จีน "เท" พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อเนื่อง ถือครองต่ำสุดในรอบ 14 ปี หมายความถึงอะไร?
จีนลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 40% สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี ณ สิ้นเดือนสิงหาคม ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า หากจีนยังคงลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อไปอาจเป็นปัจจัยกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ได้
โดยตามข้อมูลจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคม จีนถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ที่ 8.05 แสนล้านดอลลาร์ ลดลงถึง 40% จากทศวรรษก่อนหน้า
ทำไมจีนเทบอนด์สหรัฐฯ?
Nikkei Asia รายงานว่า นักวิเคราะห์บางคนมองว่าปรากฏการณ์นี้เป็นผลมาจากความพยายามของทางการจีนที่จะหนุนเงินหยวนที่ตั้งแต่ต้นปี (YTD) อ่อนค่าไปราว 5.6% (ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน) ขณะที่นักวิเคราะห์ก็มองว่าเป็นเพราะราคาของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ตกต่ำลง หรืออัตราผลตอบแทน (Yield) ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
Torsten Slok นักเศรษฐศาสตร์จาก Apollo Global Management กล่าวเมื่อต้นเดือนตุลาคมว่า บางทีจีนอาจอยู่เบื้องหลังการเพิ่มขึ้นของ Bond Yield ระยะยาวของสหรัฐฯ ท่ามกลางการลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องของจีน หลังจากเข้าถือครองแตะจุดสูงสุดเมื่อปี 2013
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับมุมมองของ Slok โดยโต้แย้งว่าจีนอาจโอนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ถือครองไปยังผู้รับฝากทรัพย์สิน (Custodian) ในต่างประเทศโดยไม่ต้องขาย
จีนประสบภาวะเงินทุนไหลออก :
ปัจจุบันจีนกำลังเผชิญกับภาวะเงินทุนไหลออก (Capital Flight) ครั้งร้ายแรง เนื่องจากนักลงทุนต่างกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและปัญหาหนี้ทุกภาคส่วนของจีน
ในเดือนกันยายน จีนประสบกับเงินทุนไหลออกสูงถึง 7.5 พันล้านดอลลาร์ นับเป็นการไหลออกรายเดือนที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2016
โดยตามคาดการณ์ของ Goldman Sachs ภาวะนี้จะทำให้เกิดแรงกดดันต่อค่าเงินหยวน
ตั้งแต่ปี 2015 ปักกิ่งได้ใช้เงินหลายแสนล้านดอลลาร์จากทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพื่อแทรกแซงตลาดเมื่อเงินหยวนอ่อนค่า
การสะสมเงินทุนสำรองจีนถูกกดดันจากการตัดสัมพันธ์ของตะวันตก
โดยนักวิเคราะห์ยังประเมินต่อว่า ด้วยความต้องการรักษาระดับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในปัจจุบันไว้ รัฐบาลจีนอาจกดดันให้ธนาคารภายใต้การกำกับดูแลของรัฐออกหน้าสนับสนุนเงินหยวนเอง
ทั้งนี้ เงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีน ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของการซื้อพันธบัตรรัฐบาล ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นเหมือนในอดีต เนื่องจากการเติบโตของการส่งออกชะลอตัว และปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศลดลง ท่ามกลางความพยายามของประเทศตะวันตกในการลดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนที่เพิ่งจะเริ่มมีผลเท่านั้น
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566