ค่าเงินในอาเซียนร่วงหนัก หวั่นซ้ำรอย "ต้มยำกุ้ง"
เมื่อ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา แบงก์ชาติอินโดนีเซียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบ "เซอร์ไพรส์" อีก 0.25 จุด ทำให้ดอกเบี้ยอ้างอิงขึ้นไปอยู่ที่ 6% ทั้ง ๆ ที่นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดพากันคาดการณ์ว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ หรือไม่ก็อาจหวนกลับไปใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในต้นปีหน้านี้ด้วยซ้ำไป
ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในอินโดนีเซียกำลังชะลอลง อัตราเงินเฟ้อล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา อยู่ที่เพียง 2.28% เกือบเท่ากับระดับต่ำสุดของอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่แบงก์ชาติกำหนดไว้สำหรับปี 2023 ที่ระหว่าง 2-4%
แล้วทำไมอินโดนีเซียต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คำตอบก็คือ ทางการอินโดนีเซียจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อป้องกันไม่ให้ “ค่าเงินรูเปียห์” ร่วงลงไปหนักกว่าที่เป็นอยู่ หลังจากเงินรูเปียห์ร่วงลงสู่ระดับ 15,800 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ อันเป็นระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2020 เป็นต้นมา
ปัญหาก็คือ หลังจากความเคลื่อนไหวแบบเซอร์ไพรส์ตลาดของอินโดนีเซีย บรรดาผู้สันทัดกรณีพากันเตือนว่า บรรดาประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่น ๆ อาจจำเป็นต้องเคลื่อนไหวไปในทำนองเดียวกันกับอินโดนีเซีย ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อป้องกัน “ค่าเงิน” ของตนเอง ที่ร่วงระนาวเป็นทิวแถวเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์
ทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศต้องการการกระตุ้นด้วยนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากกว่าด้วยซ้ำไป
ว่ากันว่า “ฟิลิปปินส์” อาจเดินตามรอยมาเป็นประเทศแรก ต่อด้วยไทยกับมาเลเซียและประเทศอื่น ๆ ทั้งในกลุ่มอาเซียนและเพื่อนบ้านในเอเชียด้วยกัน
ค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในอาเซียน อ่อนค่าลงมาโดยตลอดเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ตั้งแต่ต้นปีเรื่อยมา ค่าเงินรูเปียห์ร่วงลงหนักที่สุด จนถึงขณะนี้ รูเปียห์อ่อนค่าลงไปแล้วมากถึงราว 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ สาหัสมากกว่าค่าเงินบาทไทยเกือบ 2 เท่าตัว เงินริงกิตของมาเลเซียก็ไม่น้อยหน้า อ่อนค่าลงไปแล้วมากกว่า 8.5% ในปีนี้
ค่าเงินเปโซของฟิลิปปินส์ แกว่งตัวอยู่ในระดับ 57 เปโซต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่แบงก์ชาติฟิลิปปินส์กำหนดไว้ว่า จำเป็นต้อง “ป้องกัน” เพื่อไม่ให้อ่อนค่าหนักยิ่งขึ้นไปอีก
ซ้ำร้ายอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในฟิลิปปินส์ก็เร่งเร็วขึ้นไปอยู่ที่ 6.1% ในเดือนกันยายนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเป็นการพุ่งขึ้นจากระดับ 5.3% ของเดือนสิงหาคมอีกด้วย
ค่าเงินที่ถูกลง เอื้อต่อการส่งสินค้าออกและการท่องเที่ยวก็จริง แต่ในทางกลับกันก็ยิ่งทำให้มูลค่าของการนำเข้าพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่การส่งออกก็ได้รับประโยชน์ได้ไม่เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น เพราะตลาดที่เคยส่งออก กำลังมีปัญหา โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างจีนที่เกิดปัญหาชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนอย่างยิ่ง มูลค่าการส่งออกจึงลดลงตามลำดับ
ที่สำคัญก็คือ การที่ค่าเงินอ่อนตัวลงต่อเนื่องกันนาน ๆ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินทุนไหลออก ในขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอย่าง “น้ำมัน” ก็ปรับตัวสูงขึ้นจากสงคราม 2 ครั้งในรอบ 3 ปี และความตึงเครียดในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่เขม็งเกลียวมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งสัญญาณให้เห็นว่า เส้นทางไปสู่การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังคงต้องรออีกนานไม่น้อย
ยิ่งไปกว่านั้น เฟดหรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา ก็ยังคงส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ต่อไป หากมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกจริง ค่าเงินดอลลาร์ก็จะแข็งค่ามากขึ้น เงินจะไหลออกไปยังสหรัฐอเมริกามากยิ่งขึ้น เพราะในเวลานี้ ผลตอบแทนการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐอเมริกาพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 17 ปีแล้ว
ขณะที่ต้นทุนการนำเข้าพลังงาน อาทิ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น เพราะค่าเงินสกุลท้องถิ่นอ่อนค่าลง ก็อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศเหล่านี้พุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง เพราะศึกกาซาไม่เพียงยังคาดการณ์
ไม่ได้เท่านั้น แต่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวลุกลามมากขึ้นอีกด้วย
สภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นที่มีความเป็นไปได้สูงเช่นในตอนนี้ จะส่งผลกระทบต่อประเทศที่มีภาระหนี้สูงมากเป็นพิเศษ ไม่เพียงแต่ส่งผลในทางลบต่อหนี้ครัวเรือนเท่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อหนี้ภาครัฐ และดุลชำระเงินของประเทศได้เช่นเดียวกัน
ทำให้ช่วยไม่ได้ที่ในเวลานี้มีนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งออกมาแสดงความวิตกว่า อาจมีบางชาติในอาเซียนกำลังเดินซ้ำรอย “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 1997 อีกครั้งหนึ่งแล้ว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566