CEO หนุนตั้งรัฐบาลเร็วฟื้นเศรษฐกิจ แนะ "พิธา" สื่อสารนโยบายให้ชัด
ภาคเอกชน ประสานเสียงให้จัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว ยึดผลประโยชน์ชาติ แนะ "พิธา" ต้องสื่อสารให้ชัดเจน ไม่สร้างความสับสนทางนโยบาย ระบุขึ้นค่าแรงต้องค่อยเป็นค่อยไป หวังรัฐบาลใหม่หนุนเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ย้ำนโยบายเร่งด่วนฟื้นเศรษฐกิจ
การจัดตั้งรัฐบาลมีความคืบหน้าตามลำดับ โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และจัดตั้งไปแล้ว 7 คณะ ครอบคลุมด้านพลังงาน ด้านภัยแล้ง ด้านปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด
รวมทั้งหลังจากนี้จะจัดตั้งเพิ่มอีก 16 คณะ ตามที่กำหนดในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่พรรคการเมือง 8 พรรคร่วมลงนาม และการจัดตั้งรัฐบาลเป็นประเด็นที่นักธุรกิจไทยและต่างชาติกำลังติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะมีผลต่อการกำหนดทิศทางธุรกิจ

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็เป็นเรื่องยินดี เพราะจะปล่อยให้ประเทศไม่มีรัฐบาลนานไม่ได้ โดยภาคเอกชนต้องการให้มีผู้บริหารประเทศที่ดีที่เหมาะสมเร็วที่สุด โดยที่ผ่านมาภาคเอกชนได้เห็นการลงนาม MOU รวมถึงเห็นความตั้งใจและความจริงใจของพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล
“อย่างเห็นรัฐบาลใหม่จัดตั้งได้เร็ว ไม่ว่าจะวิธีใดขอให้เข้ามาแบบถูกต้อง และรัฐบาลใหม่ควรจะเข้าใจอะไรที่เคยบกพร่องในอดีตให้แก้ไข"
รวมทั้งได้เห็นกรอบนโยบายของ 8 พรรคการเมืองที่ร่วมเจรจาจัดตั้งรัฐบาล ต้องการให้มีนโยบายที่ทำให้ประชาชนมีความสุข โดยต้องไม่เห็นประโยชน์ส่วนตน และเห็นประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และมองประเด็นอำนาจหรือผลประโยชน์ไว้ทีหลัง
ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจถือว่าประเทศไทยมีทรัพยากรหลายอย่างที่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวเราเองจึงขอให้รัฐบาลมีความตั้งใจจริงในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ และไม่คิดเรื่องส่วนตัว โดยเท่าที่ได้สัมผัสกับนักธุรกิจต่างประเทศต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และได้ติดตามข่าวการจัดตั้งรัฐบาลของไทยต่อเนื่อง
ว่าที่นายกฯ ต้องสื่อสารให้ชัด :
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลและตัวเต็งว่าที่รัฐมนตรีจะต้องมีความพร้อมในการสื่อสารให้เป็นไปอย่างรอบคอบและชัดเจน ไม่สร้างความสับสนในการแสดงจุดยืนและนโยบาย เพราะตอนนี้ไทยกำลังเป็นที่จับจ้องของนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการย้ายฐานผลิตจากจีน ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐและยุโรป สะท้อนจากยอดขายและเช่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นในนิคมอุตสหกรรมช่วงที่ผ่านมา
“การประกาศขึ้นค่าแรงทันที จะทำให้ผู้ประกอบการต้องเหนื่อยขึ้น รวมทั้งเอสเอ็มอีที่จะได้รับผลกระทบมาก ทั้งจากต้นทุนการผลิต ค่าแรงและภาษี อีกทั้งในตอนนี้ยังเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในภาพรวมกำลังฟื้นฟู จึงควรต้องเร่งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจดึงดูดการลงทุน การเชื่อมสัมพันธ์และทำข้อตกลงทางการค้า อาทิ CPTPP และ FTA EU ซึ่งจะเป็นประเด็นสำคัญในการตัดสินใจของนักลงทุน”
รวมทั้งต้องการให้รัฐบาลใหม่สานต่อการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์และจุดแข็งการลงทุนของไทย โดยพัฒนาต่อเนื่องให้มีการเชื่อมโยง Land Bridge กับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน

ขึ้นค่าแรงแบบค่อยเป็นค่อยไป :
