วิกฤติ "เหล็กจีน" ทะลัก กดราคาดิ่งหนัก ทั่วโลกเล็งสอบกรณีทุ่มตลาด
KEY POINTS
* จีนส่งออกเหล็กเพิ่มขึ้น 24% ในปีนี้ กดดันกำไร Nippon Steel ผู้ผลิตเหล็กยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นหายไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท
* ราคาเหล็กม้วนรีดร้อนในอาเซียนร่วงหนัก จาก 700-900 ดอลลาร์ต่อตัน ในปี 2564 เหลือ 510-520 ดอลลาร์ต่อตันในปัจจุบัน
* ทั่วโลกเริ่มพิจารณาสอบสวนกรณีเหล็กจีนทุ่มตลาดเพิ่มขึ้น โดยมี 10 กรณีเกี่ยวข้องกับจีน
สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานว่า ยอดการส่งออกเหล็กของจีนพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตเหล็กจีนระบายสินค้าส่วนเกินสู่ตลาดต่างประเทศ ท่ามกลางความต้องการภายในประเทศที่ซบเซา ทำให้บางประเทศเริ่มพิจารณาการสอบสวนการทุ่มตลาดของเหล็กจีน
จีนส่งออกเหล็ก 53 ล้านตัน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้น 24% จากปีก่อน โดยคาดว่ายอดส่งออกทั้งปีอาจใกล้เคียงกับสถิติสูงสุดที่ 110 ล้านตัน ที่เคยทำไว้ในปี 2558 เนื่องจากความต้องการภายในประเทศที่อ่อนแอ ทำให้บริษัทเหล็กจีนจึงหันมาพึ่งพาการส่งออกเพื่อระบายสินค้าคงคลัง
ในปี 2566 จีนมีการส่งออกเหล็กแผ่นคุณภาพสูงเพิ่มขึ้นกว่า 40% เป็นกว่า 20 ล้านตัน และในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ โดยตัวเลขการส่งออกอยู่ที่เกือบ 12 ล้านตัน
จีนส่งออกเหล็กม้วนรีดร้อนเพิ่มขึ้นทำให้ราคาในตลาดตกต่ำ ตามข้อมูลจากบริษัทเหล็ก ระบุว่า ราคาเหล็กม้วนรีดร้อนในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วงลงอย่างหนัก โดยราคารวมค่าขนส่งในช่วงปี 2564 อยู่ที่ 700-900 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ตอนนี้ราคาขายอยู่ที่ประมาณ 510-520 ดอลลาร์ต่อตันเท่านั้น
นอกจากนี้ ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าระยะสั้นสำหรับเหล็กม้วนรีดร้อนในตลาด Chicago Mercantile Exchange ก็ลดลงเช่นกัน จากราคาสูงกว่า 1,000 ดอลลาร์ต่อตันเมื่อปลายปี 2566 ในปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 660 ดอลลาร์ต่อตันเท่านั้น
เหล็กจีนทะลักตลาดโลกเกิดผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของ “ญี่ปุ่น” โดยบริษัทนิปปอนสตีล(Nippon Steel)ได้กล่าวในการแถลงผลประกอบการเมื่อเดือนพ.ค.ว่า ราคาเหล็กในตลาดโลกที่ลดลง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการหลั่งไหลของผลิตภัณฑ์จากจีน ทำให้กำไรสำหรับปีงบประมาณ 2567 ลดลง 573 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท) จากปีก่อนหน้า
แม้ว่าปริมาณเหล็กที่จีนส่งออกจะมีค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตเหล็กดิบทั้งหมดของจีนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านตัน แต่ในฐานะที่จีนเป็นผู้ผลิตเหล็กดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณการผลิตเหล็กดิบทั้งโลกที่ 1.89 พันล้านตันในปี 2566 ดังนั้น หากความต้องการเหล็กภายในประเทศจีนลดลง กำลังการผลิตส่วนเกินเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อตลาดโลกได้
ไม่ใช่ครั้งแรกที่ 'เหล็กจีน’ ทะลัก :
ครั้งล่าสุดที่ปริมาณเหล็กส่งออกของจีนพุ่งสูงขึ้นในปี 2559 ทำให้เหล่าผู้นำโลกได้หารือกันเรื่องการกำจัดกำลังการผลิตส่วนเกินในเวทีการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 7 ประเทศ (G7) และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ (G20)
ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งเวทีการประชุมฟอรัมเหล็กโลกเพื่อแก้ไขปัญหากำลังการผลิตเหล็กส่วนเกิน (Global Forum on Steel Excess Capacity: GFSEC)
อย่างไรก็ตาม จีนได้ถอนตัวออกจาก GFSEC ในปี 2562 โดยอ้างว่าได้บรรลุภารกิจที่ตั้งไว้แล้ว โดยกำลังการผลิตเหล็กของจีนซึ่งเคยลดลงระหว่างปี 2559 ถึง 2561 ก็เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ กำไรของผู้ผลิตเหล็กจีนก็กำลังทรุดตัวลงเช่นกัน ตามรายงานตามข้อมูลของศูนย์วิจัย Sumitomo Corp. Global Research โดยทางการจีนได้ทำการสำรวจผู้ผลิตเหล็ก และบริษัทการค้าภายในประเทศในเดือนเมษายน พร้อมกับการประกาศแคมเปญระดับประเทศเพื่อควบคุมการผลิตเหล็กดิบ แต่ดูเหมือนว่าการลดการผลิตยังไม่ประสบความสำเร็จ สะท้อนจากการผลิตเหล็กดิบที่เพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือนพ.ค.
นอกจากนี้มีบางคนให้ความเห็นว่ารัฐบาลท้องถิ่นของจีนต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาการว่างงาน และภาวะการเงินไม่ให้เลวร้ายไปมากกว่านี้ จึงยังคงสนับสนุนการผลิตเหล็กไว้เหมือนเดิม
ทั่วโลกเล็งสอบกรณี 'เหล็กจีน’ ทุ่มตลาด :
การนำเข้าเหล็กของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนเป็นเวลา 15 เดือนติดต่อกันจนถึงเดือนเม.ย. โดยการนำเข้าจากจีนพุ่งสูงขึ้น 86%
การส่งออกทางอ้อมที่ผ่านประเทศที่สามหรือผ่านการแปรรูปเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดกำลังสร้างความกังวลในหลายประเทศ โดยจำนวนการสอบสวนการทุ่มตลาดทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 5 กรณีในปีที่แล้ว (3 กรณีเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์จีน) เป็น 14 กรณีในปีนี้ โดยมี 10 กรณีเกี่ยวข้องกับจีน แต่ทว่าจำนวนการสอบสวนยังคงต่ำกว่าปี 2558 และ 2559 ที่มีมากถึง 39 กรณี
โตรุ นิชิฮามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยไดอิจิ ไลฟ์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการส่งออกเหล็ก และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าของจีนว่า จีนกำลังย้ายฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ไปต่างประเทศ ทำให้การส่งออกเหล็ก และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนไปยังประเทศเหล่านั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ส่งเสริมยุทธศาสตร์ "กำลังการผลิตคุณภาพใหม่" โดยมุ่งเน้นไปที่การขยายการลงทุนในผลิตภัณฑ์ขั้นสูง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและปัญญาประดิษฐ์ ทำให้บริษัทเหล็กรายใหญ่เพิ่มกำลังการผลิตแผ่นเหล็กสำหรับมอเตอร์ยานยนต์ไฟฟ้า
นิชิฮามะ จึงมองว่า เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนจะทวีความรุนแรงขึ้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 23 กรกฏาคม 2567