"แลนด์บริดจ์ใต้" คุ้มค่าหรือไม่ "ใครได้-เสีย" และแหล่งเงินที่จะใช้ลงทุน
แม้ว่าขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะยังศึกษาความเป็นไปได้โครงการ "แลนด์บริดจ์ใต้" ระนอง-ชุมพร หรือโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ เรียกสั้นๆ ว่า สะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) จะยังไม่แล้วเสร็จ แต่รัฐบาลก็พยายามที่จะผลักดันโครงการดังกล่าวอย่างเต็มที่
เพราะภายหลังจากที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ สนข.เดินหน้าศึกษาโครงการแล้ว ทาง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็เดินหน้าผลักดันโครงการดังกล่าวอย่างเต็มที่ จะเห็นได้จากกรณีที่เมื่อมีการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อร่วมประชุมต่างๆ นั้น ก็จะโรดโชว์เพื่อเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนโครงการดังกล่าวอย่างเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นที่จีน สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ล่าสุดที่เดินทางไปหารือกับนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ที่จังหวัดสงขลา ก็ยังมีการหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยด้วย
โดยโครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1 ล้านล้านบาท จะแบ่งการพัฒนาออกเป็นระยะๆ (เฟส) เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่และมีมูลค่าสูง ตามแผนนั้นโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดบริหารได้ทั้งหมดภายในปลายปี 2573
ขณะที่รัฐบาลเดินหน้าผลักดันนั้น ก็เกิดคำถาม ว่า จะนำเงินจากที่ไหนมาพัฒนา เพราะรัฐบาลก็จะต้องใช้งบจำนวน 500,000 ล้านบาท มาแจกเงินดิจิทัลด้วย ขณะที่โครงการแลนด์บริดจ์เฟสแรกจะต้องใช้วงเงินถึง 522,844.08 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 3 ส่วนประกอบด้วย
1.ก่อสร้างท่าเรือ 2 ฝั่ง มูลค่ารวม 260,235.51 ล้านบาท แบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 118,519.50 ล้านบาท รองรับ 4 ล้านทีอียู ก่อสร้างท่าเรือฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 141,716.02 ล้านบาท รองรับ 6 ล้านทีอียู
2.พื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) มูลค่ารวม 60,892.56 ล้านบาท แบ่งเป็น พื้นที่ฝั่งชุมพรมูลค่าลงทุน 38,113.45 ล้านบาท พื้นที่ฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 22,779.11 ล้านบาท
3.เส้นทางเชื่อมโยง มูลค่ารวม 201,716 ล้านบาท ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์ขนาด 4 ช่องจราจร และรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร และขนาด 1.435 เมตร
นอกจากคำถามดังกล่าวแล้ว คำถามต่อมาก็คือ ใครได้ ใครเสีย และใครคุ้มค่าที่สุด หากพัฒนาโครงการดังกล่าวขึ้นมาแล้ว เพราะโครงการนี้พัฒนาเพียงแค่ 2 จังหวัด คือ ชุมพรและระนอง แม้ว่ารัฐบาลจะบอกว่าโครงการนี้เป็นการเปิดประตูเศรษฐกิจของภาคใต้ก็ตาม
เป็นเรื่องที่ยังต้องรอรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง มาตอบคำถามเรื่องนี้
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566