ตามติดภารกิจ 1 วันใน สปป.ลาว ปานปรีย์เร่งสานต่อข้อหารือผู้นำ2ชาติ เดินหน้าลดอุปสรรค-เพิ่มการค้าการลงทุน
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือน สปป.ลาว เป็นประเทศที่ 5 ในการเยือนชาติสมาชิกอาเซียนตามธรรมเนียมปฏิบัติของผู้นำใหม่ของไทย แม้เวลาในการเยือนจะเกิดขึ้นเพียง 1 วัน โดยนายกรัฐมนตรีได้เข้าเยี่ยมคาราวะ นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ หารือกับ นายไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติ และหารือข้อราชการกับ นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี ก่อนที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองจะเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ที่จะเป็นช่องทางในการเดินทางที่จะช่วยส่งเสริมการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนรวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศในอนาคต
แม้จะเป็นการเยือนที่กินเวลาเพียงไม่นาน แต่นายกรัฐมนตรีทั้งสองก็ได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในประเด็นสำคัญหลากหลากประเด็น โดยในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือทวิภาคีกับนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการให้เป็นไปตามผลการหารือระหว่างผู้นำสองประเทศ และพูดคุยถึงความร่วมมือในช่วงที่ลาวจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2567


รัฐมนตรีทั้งสองได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันพิเศษระหว่างไทย – ลาว ที่เป็นบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีความผูกพันใกล้ชิดกันในทุกด้าน โดยการเยือนลาวของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำความใกล้ชิดดังกล่าว และเป็นการสานต่อพลวัตที่ดีของความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยลาวจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ลาว ครั้งที่ 23 ในปี 2567 ขณะที่นายปานปรีย์ได้เชิญนายสะเหลิมไซเยือนไทย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับด้วยความยินดี
ไทยและลาวให้ความสำคัญอย่างมากกับการเพิ่มปริมาณการค้าให้บรรลุเป้าหมายการค้าที่ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.6 แสนล้านบาท ในปี 2568 โดยไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมแผนความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าลาวในปี 2567 เพื่อกำหนดแนวทางอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน นอกจากนี้ ไทยพร้อมที่จะจัดการการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าแขวง ไทย-ลาว ในช่วงต้นปี 2567 เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างจังหวัดและแขวงชายแดน


ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำความจำเป็นในการผลักดันให้กลไกทวิภาคีที่เกี่ยวข้องกับโครงการความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อผลักดันให้โครงการต่างๆ มีความคืบหน้าตามกรอบเวลาที่ผู้นำสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน ได้แก่ การเริ่มก่อสร้างโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 (หนองคาย – เวียงจันทน์) ก่อนปี 2569 ซึ่งไทยพร้อมให้การสนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษหรือการสนับสนุนรูปแบบอื่น และการขยายบริการรถไฟข้ามแดนจากหนองคายไปถึงสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ภายในต้นปี 2567 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟลาว – จีนให้สะดวกยิ่งขึ้น
ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อลดระยะเวลาและต้นทุนของการเปลี่ยนถ่ายสินค้า ทั้งทางรางและทางถนน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของสองประเทศและภูมิภาค และจะร่วมมือกันเร่งรัดให้มีการจัดตั้งพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area: CCA) บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) เพื่อลดขั้นตอนด้านพิธีการศุลกากร ณ จุดผ่านแดนดังกล่าว และส่งเสริมการคมนาคมขนส่งระหว่างไทย – ลาว – เวียดนาม โดยนายปานปรีย์ได้เสนอให้มีการฟื้นคณะทำงานเฉพาะกิจร่วมไทย-ลาวด้านขนส่งทางถนน เพื่อหาข้อสรุปในแต่ละประเด็นโดยเร็วภายในต้นปีหน้า
ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายจะผลักดันให้หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของสองประเทศเร่งจัดทำแผนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันในโอกาสปีแห่งการท่องเที่ยว สปป.ลาว ในปี 2567
นายปานปรีย์ยังได้หารือกับนายสะเหลิมไซเกี่ยวกับประเด็นที่ลาวจะให้ความสำคัญในการเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า โดยได้เน้นย้ำความพร้อมของไทยที่จะสนับสนุนลาวอย่างเต็มที่อีกด้วย
ในโอกาสนี้ นายปานปรีย์ยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ (Vientiane Logistics Park: VLP) เพื่อหารือแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดอุปสรรค และอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าทางรถไฟไทย – ลาว – จีน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสำคัญ
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาการขนส่งสินค้าผ่านลาวยังมีอุปสรรคด้านราคาที่ค่อนข้างสูง มีการเก็บค่าธรรมเนียมเรื่องการบริหารจัดการต่างๆ จนทำให้ต้นทุนการขนส่งผ่านระบบรางไม่ได้ถูกกว่าขนส่งผ่านทางรถ และกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจนหรือไม่เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งทางผู้บริหาร VLP ยืนยันว่าได้เร่งหาทางแก้ไขและพูดคุยกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพยายามที่จะตั้งศูนย์กักกันพืชและสัตว์ร่วมกับจีน เพื่อให้มีการตรวจในจุดเดียว ก่อนที่จะกระจายสินค้าไปยังมณฑลต่างๆ ของจีนได้
ขณะที่นายปานปรีย์กล่าวว่า โครงการดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการค้าไม่เพียงแต่ไทย-ลาว แต่ยังเป็นประโยชน์สำหรับการค้าในอาเซียนในอนาคตด้วย และเห็นว่านโยบายของลาวที่เปลี่ยนประเทศจาก Land-locked เป็น Land-linked เป็นนโยบายที่ถูกต้อง การพัฒนาพื้นที่เช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ดี และหากบริหารจัดการได้ตามมาตรฐานสากลก็จะทำให้การค้าขายเลื่อนไหลได้ดีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีไม่ใช่เพียงแต่การค้าขายของไทย ลาว และจีนเท่านั้น


