ที่มาของวันคนโสด "11.11" ก่อนจะกลายเป็น "วันชอปปิ้งบันลือโลก"
วันที่ 11 พ.ย. เวียนมาอีกครั้ง วันนี้ขาชอปรู้จักกันดีว่าเป็นวันแห่งการชอปปิ้งที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน เรียกกันว่า "วันคนโสด" (Singles Day) เนื่องจากเลข 1 ของวันและเดือนที่มีอยู่ถึง 4 ตัวเรียงกัน (11.11) นั่นเอง
วันคนโสด 11 พฤจิกายน ที่เริ่มต้นจากประเทศจีนนั้น ถือเป็นหมุดหมายในปฏิทินนักชอป นี่คือเทศกาลซึ่งมีมูลค่าการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าของผู้บริโภคมากกว่า มหกรรมชอปปิ้ง ใดๆในโลก โดยสามารถเเซงหน้าการชอปปิ้งของวัน Black Friday ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีในเดือนพ.ย.เช่นเดียวกันได้อย่างสบาย ๆ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า วันชอปปิ้ง 11.11 ที่ตรงกับวันเสาร์นี้ (11 พ.ย.) มีจุดเริ่มต้นเพื่อฉลองความเป็นโสด ถือว่าเป็นเทศกาลมุมกลับของวันวาเลนไทน์ และต่อมาการฉลองความเป็นโสดได้ขยายผล กลายเป็นช่วงเวลาแห่งการจับจ่ายยาวนานหนึ่งสัปดาห์ในปัจจุบัน โดยมีวันที่ 11 พ.ย. เป็นจุดพีคของเทศกาล
จากวันที่เปลี่ยวเหงากลายเป็นวันชอปกระจาย
ย้อนกลับไปเมื่อปีค.ศ.1993 หรือ 30 ปีก่อน กล่าวกันว่า “วันคนโสด” เริ่มต้นขึ้นที่มหาวิทยาลัยหนานจิง โดยในช่วงเวลานั้น ชาวจีนเรียกวันที่ 11.11 ว่า "Bachelor's Day" ซึ่งหมายถึงวันของผู้ชายที่ไม่มีภรรยา โดยตามประเพณี คนที่เป็นโสดจะใช้วันนี้ซื้อของปรนเปรอตนเองและจัดงานปาร์ตี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป การชอปปิ้งในวันที่ 11.11 ได้กลายมาเป็นไฮไลต์หลักของเทศกาลนี้ ขอเพียงให้เป็นนักชอปไม่ว่าจะโสดหรือไม่โสดก็ตาม
11.11 เทศกาล "วันคนโสด" มีชื่อเรียกในภาษาจีนกลางว่า "กวงกุ้นเจี๋ย" ( 光棍节 ) โดยคำว่า"กวงกุ้น" ( 光棍 ) ในภาษาจีนนอกจากจะมีความหมายว่า ท่อนไม้ แล้ว คำสแลงยังแปลว่า คนโสด และที่เรียกวันที่ 11 เดือน 11 เป็นวันคนโสดก็เพราะตัวเลข 1 สี่ตัว
ดูเหมือนท่อนไม้สี่ท่อนนั่นเอง และกิจกรรมสำคัญวันนี้ตามความเชื่อที่ถือเป็นสิ่งนำโชคก็คือ การกินปาท่องโก๋ 4 ตัว กับซาลาเปา 1 ลูก โดยปาท่องโก๋ 4 แท่งก็เป็นตัวแทนของเลข 1 ทั้ง 4 ตัว และซาลาเปาก็คือ จุด (.) ที่อยู่ตรงกลางนั่นเอง (11.11)
นอกจากวันที่ 11 เดือน 11 แล้ว ยังมีวันคนโสด อีก 3 วัน เป็นเทศกาลย่อยๆ ให้อีกนั่นก็คือ
วันที่ 1 เดือน 1 วันที่ 11 เดือน 1
วันที่ 1 เดือน 11 ถือเป็นวันเทศกาลกลาง
และวันที่ 11 เดือน 11 เป็นวันเทศกาลใหญ่ เพราะมีเลข 1 ถึง 4 ตัว
แต่ถ้าปีไหนตัวเลขของปีลงท้ายด้วยเลข 11 ก็จะเรียกว่าเป็น "ซูเปอร์เทศกาลโสด"อย่างเช่น วันที่ 11 พ.ย. 2011 ซึ่งหลังจากนั้น ก็จะมีซุปเปอร์เทศกาลคนโสดอย่างนี้อีกครั้งในอีก 100 ปีข้างหน้า
จุดประสงค์ของการจัดวันคนโสด 11.11 ขึ้นก็เพื่อเปิดโอกาสให้คนไร้คู่ คนโสดทั้งหลาย ได้ออกมาสังสรรค์ หรือนัดพบกับเพศตรงข้ามเพื่อหาคู่ หรือได้ทำความรู้จักกันนั่นเอง
