หอการค้าคาดเงินสะพัดช่วงเปิดเทอมปี 66 แตะ 5.7 หมื่นล้าน สูงสุดในรอบ 14 ปี
วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม ปี 2566 พบว่าอยู่ที่ 57,885 ล้านบาท ขยายตัวสูงสุดในรอบ 14 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากราคาสินค้าแพงขึ้น แต่ประชาชนก็ยังใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ซึ่งการสำรวจก็ยังพบว่าผู้ปกครองมีเงินไม่พอใช้ มีการเบิกเงิน กดเงินสดจากบัตรเครดิต ทั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี การใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการหมุนเวียนเงินในช่วง 2-3 เดือนเท่านั้น
นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยผลสำรวจ ผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมปี 2566 สำรวจจำนวนตัวอย่าง 1,230 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-5 พฤษภาคม 2566 พบว่าผู้ปกครองกว่า 66.1% มีหนี้ มี 33.9% ไม่มีหนี้ โดยหนี้สินเฉลี่ย 340,750 บาทต่อครัวเรือน หรือ 24.70% โดยสาเหตุที่มีหนี้มาจากสินเชื่อบ้าน หนี้เพื่อใช้จ่ายทั่วไป หนี้ซื้อสินทรัพย์ เช่น รถยนต์ เป็นต้น
สำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเล่าเรียนบุตร พบว่า 75% ค่าบำรุงโรงเรียนเพิ่มขึ้น รองลงมา ค่ารองเท้า ถุงเท้า 47.6% ส่วนโครงสร้างการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม ปี 2566 พบว่างบค่าบำรุงโรงเรียน งบค่าหนังสือ งบค่าเครื่องเขียน งบค่ารองเท้า ถุงเท้า เพิ่มขึ้น เป็นต้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายโดยรวม 19,507 บาท เพิ่มขึ้น 6.6% จากปี 2562 โดยส่วนใหญ่ 37.8% มองว่าเท่าเดิม
ค่าใช้จ่ายสำหรับการเปิดเทอมครั้งนี้ เทียบปีที่ผ่านมา 29.9% โดยราคาสินค้าแพงขึ้น มีจำนวนบุตรที่เริ่มเข้าโรงเรียนเพิ่ม ภาวะเศรษฐกิจดี ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม ปี 2566 อยู่ที่ 57,885 ล้านบาท ขยายตัวจากปี 2562 ที่ 5.30% โดยในปีนี้ถือว่ามีมูลค่าการใช้จ่ายสูงสุด นับตั้งแต่หอการค้าสำรวจมาในรอบ 14 ปี
สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในด้านการศึกษาในปัจจุบันคือ
1).ช่วยเหลือ/ควบคุมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาทั้งค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าบำรุงต่าง ๆ ค่าเครื่องแบบนักเรียน
2).พัฒนา เสริมสร้างบุคลากรด้านการศึกษา ให้มีความรู้ความสามารถให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้ว
3).ควรมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่เข้มงวด และควรปรับเงินเดือนครูให้มีความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ โดยเฉพาะกับเด็กปฐมวัย
4).ควรปรับแนวการเรียนการสอนของเด็กปฐมวัยให้สอดคล้องกับพัฒนาการตามอายุ
5).ควรมีการถอดบทเรียนทั้งด้านดี และด้านไม่ดีที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย เพื่อให้การศึกษาไทยสามารถพัฒนาเยาวชนให้มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศต่อไป
สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลปรับปรุงด้านการศึกษาของไทยในปัจจุบันคือ
(1).เพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการศึกษาที่มีศักยภาพให้เพียงพอ
(2).ควรปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุและพัฒนาการของเด็ก
(3).พัฒนาเสริมสร้างโรงเรียนของรัฐบาลให้มีคุณภาพใกล้เคียงกับเอกชน
(4).เพิ่มเวลาให้ครูสอนเด็กได้มากขึ้น ลดภาระด้านอื่นของโรงเรียนให้ครูผู้สอน
(5).ประยุกต์เกณฑ์ในการวัดผลที่วัดจากความสามารถที่หลากหลาย
(6).ควรมีการอบรมทั้งด้านวิชาการใหม่ ๆ และจรรยาบรรณให้บุคลากรด้านการศึกษาเป็นประจำ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 8 พฤษภาคม 2566