ลอยกระทงปี 2566 คึกคัก เงินสะพัดทะลุ 1 หมื่นล้านบาท ในรอบ 8 ปี
ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจพบลอยกระทงปี 2566 คึกคัก คาดเงินสะพัดลอยกระทงปีนี้ ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท แต่หมื่นล้านครั้งแรกรอบ 8 ปี ส่วนเงิน “ดิจิทัลวอลเลต” คนส่วนใหญ่เห็นด้วย
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยพฤติกรรม และการใช้จ่ายของผู้บริโภคช่วงวันลอยกระทง สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,240 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 14-20 พฤศจิกายน 2566
พบว่าบรรยากาศคึกคัก และสนุกสนานกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้มีเงินสะพัด หรือมูลค่าการใช้จ่ายมากถึง 10,000.5 ล้านบาท เป็นมูลค่าแตะระดับหมื่นบาทครั้งแรกในรอบ 8 ปีนับจากปี 2559 และมีอัตราการขยายตัว 3.3% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีมูลค่าใช้จ่าย 9,686 ล้านบาท


ซึ่งส่วนใหญ่นำเงินเดือน/รายได้ปกติมาใช้ รวมถึงเงินออมด้วย โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ จะหมดไปกับค่าเดินทาง รับประทานอาหารนอกบ้าน ทำบุญ ช็อปปิ้ง ซื้อกระทง ซื่อเครื่องดื่มทั้งมีแอลกอฮอล์และไม่มี ซื้อชุดไปงานลอยกระทง ท่องเที่ยว สำหรับมูลค่าเงินสะพัดดังกล่าวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร มากถึง 47.4% บอกเท่าเดิม, 311% เพิ่มขึ้น และอีก 21.5% ลดลง
โดยกลุ่มที่เพิ่มขึ้น เพราะราคาสินค้าแพง มีกิจกรรมที่ต้องเสียเงินเยอะขึ้น มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจดีขึ้น หนี้สินลดลง รายได้เพิ่ม รายได้จากงานพิเศษเพิ่มขึ้น มั่นใจรายได้ในอนาคต ส่วนกลุ่มที่ใช้จ่ายลดลง เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น รายได้ลด หนี้สินเพิ่ม ค่าครองชีพเพิ่ม ต้องการประหยัด เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ไม่มั่นใจรายได้ในอนาคต ตกงาน
“แม้ค่าใช้จ่ายสูงสุดรอบ 8 ปี และประชาชนรู้สึกสนุกกว่าปีก่อน แต่ยังคนระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะคนตอบว่า ใช้จ่ายลดลงจากปีก่อน มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า คนยังรายได้ไม่พอใช้จ่าย ราคาสินค้าแพง สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เด่นชัด แต่คนก็รู้สึกว่า เศรษฐกิจไม่แย่ เพียงแค่มีสัญญาณนิ่ง ๆ ซึม ๆ อยู่ในช่วงชะลอตัว
แต่คนก็ยังหวังว่าไตรมาส 4 ปีหน้าเป็นต้นไป เศรษฐกิจจะฟื้น เพราะเงินดิจิทัล จะเริ่มใช้จ่ายเดือน พ.ค. 2567 ซึ่งจะช่วยกระตุก กระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับ การส่งออก และการท่องเที่ยวที่คาดจะดีขึ้นกว่าปีนี้ ส่วนปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 2.4-2.5%”
ดิจิทัล 10,000 บาท :
หอการค้าไทยสำรวจทัศนะต่อสถานการณ์ทั่วไปในปัจจุบัน ภายใต้เงื่อนไขที่จะได้รับเงินดิจิทัลวอลเลต ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นด้วยรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินดิจิทัล และมากถึง 94.4% อยู่ภายใต้เงื่อนไขได้รับเงินดิจิทัล มีเพียง 5.6% ไม่ได้รับ ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้มี 22.7%
สำหรับกลุ่มที่ได้รับเงินดิจิทัล มากถึง 71.6% จะลงทะเบียนรับสิทธิ์ และอีก 28.4% ไม่ลงทะเบียน เพราะไม่สะดวกกลับไปใช้สิทธิในพื้นที่ตามทะเบียนบ้าน, ไม่อยากให้รัฐบาลกู้เงินมาใช้เพราะจะเป็นหนี้สู่ลูกหลาน, เงินส่วนใหญ่จะกลับไปสู่ผู้ประกอบการรายใหญ่, ยุ่งยากในการใช้, กังวลข้อมูลรั่วไหล และกลัวถูกมิจฉาชีพหลอก
ส่วนเมื่อถามว่า เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.เงินกู้ เพื่อนำมาใช้ในโครงการนี้หรือไม่ มากถึง 50.6% ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการก่อหนี้ระยะยาว, เป็นภาระให้คนรุ่นหลัง, คอร์รัปชั่นได้ง่าย และอีก 49.4% เห็นด้วย เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ, ช่วยคนมีรายได้น้อย, ช่วยเพิ่มกำลังซื้อ
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยน้อยที่จะเริ่มต้นใช้เดือน พ.ค. 2567, ใช้เงินภายในอำเภอตามทะเบียนบ้าน, ระยะเวลาใช้ 6 เดือน, ใช้ซื้อของผ่านออนไลน์ไม่ได้, ร้านค้าต้องอยู่ในระบบภาษี, เงื่อนไขการได้รับสิทธิ์ที่กำหนดเงินเดือนไม่เกิน 70,000 บาท และมีเงินในบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท
นอกจากนี้ ยังสอบถามมาตรการลดค่าครองชีพ ทั้งลดราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน ลดค่าไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่า ช่วยลดค่าครองชีพได้มาก และส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2567
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566