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยได้ติดตามความคืบหน้านโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะ MOU ที่กำหนดแนวนโยบาย 23 ข้อ ซึ่งพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านใน 7 ด้าน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของหอการค้าที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ภาคเอกชนต้องการให้เร่งจัดตั้งรัฐบาลและมีระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพราะจะมีความล่าช้า ในการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งจะกระทบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมไปถึงต่างชาติก็มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ประเด็นการขึ้นค่าแรงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ขึ้นทันที เพื่อไม่ให้ใครล้มหายตายจากไป ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการกำลังเผชิญปัญหาต้นทุนสูงขึ้นอยู่แล้วจากค่าไฟและต้นทุนการเงิน ซึ่งทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดการลงทุน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านกำลังแข็งแรงมากขึ้น

โดยรัฐบาลต้องเร่งเข้ามาขับเคลื่อนฟันเฟืองเศรษฐกิจที่สำคัญในตอนนี้คือภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ รวมทั้งช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลก
AIS หวังการเมืองนิ่งฟื้นเศรษฐกิจ :
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดูเศรษฐกิจ โดยส่วนตัวหวังว่ารัฐบาลใหม่จะจัดตั้งให้แล้วเสร็จโดยรวดเร็ว มีความชัดเจนด้านนโยบายสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เอกชนปรารถนาอย่างที่สุด มากกว่าการเล่นเกมทางการเมือง หรือดึงให้เกิดสุญญากาศ
ทั้งนี้ ในส่วนข้อเสนอที่ฝากไปยังรัฐบาลใหม่ต้องการให้เข้ามาจัดการในสามประเด็น คือ
1)เศรษฐกิจ อยากให้รัฐบาลใหม่สนับสนุนเอสเอ็มอี เพราะเศรษฐกิจขับเคลื่อนโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่มีการกระจุกตัวด้านการบริหารจัดการและรายได้ หากรัฐบาลใหม่มีนโยบายช่วยเหลือกลุ่มทุนระดับรากหญ้าจะทำให้สภาพเศรษฐกิจมีเสถียรภาพและมีความยั่งยืน
2)ประเด็นการเมือง ความมีเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นคู่ค้าหรือพันธมิตรเอไอเอส ที่เป็นต่างชาติไม่ได้กังวลว่ากลุ่มใดหรือพรรคการเมืองไหน จะมาเป็นรัฐบาล แต่สิ่งที่คู่ค้าต่างประเทศมอง คือ ความมีเสถียรภาพและความชัดเจนในนโยบาย ซึ่งกลุ่มทุนเหล่านั้นพร้อมปรับตัวและแก้ไขกฎให้สอดรับกับระเบียบหากมีการเปลี่ยนแปลง
3)ปัญหาสังคมทั้งเรื่องคอร์รัปชั่น ยาเสพติด การจ่ายส่วยเอกชนอยากให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหานี้ที่ฝังรากลึกหากแก้ได้จะช่วยยกระดับปากท้องประชาชนในประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น เพราะเป็นการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบ ซึ่งมองว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าการแจกเงิน หรือการหยอดเงินซึ่งเป็นการเลี้ยงไข้
ตั้งรัฐบาลเร็วหนุนเศรษฐกิจโตแกร่ง :
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ช่วงเร่งตั้งรัฐบาลตามกรอบเวลาที่กำหนดและตามกระบวนการปกติ และยังไม่มีประเด็นหรือปัจจัยอะไรที่ทำให้ภาคเอกชนกังวลหรือขาดความเชื่อมั่น โดยเชื่อว่าระหว่างยังไม่มีความไม่แน่นอนทางการเมือง จากการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนนี้ภาคเอกชนจะปรับตัวและอยู่ภายใต้ภาวะความไม่แน่นอนได้ เช่นเดียวกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นเชื่อมั่นว่าภาคเอกชน สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาคเอกชนคาดหวัง คือ ความชัดเจน และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้ได้โดยเร็ว และสิ่งสำคัญที่ภาคเอกชนอยากเห็น คือ การผลักดัน และเร่งนโยบายต่างๆ ให้เกิดขึ้น(implement) ที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ
