IMF เตือนวิกฤตอสังหาฯจีนและการย้ายฐานการผลิตกัดกร่อนเศรษฐกิจเอเชีย
IMF เตือนว่าการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกซึ่งกำลังอ่อนแรงอาจโดนกัดกร่อนจากวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน บวกกับผลกระทบจากการกระจายความเสี่ยงและย้ายฐานผลิตกลับประเทศของสหรัฐและพันธมิตรที่อาจทำให้ผลผลิต (output) ของเอเชียซึ่งมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับเศรษฐกิจจีนลดลงมากถึง 10% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
วันที่ 13 ตุลาคม 2023 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า นักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนอาจกัดกร่อนแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งกำลังเห็นสัญญาณของการฟื้นตัวที่อ่อนแรงลงไป
“ในระยะเวลาอันใกล้นี้ การปรับตัวอย่างรวดเร็วในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้มหาศาลของจีน และการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะแผ่ขยายไปยังภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการเชื่อมโยงทางการค้าอย่างใกล้ชิดกับจีน” ยาน แคร์ริเออร์-สวอลโลว (Yan Carrière-Swallow) และกฤษณะ ศรีนิวาสัน (Krishna Srinivasan) เขียนในรายงานที่เผยแพร่ในวันที่ 13 ตุลาคม ในงานประชุมประจำปีของ IMF และธนาคารโลก ที่ประเทศโมร็อกโก
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าวว่า จีนสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้ปัญหางบดุลของรัฐบาลท้องถิ่นแพร่กระจายไปได้ด้วยการใช้นโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เหมาะสม เช่น การช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบปัญหา และให้การสนับสนุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ
IMF บอกอีกว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังเผชิญกับอุปสรรค (headwind) ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่บางประเทศกำลังกระจายห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดความเสี่ยงและย้ายการผลิตกลับประเทศ
ในรายงานเขียนอธิบายว่า ในสถานการณ์คาดการณ์ทางลบที่กลยุทธ์ ‘ลดความเสี่ยง’ (de-risking) และ “ย้ายการผลิตกลับประเทศ” (re-shoring) เข้าครอบงำ ผลผลิต (output) ของเอเชียแปซิฟิกซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเศรษฐกิจจีนมากที่สุดอาจลดลงถึงมาก 10% ในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้
ก่อนหน้านี้ IMF ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเอเชียแปซิฟิกในปี 2024 ลงเหลือ 4.2% โดยปรับลดลงจาก 4.4% ในการคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายน 2023 ส่วนประมาณการปี 2023 ยังคงไว้ที่โต 4.6% เป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นจาก 3.9% ในปี 2022
“การประเมินในแง่ดีน้อยลงของเรานั้นขึ้นอยู่กับสัญญาณการชะลอตัวของการเติบโตและการลงทุนในไตรมาสที่ 3 ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอลงเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เช่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่น และการชะลอตัวของการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในจีน”
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ก็ยังมีบางประเด็นที่มองในแง่ดี นั่นคือภาวะเงินเฟ้อ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกจะกลับสู่ระดับเป้าหมายของธนาคารกลางในปีหน้า ซึ่งเร็วกว่าในภูมิภาคอื่น ๆ ที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมายได้อย่างเร็วที่สุดในปี 2025 – ไม่มีทางเร็วไปกว่านั้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 13 ตุลาคม 2566