จับตา ฝนใต้ยาวถึง มกราคม 68 สั่งเฝ้าระวัง อ่างเก็บน้ำ ที่มีความจุเกิน 80%
"คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ" ประชุมประเมินสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ จับตาฝนพื้นที่ภาคใต้ต่อเนื่องช่วงเดือน ธ.ค.67-ม.ค.68 เน้นย้ำเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีความจุเกิน 80% เตรียมถอดบทเรียนการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการแจ้งเตือนภัย เสนอ กนช. พร้อมประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง บูรณาการทำงานป้องกันเชิงรุก
วันนี้ (16 ธ.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 5/2567 โดยมี ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กองทัพเรือ เป็นต้น พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รองศาสตราจารย์สายสุนีย์ พุทธาคุณเจริญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิตางศุ์ พิลัยหล้า นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ และนายชยันต์ ศิริมาศ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 สทนช. และประชุมผ่านระบบออนไลน์
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศจากฝน One Map พบว่า ในช่วง 1-2 วันนี้ (วันที่16-17ธ.ค.67) บริเวณพื้นที่ภาคใต้จะยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากและจากปริมาณฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้อีก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส หลังจากนั้นช่วงวันที่ 18-22 ธ.ค.67 ปริมาณฝนจะมีแนวโน้มลดน้อยลง
ทั้งนี้ การคาดการณ์ฝนภาพรวมในพื้นที่ภาคใต้ช่วงเดือน ธ.ค.67 – ม.ค.68 จะยังคงมีแนวโน้มมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ดังนั้น จะยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้กำชับให้กรมชลประทานเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ที่มีความจุเกิน 80% อาทิ อ่างเก็บน้ำคลองกะทูน จ.นครศรีธรรมราช, อ่างเก็บน้ำคลองดินแดง จ.นครศรีธรรมราช, อ่างเก็บน้ำคลองป่าบอน จ.พัทลุง, อ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง จ.พัทลุง, อ่างเก็บน้ำคลองสวนหนัง จ.สุราษฎร์ธานี
เพื่อปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำของกรมทรัพยากรน้ำที่มีการถ่ายโอนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้ว ต้องเร่งสำรวจความพร้อมและความปลอดภัยให้มีสภาพพร้อมใช้งาน
ในส่วนอ่างเก็บน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี ได้แจ้งปิดการระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 16-26 ธ.ค.67 เพื่อบรรเทาผลกระทบน้ำท่วมให้กับประชาชน ส่วนอ่างเก็บน้ำบางลาง จ.ยะลา ปัจจุบันมีน้ำใช้การ 83% ซึ่งยังคงอัตราการระบายน้ำที่ 18 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เนื่องจากระดับน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมสูงสุดแล้ว (URL) เพื่อเตรียมพื้นที่รองรับน้ำช่วงปลายปี และจะมีการปรับแผนการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด
“เนื่องจากระบบการแจ้งเตือนในเชิงพื้นที่อาจจะยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ จึงต้องเตรียมทบทวนกลไกในการแจ้งเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ที่ประชุมในวันนี้จึงได้เสนอให้คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุดนี้ ร่วมกันถอดบทเรียนการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการแจ้งเตือนภัย เพื่อเสนอให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาสำหรับการปรับปรุงการทำงานในปีหน้า
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือ โดยจะทบทวนพื้นที่เสี่ยงและเตรียมลงพื้นที่ในเชิงรุกเพื่อบูรณาการทำงานในการป้องกันผลกระทบภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบการจัดผังน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำสะแกกรัง, ลุ่มน้ำวัง และลุ่มน้ำน่าน เพื่อเสนอต่อ กนช. พิจารณาและเตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 16 ธันวาคม 2567