"สุรเกียรติ์ เสถียรไทย" แนะทางออกไทย ท่ามกลางโลกปั่นป่วน ควรมีจุดยืนอย่างไร
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่โรงแรมคิง เพาเวอร์ รางน้ำ สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ จัดงานสัมมนา Prachachat Business Forum 2024 ฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลง โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในเสวนาพิเศษ หัวข้อ “Geopolitic Outlook” ว่า ความจริงแล้วเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์นั้น เกิดฝุ่นตลบมานานแล้ว เพราะมีสงครามรูปแบบใหม่ ที่เรียกกันว่าสงครามเศรษฐกิจ ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา กับ จีน รวมทั้งมีสงครามดั้งเดิม หรือ การทำสงครามโดยใช้อาวุธและยุทธวิธีทางการทหาร (conventional warfare) เกิดขึ้นใน 3 ปีที่ผ่านมา
“ถ้าเชิญผมมาพูดบนเวทีเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมคงบอกว่าสงครามแบบดั้งเดิม บุกรุกดินแดนนั้นคงไม่เกิดดขึ้นแล้ว คงจะมองว่า รัสเซียไม่มีทางส่งกองกำลังบุกยูเครน แต่มาในวันนี้ก็มีการทำสงคราม รัสเซียบุกยูเครนเรียบร้อยแล้ว และการยังมีอยู่จนมาถึงวตอนนี้ รวม 3 ปีมาแล้ว แต่ที่สำคัญคือ สงครามแบบใหม่กับแบบดั้งเดิมนั้น มีปฏิสัมพันธ์กัน เกี่ยวข้องกัน และมีผลกระทบโดยตรง”ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว
ฉายภาพสั้นๆ เลย คือ เรื่องที่ 1 สงครามเศรษฐกิจ ต่างฝ่ายต่างเรียกหาเพื่อน อาทิ จีนมีหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ (One Belt, One Road-อี้ไต้อี้ลู่) เชื่อมโยงประเทศต่างๆ เข้าพวกตัวเอง ด้านสหรัฐก็ทนไม่ไหว หาทางที่จะต้านจีน จีนที่กำลังจะร่วมมือกับกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง สหรัฐจึงส่งญี่ปุ่นมารวมมือกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง แต่ไม่มีจีน และตอนที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ก็ส่งเกาหลีใต้ มาประเทศลุ่มแม่น้ำโขง สหรัฐเองก็ออกตัวมาขอความร่วมมือกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงด้วย มีทุกคนแต่ไม่มีจีน ดังนั้น จีนจึงมาขอความร่วมมือ ทางลุ่มน้ำโขง-ล้านช้างกับไทยเรา
ต่อมา พออาเซียน กับอินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรียเลีย นิวซีแลนด์ จับกลุ่มเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุด 16 ประเทศ คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ดังนั้น สหรัฐ โดยนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ ก็เปลี่ยนใหม่ เป็น กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (indo pacific economic framework หรือ IPEF)) คือการรวมมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าด้วยกัน หมายถึง อินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐ ร่วมกันต้านจีน
“สิ่งที่เกิดขึ้นมานั้น คือสิ่งที่ทำให้ไทยเดือดร้อน เพราะจีนก็บอกให้ไทย ร่วมนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง สหรัฐก็บอกให้ไทยร่วม กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ซึ่งอาเซียนเข้าร่วม 7 ประเทศ ไม่ใช่ 10 ประเทศ ทำให้ในอาเซียนกันเองก็เริ่มปริแตก จีนก็เริ่มบ่นว่าทำให้ไทย อาเซียนไปร่วมกับ IPEF ทั้งๆ ที่ก็อยู่ใน RCEP” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวอีกว่า เรื่องที่ 2 คือ กลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) ประกอบด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน ที่ตั้งมานานแล้ว แต่ว่าก็ยังไม่เดินหน้ามาก แต่ตอนหลังก็ถูกเร่งด้วยสงครามดั้งเดิม อาทิ ปัญหารัสเซียกับยูเครน ส่งผลราคาพลังงานสูง เกิดภาววะเงินเฟ้อทั่วโลก ส่วนไทยที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ก็ต้องขยับดอกเบี้ยตามไปด้วย เพราะกลัวเงินไหลออก เป็นต้น แม้ว่าจุดที่เกิดปัญหาจะอยู่ไกล แต่ไทยเราก็ได้รับความเดือนร้อนด้วย
