IMF คาดการณ์ ศก.โลกขยายตัวปานกลางปี 67-68 แรงหนุนจากยุโรป-จีนเริ่มฟื้นตัว
IMF เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้า คาดว่าจะเดินหน้าขยายตัวในระดับปานกลางที่อัตรา 3.2% และ 3.3% ตามลำดับ ท่ามกลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ชะลอตัวลง และสถานการณ์ในยุโรปที่เริ่มฟื้นตัว ขณะที่การบริโภค-การส่งออกของจีนจะกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แม้ว่ายังมีปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ รออยู่ข้างหน้า แต่ รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก World Economic Outlook (WEO) ฉบับปรับปรุงล่าสุดในเดือนกรกฎาคม ที่ออกโดย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (16 ก.ค.) ระบุว่า ในช่วงปี 2567 และ 2568 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเดินหน้าขยายตัวในระดับปานกลาง ท่ามกลางบริบทที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐชะลอตัวลง แต่สถานการณ์ในยุโรปจะเริ่มฟื้นตัว ขณะที่การบริโภคและการส่งออกของจีนจะกลับมาแข็งแกร่งขึ้นอีกครั้ง
รายงานฉบับปรับปรุงใหม่ล่าสุดของ IMF คาดการณ์ใกล้เคียงกับฉบับก่อนหน้าที่ออกมาเมื่อเดือนเมษายนว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโต 3.2% ในปี 2567 และ 3.3% ในปี 2568 รายงานฉบับนี้ยังเตือนด้วยว่า ภาวะเงินเฟ้อในภาคบริการจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้การปรับลดของเงินเฟ้อในภาพรวมชะลอตัว ซึ่งนั่นจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายการเงิน หมายความว่าอาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย หรืออย่างน้อยกระบวนการปรับลดดอกเบี้ยอาจจะต้องล่าช้าออกไป พร้อม ๆ กับทำให้ภาวะค่าเงินดอลลาร์แข็งเป็นตัวกดดันเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ด้วย
ทั้งนี้ IMF คงคาดการณ์จีดีพีโลกในปีนี้ (2567) ไว้ที่ 3.2% เหมือนกับที่คาดไว้ในเดือนเมษายน แต่ปรับตัวเลขของปีหน้า (2568) ขึ้นเล็กน้อย 0.1% เป็น 3.3% และคงตัวเลขคาดการณ์ของสหรัฐอเมริกาไว้ที่ 1.9% เพราะตลาดแรงงานที่ลดความร้อนแรงลง รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐของสหรัฐที่ลดลงตามแนวนโยบายการเงินแบบตึงตัว
นอกจากนี้ รายงานของ IMF ยังได้ปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นการปรับค่อนข้างมากจาก 4.6% ที่ประเมินไว้เมื่อเดือนเมษายน เป็น 5.0% ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับการคาดการณ์ของรัฐบาลจีน โดยอ้างถึงการฟื้นตัวของภาวะการบริโภคและการส่งออกที่แข็งแกร่งมากขึ้น ส่วนตัวเลขคาดการณ์ของเศรษฐกิจจีนในปีหน้า (2568) มีการปรับขึ้นจาก 4.1% เป็น 4.5%
สำนักข่าวรอยเตอร์ยังรายงานด้วยว่า ในส่วนของเศรษฐกิจยุโรป รายงานล่าสุดของ IMF ปรับตัวเลขคาดการณ์จีดีพีของปีนี้เพิ่มขึ้น 0.1% เป็น 0.9% แต่คงตัวเลขปีหน้าไว้ที่ 1.5% โดยให้เหตุผลว่า
เศรษฐกิจของประเทศในยุโรปได้ฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดแล้ว เนื่องจากการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของธุรกิจภาคบริการในครึ่งปีแรก และการปรับขึ้นของค่าจ้างที่แท้จริง (real wage) ซึ่งจะช่วยส่งพลังให้กับภาวะการบริโภคในปีหน้า และทำให้เกิดการผ่อนคลายด้านนโยบายทางการเงินต่อไปเพื่อช่วยส่งเสริมการลงทุน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 19 กรกฏาคม 2567