ส.อ.ท.-กระทรวงพาณิชย์ส่งสัญญาณอุตสาหกรรมไทยยังวิกฤต
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย-กระทรวงพาณิชย์ จับมือร่วมกันฝ่าวิกฤต "ภูมิธรรม" รับปากช่วยแก้ทุกอุปสรรค ขอให้เดินหน้าแบบเอกชนนำรัฐหนุน มั่นใจดันภาคอุตสาหกรรมไทยโตได้ทรุด
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ “2024 สมรภูมิการค้า ที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัว” ภายในงาน FTI Executive Thank You Dinner ว่าทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว อยู่เฉยไม่ได้ ยิ่งทำธุรกิจต้องตามโลกให้ทัน ปี 2567 สมรภูมิการค้าที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัว และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เดินทางไปร่วมงาน CIIE ที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งจีนได้ประกาศจะเป็นตลาดของโลก ไม่ใช่โรงงานของโลกอีกต่อไป เป็นช่องทางที่ไทยจะเปิดตลาดได้ ด้วยวิธีการค้าเชิงรุกเร่งสร้างสัมพันธ์กับมณฑลเพื่อเปิดตลาด เปิดพื้นที่ให้เอกชนได้คุยธุรกิจร่วมกันโดยรัฐบาลจะสนับสนุน
นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณบวกที่ดีจากการจะเข้ามาลงทุนของไมโครซอฟท์ และกูเกิล หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อดึงภาคเอกชนใหญ่เข้ามา ซึ่งจะช่วยเร่งให้ไทยมีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ หลังจากหยุดนิ่งมานาน
ขณะที่กติกาการค้าของโลกเปลี่ยนไป ปี 2567 จะมีหลายเรื่องถูกบังคับใช้ เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน การสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าที่เป็นธรรม ยั่งยืน ดังนั้น อุตสาหกรรมไทยไม่ปรับตัวก็จะลำบาก นอกจากนี้ การกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานก็สำคัญ ซึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 และสงครามใหม่ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อาทิ รัสเซีย-ยูเครน และอามาส-อิสราเอล ทำให้เรียนรู้ว่าภาคอุตสาหกรรมต้องมีแหล่งวัตถุดิบและแหล่งผลิตที่หลากหลาย ไม่ผูกติดรวมอยู่ที่เดียว
ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนภาคธุรกิจ โดยแบ่งภารกิจ 3 ด้าน ได้แก่
1)การพัฒนาผู้ประกอบการ เช่น ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์
2)การปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล 3.การส่งเสริมการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยตามกติกาการค้าใหม่ของโลก
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความท้าทายของเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากวิกฤตรอบด้าน (Polycrisis) ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Digital Transformation) สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี (Trade War & Tech War) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (Recession) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมาภาคธุรกิจพยายามปรับตัวเพื่อก้าวข้ามความท้าทายด้วยการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ
และทางรอดคือ การที่เอกชนต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน รักษาศักยภาพของอุตสาหกรรมไว้ และเดินหน้าสู่ Next-GEN Industries อุตสาหกรรมใหม่ด้วย
1)การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (High Technology) เช่น ยานยนต์แห่งอนาคต
2)การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วย BCG Model 3.การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคอุตสาหกรรม
สำหรับภารกิจสำคัญของ ส.อ.ท.จะยังคงผลักดันการดำเนินงานต่าง ๆ ต่อเนื่องในปี 2567 อาทิ งาน Foreign Industrial Club (FIC) เวทีในการหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และบริษัทต่างชาติ, โครงการอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะต้นแบบ SAI in Bangkok, โครงการกองทุนอินโนเวชั่นวัน, การรับรองสินค้าที่ผลิตในไทย Made in Thailand (MiT)
ตลาดออนไลน์สินค้าทุกอุตสาหกรรม FTIebusiness.com ตลาดแบบ B2B, การเปิดแพลตฟอร์ม FTIX ซื้อขายคาร์บอนเครดิตแห่งแรกในเอเปค, สถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีน (TCEII) เพื่อส่งเสริมขยายตลาดการค้าระหว่างไทยกับจีน, งานความร่วมมือเพื่อเตรียมความพร้อมพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของภาคธุรกิจ (Skill Mapping) และงาน FTI Executive Thank You Dinner
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566