้ในส่วนของดอกเบี้ยที่จะเริ่มใช้คืนเดือนละ 160-170 ล้านบาท หรือสูงสุดประมาณ 200-240 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับการใช้เงินกู้ในแต่ละลอตว่า จะเบิกมาเท่าไร แต่ในส่วนของเงินต้นจะเริ่มชำระคืนหนี้กู้ก้อนแรกในเดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นเงิน 30,000 ล้านบาท
“กรณีที่เงินไหลเข้ากองทุนเพียงแค่วันละ 153 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เพียงพอกับการจ่ายดอกเบี้ยที่เดือนละ 160-170 ล้านบาทนั้นมองว่า ประเด็นนี้ทางกองทุนยังสามารถบริหารจัดการได้ เพราะยังมีเงินส่วนอื่นที่จะเข้ามาช่วยและมั่นใจว่าสถานะของกองทุนจะไม่ทำให้กองทุนเป็น NPL แน่นอน
เพราะจากในปี 2565 ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเคยติดลบ -130,000 ล้านบาทมาแล้ว แต่เมื่อระดับราคาน้ำมันลดลงก็สามารถดึงเงินกลับเข้ากองทุนและใช้หนี้ได้เร็วขึ้น” นายวิศักดิ์กล่าว
ใช้ กม.คุมค่าการตลาดน้ำมัน :
ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้หารือถึงแนวทางในการดูแลแก้ปัญหา “ค่าการตลาดน้ำมัน” ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการปรับลดราคาน้ำมันเบนซินลดลงได้ โดยจากนี้ไปจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อกำกับดูแลค่าการตลาดให้เป็นไปตามที่ กระทรวงพลังงาน กำหนด ไม่ว่าจะอัตราเท่าไรก็ตาม ซึ่งการแก้ไขกฎหมายอาจจะมีการกำหนดบทลงโทษด้วย เพราะน้ำมันเป็นสินค้าการเมือง มีผลต่อความมั่นคง หากผู้ใดไม่ปฏิบัติก็ต้องมีบทลงโทษ
“ขณะนี้ค่าการตลาดทุกอย่างถูกกำหนดอยู่ที่ไม่เกินลิตรละ 2 บาท แต่ประเด็นก็คือ จะกำกับดูแลอย่างไรให้ปฏิบัติตาม จากเดิมที่เป็นลักษณะขอความร่วมมือ แต่เมื่อราคาน้ำมันดิบลดลงในส่วนของราคาขายดีเซลลดลง แต่ราคาเบนซินสูงขึ้นไป 4-6 บาท จากค่าการตลาดน้ำมันที่สูงเกินกว่าที่กระทรวงกำหนดไว้ 2 บาท
โดยทาง สนพ.รายงานว่า ได้คำนวณค่าการตลาดจากพื้นฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกต้องแล้วคิดว่า ควรอยู่ที่ประมาณ 2 บาท/ลิตร แต่ผู้ประกอบการกำหนดค่าการตลาดสูงกว่า” นายพีระพันธุ์กล่าว
ส่วนการที่เอกชนมีข้อโต้แย้งเรื่อง “สูตรการคำนวณ” ค่าการตลาดที่แตกต่างกันระหว่างเอกชน และ สนพ.นั้น เป็นหน้าที่เอกชนต้องเอาข้อมูลมาหารือกับเราว่า ต้นทุน เขาเป็นเท่าไร เพื่อที่เราจะปรับได้ แต่เอกชนกลับไม่ยอมเปิดเผยและบอกว่า เป็นความลับทางการค้า เมื่อกระทรวงขอดูรายละเอียดไม่สามารถเปิดเผยได้ และมาบอกว่าที่ สนพ.คำนวณ ไม่ถูกต้องตรงกัน ดังนั้นจึงต้องมาหารือในวันนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไรและอาจจะต้องแก้กฎหมาย
“ประเด็นการเข้าไปดูแลค่าการตลาดน้ำมันจะไม่ไปกระทบต่อกลไกตลาดเสรีของการขายน้ำมัน ไม่กระทบอะไรขนาดนั้น อย่าไปเชื่อมากเลย นักธุรกิจนักลงทุน ถ้าไม่มีกำไรเค้าไม่ทำหรอก ถ้ายังทำอยู่ก็แปลว่า ยังมีกำไร” นายพีระพันธุ์กล่าว
ทั้งนี้ ค่าการตลาดน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2566 แก๊สโซฮอล์ 95 E10 อยู่ที่ 3.4506 บาท/ลิตร, แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 3.6546 บาท/ลิตร, E20 อยู่ที่ 3.7406 บาท/ลิตร และ E85 อยู่ที่ 4.0714 บาท/ลิตร ซึ่งจัดว่า สูงมาก ส่วนความคืบหน้าของการปรับลดราคาค่าไฟงวด 3 เหลือ 3.99 บาท/หน่วยนั้น ได้ประกาศไปหมดแล้ว ใครไม่ทำตามก็จะมีความผิดตามกฎหมาย “ปตท. และ กฟผ. ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องทำตามมติ ครม. ซึ่งไม่มีปัญหา กฟผ.ก็ยืดเวลาจ่ายหนี้ออกไป”
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 4 ตุลาคม 2566