“แม้นโยบายจะไม่สามารถทำได้ 100% ตามที่วางไว้เดิม หรืออาจเกิดขึ้นเพียง 60-70% แต่ดีกว่านโยบายไม่เกิดขึ้นเลย"
รวมทั้งตรงนั้นก็ต้องไปคิดว่า รัฐบาลใหม่จะปลดเงื่อน ปลดกระดุมเม็ดแรกอันไหนก่อน ที่จะพิสูจน์ว่า สามารถทำให้นโยบายที่ดีทั้งหลายให้เกิดขึ้นได้ ให้เกิดการ Implement ซึ่งอาจมีบางส่วนต้องประณีประนอม บางส่าวนต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างเร็ว สิ่งเหล่านี้จะพิสูจน์ความสามารถรัฐบาลใหม่”
ส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจแรกๆที่ภาคเอกชนอยากเห็น เชื่อว่า มีทั้งเรื่องที่เป็นระยะสั้น และระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องระยะสั้น ที่เกี่ยวกับประชาชนรากหญ้าที่ได้รับความเดือดร้อน จากภาวะวิกฤติหลายเรื่องที่ซ้อนกันมามาตลอด
ดังนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเยียวยา และต้องมีมาตรการช่วยเหลือ แต่ช่วยเหลือแล้ว ต้องไม่ทำให้จนกระดานในระยะยาวด้วย และต้องทำอย่างไรให้สามารถแก้ไขปัญหาให้ได้ในระยะยาวได้จริง ซึ่งรัฐบาลอาจต้องมีทั้งเรื่องระยะสั้น และเรื่องระยะยาวที่ต้องทำควบคู่กัน
ส่วนในมุมต่างชาติหรือนักลงทุน ผู้ถือหุ้นของเอสซีบีเอกซ์ เชื่อว่ายังมองประเทศไทยมีศักยภาพมาก ดังนั้นหวังว่าหากตั้งรัฐบาลเร็วจะมีความชัดเจนมากขึ้น และเชื่อว่าไทยยังมีความหวัง และน่าจะเป็นประเทศที่เติบโตที่แข็งแรงได้
“ขณะนี้นักลงทุนต่างประเทศยังเฝ้ารอ และยังไม่จัดอันดับความสำคัญสำหรับประเทศไทยอยู่ในระดับต้น เพราะทุกคนรอดูว่าหากมีการเปลี่ยนแปลง มีการผลักดันนโยบาย มีการ Implement ที่ชัดเจน เชื่อว่าไทยจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพ และเติบโตสูงเหมือนอดีต”
"กรุงไทย" หวังเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สำหรับนโยบายรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเชื่อว่าหลายเรื่องเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ชวนคิดขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ Future Economy
โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องรอดู และอยากเห็นการจัดตั้งรัฐบาล และตั้งคณะรัฐมนตรีให้ได้อย่างรวดเร็วเพื่อติดตามดูรายละเอียดต่างๆว่าจะเป็นอย่างไรต่อ
สำหรับ นโยบายที่ควรทำเร่งด่วนหลัก คือ การสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจมีการหมุนเวียน เข้าถึง ในลักษณะที่มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง เท่าเทียม โดยเฉพาะลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นเรื่องการวางระบบเศรษฐกิจให้ทุกคนเข้าถึง และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ศักยภาพ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เร่งตั้งรัฐบาลดันไทยก้าวกระโดด :
นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหารสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ กล่าวว่า ภาคเอกชนเป็นกำลังใจให้ตั้งรัฐบาลสำเร็จโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก และไทยมีโอกาสในเวทีโลกอย่างมาก แต่ทุกประเทศมีการแข่งขันกันมากทุกมิติ ฉะนั้นไม่อยากให้ช้าหรือสะดุ
“ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล พร้อมสนับสนุน โดยหารือเอกชนทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยกัน โอกาสของไทยดีอยู่แล้ว เราจะฉกฉวยโอกาสได้อย่างไร"
ทั้งนี้ หากช้า ไม่ชัดเจน นักลงทุนหนีไปประเทศที่ชัดเจน นี่คือเกมช่วงชิงโอกาสให้ไทยก้าวกระโดด การมีรัฐบาลเป็นตัวแปรสำคัญ หรือมีรัฐบาลที่ไม่สามารถทำอะไรได้ จะเสียโอกาส หากเพลี้ยงพล้ำแล้ว ไปเลย ไม่มีโอกาสกลับมา
กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์อยู่ในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และรีเทล พบว่าผู้ประกอบการค้าปลีก นักลงทุนทั่วโลก ต้องการลงทุนในไทยด้วยเม็ดเงินมหาศาล สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อไทย ซึ่งหากผนวกกับการมีรัฐบาลที่เข้มแข็งจะยิ่งสร้างความไว้วางใจทางการลงทุนในไทยไม่เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ขยายโอกาสทั่วประเทศ
ไทยต้องปักหมุดเป็นฮับของสำนักงานใหญ่แห่งภูมิภาคเอเชียเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเร่งวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับการลงทุนจากต่างประเทศในรูปแบบของ “วันสต็อปเซอร์วิส” เช่นเดียวกับเวียดนาม ขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งกฎหมาย ระบบ มาตรการทางภาษีที่เอื้ออำนวย การสานต่อนโยบายการลงทุนต่อเนื่อง
สำหรับวาระเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ ต้องมองภาพใหญ่และจัดลำดับความสำคัญในเรื่องที่จะมีผล (อิมแพ็ค) ต่อทุกคน พร้อมวางแผนระยะยาวควบคู่กันในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อโอกาสการทำการค้าใหม่ๆ ระหว่างประเทศ
เร่งแก้หนี้-การศึกษา-โครงสร้างพื้นฐาน :
นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากรัฐชุดเก่าสู่รัฐบาลใหม่เป็นห้วงสุญญากาศบ้างแต่เชื่อว่าเป็นระยะเวลาสั้นๆ ที่จะยังไม่มีการตัดสินใจเรื่องใหญ่ทำให้เกิดผลทางเศรษฐกิจในวงกว้าง หลังจากนั้นกลับสู่โหมดปกติ
อย่างไรก็ดี 3 วาระเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือน การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง เป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศนอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลใหม่พัฒนาขีดความสามารถคนไทยให้ทันต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยโฟกัสจุดแข็งของประเทศไทย ที่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ส่วนมาตรการที่เกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว นอกจากมาตรการควบคุมสินเชื่อ หรือ แอลทีวี การลดค่าธรรมการโอน ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้น
"คนรุ่นใหม่มีรายได้โตไม่ทันกับราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นทำให้โอกาสที่มีบ้านน้อยและยังมีหนี้เยอะ ซึ่งในต่างประเทศ รัฐจะช่วยตรึงดอกเบี้ยเรตเดียวยาว 30 ปี เพื่อคนในเจนเนอเรชันที่ 2 เข้าถึงการมีบ้านได้”
ส่วนการปรับขึ้นค่าแรง 450 บาทไม่คิดว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทางตรงทันที แต่เป็นห่วงในเรื่องของผลกระทบที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น และความสามารถในการแข่งขัน
รัฐบาลต้องไม่เอียงข้างใดข้างหนึ่ง :
นายแดน ปฐมวาณิชย์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF กล่าวว่า ต้องการให้ตั้งรัฐบาลโดยเร็วและต้องเป็นรัฐบาลไม่เอียงข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อสร้างความเชื่อมัั่นให้นักลงทุนในและต่างประเทศ ซึ่งความเชื่อมั่นของนักลงทุนดูได้จากการลงทุนในตลาดหุ้นที่หากแกว่งตัวลงในที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัญญานแสดงให้เห็นว่านักลงทุนมองการจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร
รวมทั้งที่สำคัญการวางนโยบายที่กระทบการลงทุนต้องมีมาตรการออกมารองรับเสียก่อน เพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจ เช่น การขึ้นค่าแรง 450 บาท ที่ทำได้แต่ต้องมีมาตรการเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้สอดรับกับค่าแรงที่เพิ่ม นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขัน หากมีมาตรการที่ชัดเจนและมีผลในทางปฏิบัติ และภาคอุตสาหกรรมคุ้มค่ากับการขึ้นค่าแรงก็ทำได้
