3 นักวิทย์คว้ารางวัลโนเบลสาขาเคมี จากผลงานควอนตัมดอท
ฮานส์ เอลเลเกรน เลขาธิการราชบัณฑิตสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 2566 ให้กับ มุนกี บาเวนดี ชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเอ็มไอที หลุยส์ บรูส์ ชาวอเมริกันเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และอเล็กซี เอกีมอฟ ชาวรัสเซีย ที่ทำงานให้กับบริษัทนาโนคริสตัลส์ เทคโนโลยี จากผลงานของพวกเขาในการค้นพบและสังเคราะห์สิ่งที่เรียกว่า “ควอนตัมดอท”
อนุภาคนาโนและควอนตัมดอทเป็นสิ่งที่นำไปใช้ในหลอดไฟแอลอีดีและจอโทรทัศน์แอลอีดี ทั้งยังถูกนำไปใช้โดยศัลยแพทย์ในการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อมะเร็งออก
ทั้งนี้ เว็บไซต์ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ อธิบายความหมายของควอนตัมดอท (Quantum dots) ว่า หมายถึงสสารประเภทหนึ่งที่มีขนาดในระดับนาโนเมตร (10-9 นาโนเมตร) เป็นสสารที่มีอะตอมจำนวนมากอยู่รวมกัน มีคุณสมบัติพิเศษคือเรืองแสงได้ดีและเปลี่ยนสีที่เรืองแสงได้ตามขนาด ส่วนประกอบและพลังงานที่ใช้กระตุ้น นอกจากนั้น ยังเสถียรต่อการจางหายไปของการเรืองแสง (Photobleaching)
ควอนตัมดอทนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ทางการแพทย์ ใช้สำหรับย้อมสีเซลล์สิ่งมีชีวิตเพื่อให้เซลล์นั้น ๆ สามารถเรืองแสงช่วยในการติดตามวิเคราะห์ทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้น หรือนำมาใช้ในเชิงเทคโนโลยีในการช่วยเปลี่ยนความยาวคลื่นแสง ทำให้เปลี่ยนสีในหลอดไฟ LED ได้ง่ายขึ้น จากคุณประโยชน์ที่มากมายนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังนำควอนตัมดอทมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายแขนง เป็นอีกหนึ่งในนาโนวัสดุที่น่าสนใจแห่งอนาคต
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้มีประเด็นที่กลายเป็นข่าวหลังจากสถาบันราชบัณฑิตสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ได้เผยแพร่ชื่อของนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 คนที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปีนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 4 ตุลาคม 2566