ผันผวนสูง! เงินบาทพลิก "อ่อนค่าลง" หลังค้าปลีกสหรัฐเขยิบขึ้น จับตายอดว่างงานพุ่งพรวด
ค่าเงินบาทพลิกอ่อนค่าลง หลังราคาทองคำย่อตัว รับผลตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐดีกว่าคาด
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.52 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.45 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.70 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงและแกว่งตัวเหนือโซนแนวรับหลัก 35.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในช่วง 35.42-35.68 บาทต่อดอลลาร์) หลังรายงานยอดค้าปลีกของสหรัฐออกมาดีกว่าคาดเล็กน้อย ขณะเดียวกัน รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทค้าปลีกสหรัฐ อาทิ Target, TJ Max ก็ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐอยู่
แม้ภาพดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ย ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไปจากช่วงหลังรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI อย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงิน อยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ต่อได้ ซึ่งส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ รีบาวด์ขึ้นบ้าง ขณะเดียวกันก็กดดันให้ราคาทองคำพลิกกลับมาย่อตัวลงสู่โซนแนวรับระยะสั้น ซึ่งผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำบ้างและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
นายพูนกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท อาจแกว่งตัว sideway ใกล้โซนแนวรับหลัก 35.50 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา โดยในระหว่างวัน ควรระวังความผันผวนจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมีโอกาสหาจังหวะทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์แรงของหุ้นไทยได้บ้าง ขณะที่ฟันด์โฟลว์ในฝั่งตลาดบอนด์ อาจยังพอมีโอกาสได้ลุ้นว่า นักลงทุนต่างชาติยังเดินหน้าซื้อบอนด์ไทยต่อได้บ้าง
นอกจากนี้ ทิศทางราคาทองคำก็เป็นอีกปัจจัยที่อาจกระทบต่อเงินบาทได้เช่นกัน โดยในกรณีที่ราคาทองคำ สามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับ 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับแนวต้านระยะสั้นใกล้ 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ผู้เล่นในตลาดก็อาจทยอยขายทำกำไรได้ ในทางกลับกัน หากราคาทองคำย่อตัวลงต่อเนื่องหลุดโซนแนวรับดังกล่าว และย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจเห็นแรงซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวกลับมาอีกครั้ง กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้บ้าง
ทั้งนี้ หากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับหลัก 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ เราประเมินว่าโซนแนวรับถัดไปอาจอยู่ในช่วง 35.30 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง เราประเมินว่าเงินบาทก็อาจติดโซนแนวต้านแถว 35.80 บาทต่อดอลลาร์
“ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง แนะนำผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และการเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) เพื่อบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง” นายพูนกล่าว
นายพูนกล่าวว่า สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจอยู่ที่ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐ หลังจากที่ในช่วงระยะหลังนี้ ยอดดังกล่าว โดยเฉพาะ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Claims) ได้ปรับตัวสูงขึ้น และออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนภาพการจ้างงานที่ชะลอตัวลงมากขึ้น
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้งเฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) พร้อมกับรอติดตามประเด็นการเมืองสหรัฐ ว่าสภาคองเกรสจะสามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะ Government Shutdown ได้หรือไม่ หลังร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว สามารถผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนฯได้
“พร้อมกันนี้ ผู้เล่นในตลาดก็จะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทค้าปลีก อาทิ Walmart, Macy’s, GAP ซึ่งจะช่วยสะท้อนภาพการใช้จ่ายในฝั่งสหรัฐ ได้เพิ่มเติมจากรายงานผลประกอบการของบริษัทค้าปลีกก่อนหน้า” นายพูนกล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566