ทั้งนี้การลงทุนตั้งโรงงาน 1 แห่งกว่าจะคืนทุนต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี และค่าแรงเป็นทุนหนึ่งที่ต้องนำมาคำนวณ รวมกับค่าที่ดิน ค่า ก่อสร้าง เงินลงทุน ดอกเบี้ยเงินกู้ ทั้งหมดคือต้นทุน จะเห็นว่ามีค่าว่า มีบริษัทที่จะย้ายฐานการผลิต ย้ายโรงงานไปที่ประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่า เป็นการสะท้อนว่าหากการขึ้นค่าแรงจะส่งกระทบต่อภาคธุรกิจที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้เช่นกัน
“การมีรัฐบาลตรงกลางจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้ ว่าไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง การยกเลิกการผูกขาดเหล้า เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้รายย่อยมีโอกาสแชร์ส่วนแบ่งการตลาดได้”
“ซีอีโอ”รุ่นใหม่หวังไทยเป็นที่ยอมรับเวทีโลก
หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บาฟส์ กล่าวว่า นโยบายที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญ ประกอบด้วย นโยบายต้านคอร์รัปชั่น เพื่อสร้างจุดยืนให้ไทยเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก
การผลักดันการลงทุนที่จะเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ให้ประเทศช่วง 10-20 ปีข้างหน้า และด้านสิ่งแวดล้อมที่จะต้องมีการจัดการและตั้งเป้าหมายอย่างจริงจังในการสร้างสังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)
นอกจากนี้ การสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ จึงต้องส่งเสริมจากภาครัฐต่อเนื่อง รวมทั้งไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพมากในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและยา รวมทั้งเป็นผู้นำการผลิตน้ำมันอากาศยานชีวภาพ เพราะมีทรัพยากรเหลือใช้จากภาคการเกษตร รวมทั้งการปลูกอ้อย และปาล์มน้ำมัน
"บิทคับ"หวังรัฐแก้กฏหมายสินทรัพย์ดิจิทับเอื้อโลกอนาคต
นายสกลกรย์ สระกวี ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัทบิทคับแคปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า เชื่อมั่นว่ารัฐบาลใหม่จะตั้งได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดได้ และสิ่งที่อยากเห็นคือการสนับสนุน ธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งที่อยู่ในประเทศไทย หรือผู้ที่ได้รับใบอนุญาตหรือไลเซนส์ในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
รวมถึงอยากเห็นการสนับสนุนหรือการแก้ไข พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ให้เกิดความทันสมัยมากขึ้น ให้เหมาะกับการทำธุรกิจในปัจจุบัน เนื่องจาก กฎหมายเดิมที่มีอยู่ เป็นฉบับที่ใช้มานานแล้ว และมาจาก พ.ร.ก.หลักทรัพย์ ดังนั้นการมีการแก้ไขให้ดีขึ้น จะเอื้อต่อการทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในระยะข้างหน้ามากขึ้น
ทั้งนี้ ความต้องการให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.หรือพ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากปัจจุบันยังมีข้อจำกัด และยังไม่เหมาะสมกับธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากปัจจุบัน มีธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเกิดขึ้นจำนวนมาก และจะมีสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่เกิดขึ้น เช่น investment token หรือ Security Token ที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต
ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาบแก้ไข ให้ทันสมัยเหมาะสมกับปัจจุบันมากขึ้นหรือหากเป็นไปได้ อยากเห็น หน่วยงาน ก.ล.ต.ที่แยกออกมาดูเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลจริงๆ เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องของอนาคต ดังนั้นหากมีหน่วยงานกำกับเข้ามาดูแลเฉพาะจะเป็นสิ่งที่ดีมากขึ้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 2 มิถุนายน 2566