รวมทั้งเรื่องสงคราม อิสราเอล-ฮามาส รวมถึง การเกิดกลุ่ม กบฏฮูตี ยิงจรวดที่ทะเลแดงใส่เรือสินค้าสหรัฐ และอังกฤษ ด้านสหรัฐและอังกฤษก็ร่วมมือกัน โต้ตอบ ด้วยการยิงจรวดไปที่เยเมน อิรัก เลบานอน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่อิหร่านอยู่ข้างหลัง ดังนั้น จึงจะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือสงครามตัวแทน และสิ่งที่เกิดขึ้นที่ทะเลแดง ทำให้เรือส่งสินค้าผ่านไม่ได้ จึงต้องไปอ้อมแหลมกู้ดโฮป ที่แอฟริกาตอนใต้ ทำให้เกิดปัญหาค่าระวางเรือขึ้นทันที
ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น รัสเซียถูกสหรัฐอเมริกา แซงก์ชั่น หลายคนต้องคิดว่า เศรษฐกิจรัสเซียต้องแย่แน่ แต่ที่จริงแล้วเศรษฐกิจรัสเซียกลับยังมีการเติบโต แถมมากกว่าไทยอีก เพราะว่าแม้จะขายพลังงานไม่ได้ แต่จีนบอกเดี๋ยวรับซื้อเอง และ อินเดีย เวเนซุเอลา อิหร่าน แม้จะถูกห้าม แต่เป็นประเทศยากจนที่ต้องการพลังงานที่ถูกที่สุดจากรัสเซีย และแม้ว่ารัสเซียเข้ามาใช้ระบบการโอนเงินสวิฟต์ไม่ได้ ประเทศที่ยังซื้อพลังงานก็เปลี่ยนไปใช้ทาธุรกรรมด้วยเงินหยวน ของจีน หรือ ระบบ CIPS แทน หรือในกลุ่มอินโด-แปซิฟิก อินเดีย ก็ค้าขายก็รัสเซียอยู่ก็ต้องหาทางทำธุรกรรมผ่านสกุลเงินอื่นนอกจากดอลลาร์สหรัฐ
“ดังนั้น สงครามสมัยใหม่ การกีดกันทางการค้า จนสู่สงครามการแข่งขันด้านเทคโนโลยี และการพัฒนาสีเขียว ขณะที่สงครามดั้งเดิมก็ยังเกิดขึ้นตลอด อาทิ ข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งใกล้ประเทศไทย ดังนั้นจะไปโม้ว่าอาเซียนดีน่าลงทุน คงไม่มีใครอยากมา รวมทั้งที่เกิดขึ้นที่คาบสมุทรเกาหลี ที่เกาหลีเหนือประกาศพร้อมรบ แต่ไม่รู้รบกับใคร ดังนั้นสิ่งที่ว่ามาใกล้บ้านเรามากแล้ว ขนาดที่เกิดที่รัสเซียกับยูเครนไกลบ้านเรา ยังเดือดร้อนขนาดนี้ แสดงให้เห็นว่าโลกกำลังปั่นป่วน ไม่มีระบบเศรษฐกิจ การเมือง โลกสหประชาชาติก็ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งผมคาดว่าปีนี้ก็คงจะหนักขึ้น ทั้งการค้า เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และเรื่องสงคราม” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวต่อว่า สำหรับจุดยืนของประเทศไทยนั้น ต้องดูว่า โลกกำลังปั่นปวน ซึ่งเราจะอยู่เฉยๆ ท่ามกลางความปั่นป่วนได้ไหม ทุกคนก็มาชวนเราเข้าพวกหมด และไทยก็ชอบพูดว่าเราเป็นกลางเพื่อความสบายใจ แต่ความเป็นจริงแล้ว คำว่าเป็นกลาง (neutral)ในความหมายต่างชาตินั้น ทำให้ไทยเราเสียหายทันที เสียความเชื่อมั่น เสียประเทศพันธมิตรไป เพราะตามหลักแล้วเราเป็นกลาง หมายถึง จะไม่เป็นคู้ขัดแย้ง แต่ต้องเลือกในทางที่ถูกต้องด้วย เพราะฉะนั้น อยู่เฉยๆก็ไม่ได้ จะพูดผลีผลามไปก็ไม่ดี
“ดังนั้น เราต้องมีจุดยืน อยู่เฉยๆ ไม่ได้ ดังนั้น 1 ไทยเราต้องเป็นเพื่อนกับทุกคน เข้าใจความเปลี่ยนแปลง เข้าใจความอ่อนไหวของสถานการณ์ที่ซับซ้อน 2.หลายเรื่องต้องพยายามที่จะตัดสินใจให้ได้ ซึ่งต้องระวังถ้าตัดสินใจผิดก็พังได้ 3.หลายเรื่องเราต้องปรับจุดยืน อาทิ เรื่องเมียนมา ก็ต้องดูชั่งน้ำหนักเรื่อง ความเป็นประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน จะปล่อยให้มีเรื่องการเข่นฆ่ากัน และการอพยพหนีคงไม่ได้” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 20 มีนาคม 2567