อย่างไรก็ดีแม้ว่าวันนี้จะเป็นวันคนโสด แต่ก็มีคู่รักหนุ่มสาวหลายคู่ที่เลือกวันนี้เป็นวัน "สละโสด"นัยว่าเพื่อเป็นการแก้เคล็ดหรือความเป็นมงคลเช่นกัน เพราะไม่ใช่แค่แต่คนโสดเท่านั้นที่ออกมาช้อปปิ้ง แต่คนที่มีคู่ หรือคนที่มีครอบครัวแล้วก็คือโอกาสใช้มหกรรมวันคนโสดนี้ซื้อของถูกด้วยเช่นกัน
เทศกาล"วันคนโสด"กลายเป็นวันช้อปปิ้งระดับโลกเมื่อ บริษัทอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีน ได้จัดมหกรรมชอปปิ้งออนไลน์แบบกระหน่ำลดราคาขึ้นในวันนี้เป็นครั้งแรกในปี 2552 และจัดต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นมา ความสำเร็จของอาลีบาบาทำให้เว็บไซต์จำหน่ายสินค้าออนไลน์ต่างก็ใช้โอกาสวันนี้ออกมาจัดมหกรรมลดราคาสินค้าเพื่อดึงดูดคนโสด และคนที่ชอบซื้อสินค้าราคาถูกเพื่อส่งเสริมการขายกันในวันนี้ จนเรียกได้ว่าเป็นวันช้อปปิ้งออนไลน์ครั้งใหญที่สุดแห่งปี
ปลุกกระแสการช๊อปสนั่นโดย “อาลีบาบา”
ยอดขายสินค้าของอาลีบาบาเมื่อวัน 11.11 ครั้งแรกนั้นอยู่ที่ราวๆ 200 ล้านบาท แต่ต่อมาก็ไต่ระดับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างยอดขายในปี 2562 ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันมาก คืออาลีบาบาสามารถกวาดยอดขายออนไลน์แตะระดับ 10,000 ล้านหยวน (ประมาณ 43,000 ล้านบาท) ด้วยเวลาเพียง 1.36 นาทีเท่านั้น และตลอดวัน 11.11 ในปี 2562 บริษัทสามารถทำยอดขายรวม 268,400 ล้านหยวน (38,400 ล้านดอลลาร์) หรือคิดเป็นเงินไทยในอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้นกว่า 1.16 ล้านล้านบาท
ข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาการตลาด เบน (Bain) เปิดเผยว่า ยอดขายสินค้าในวันคนโสด 11.11 มีมูลค่าสูงถึง 1.15 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 5.5 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา (2565) ซึ่งสถิติดังกล่าวนับว่าแซงหน้ายอดขายสินค้าในช่วงวัน Black Friday ถึง Cyber Monday ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการชอปปิ้งในสหรัฐอเมริกา เมื่อปีที่ผ่านมา มากกว่าสี่เท่า
โดยปกติแล้วช่วง Black Friday ถึง Cyber Monday ซึ่งคือ คืนวันศุกร์ถึงวันจันทร์หลังวันขอบคุณพระเจ้าของสหรัฐในเดือนพ.ย. นับเป็นมหกรรมชอปปิ้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา แต่ปีที่ผ่านมาก็ทำยอดขายได้เพียงราว 1.7 ล้านล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของจีนที่แผ่วลงนับตั้งแต่ช่วงที่เกิดโควิดแพร่ระบาดตามด้วยภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้การเติบโตของยอดขายสินค้าช่วงเทศกาล 11.11 ชะลอลงตามไปด้วย โดยเมื่อปีที่เเล้วขยายตัวเพียง 3% ถือว่าน้อยที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูล
นอกจากนี้ มหกรรมชอปปิ้งในวันคนโสดยังถูกแย่งความน่าตื่นเต้นไปเนื่องจากมีคู่แข่งที่เป็นวันอื่นๆ ผุดขึ้นมา โดยเทศกาลซื้อของที่เป็นเทรนด์ใหม่ ๆ ในประเทศจีนนั้น ได้แก่วันชอปกลางปี หรือที่เรียกว่าเทศกาล "618" ที่ตอนนี้มาแรง ถือเป็นช่วงแห่งการจับจ่ายใช้สอยขนาดใหญ่อันดับสองของจีนเมื่อมองในแง่มูลค่ายอดขาย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566