นายปานปรีย์กล่าวด้วยว่า ความร่วมมือระหว่างไทยกับลาวเป็นเรื่องสำคัญมาก เราพัฒนาความร่วมมือทั้งในด้านการค้า การเมือง ความมั่นคง แต่ความร่วมมือในด้านการค้าโดยเฉพาะความเชื่อมต่อระหว่างประเทศ โลจิสติกส์ การขนส่ง และรถไฟ จะต้องมีความร่วมมือระหว่างกันเพิ่มขึ้นจากความร่วมมือที่ผ่านมาที่มีความใกล้ชิดกันอยู่แล้ว
แน่นอนว่าหากลดทอนปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นได้จริง และหากทำให้การขนส่งระบบรางมีต้นทุนที่ถูกกว่าการขนส่งทางรถอย่างที่ควรจะเป็น บวกกับมีความรวดเร็วในการตรวจตราสินค้าโดยเฉพาะผลไม้ต่างๆ ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักอย่างหนึ่งของไทยไปยังจีน ก็จะช่วยส่งเสริมให้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้น และเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศได้อย่างที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าไว้
นอกจากนี้ นายปานปรีย์ยังได้พบปะกับกลุ่มนักธุรกิจไทยในลาว เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและรับฟังปัญหาต่างๆ ที่พวกเขาประสบพบเจอ โดยได้ขอให้นักธุรกิจไทยในลาวช่วยรวบรวมประเด็นปัญหาต่างๆ ขึ้นมาให้ชัดเจน และรัฐบาลจะได้นำไปหารือกับทางการลาวเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพวกเขาต่อไป
นายปานปรีย์ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางกลับไทยว่า ได้หารือกับนายสะเหลิมไซในรายละเอียดตามที่ได้ตกลงกันว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันขึ้น เพื่อที่จะได้มีการนำ เพื่อที่จะได้มีการนำปัญหาต่างๆ ที่ได้หารือกันมาแก้ไขต่อไป
“เราได้ตกลงกันว่าจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมชุดใหม่ขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาหลายเรื่องร่วมกันเสียก่อน จากนั้นจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นอีกหลายชุด สิ่งที่เคยมีในอดีตต้องมาทบทวนกันใหม่เพราะขณะนี้สถานการณ์โลกและสถานการณ์ในภูมิภาคเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงสถานการณ์การเงินและการค้า เพื่อที่คณะกรรมการชุดนี้จะมาคุยกันใหม่ว่าเราจะทำอะไรกันบ้าง” นายปานปรีย์กล่าว
ขณะที่ในภาพรวมของการเยือน สปป.ลาวของนายกรัฐมนตรีนั้น นายปานปรีย์กล่าวว่า ทางการลาวให้การต้อนรับอย่างดีมาก ผลการเยือนเป็นที่น่าพอใจ การหารือในรายละเอียดเรื่องต่างๆ ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลลาวเป็นอย่างดี
เป็น 1 วันที่อัดแน่นไปด้วยภารกิจมากมาย เพื่อกระชับความร่วมมือที่แน่นแฟ้นอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นโดยมีประโยชน์ของทั้งสองประเทศเป็นหลัก และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าที่ 3.6 แสนล้านบาทในอีก 2 ปีข้างหน้าตามที่ตั้งเป้าไว้ได้จริง
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566