สสว. - สอวช. เผยแพร่ผลการศึกษาและเกณฑ์การประเมินผู้ประกอบการ BCG สำหรับกลุ่ม MSME
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดงานเผยแพร่ผลการศึกษาและเกณฑ์การประเมิน BCG สำหรับ MSME ภายใต้โครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG (BIO-CIRCULAR-GREEN ECONOMY) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ณ Mayfair Ballroom A ชั้น 11 โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร กล่าวเปิดงานโดย รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.
รศ.ดร.วีระพงศ์กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 สสว. ได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน SME ในด้านต่าง ๆ และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมธุรกิจ SMEs ด้วย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งภาครัฐควรสร้างความตระหนักรู้ ให้ผู้ประกอบการเข้าใจแนวคิด BCG เพื่อสามารถนำไปปรับใช้ในธุรกิจได้ รวมถึงการพัฒนาตัวชี้วัด BCG Indicator ซึ่งเป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพตนเองในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน เชื่อมโยงแหล่งทุนและมาตรการสนับสนุนจากรัฐ และสร้างโอกาสต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการในการแข่งขันต่อไป ซึ่งทาง สสว. ได้มีแนวทางการดำเนินการศึกษาและรวบรวมเครื่องมือวัด BCG
โดยบูรณาการการทำงานและผลักดันการใช้เกณฑ์ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ประกอบการ ยกระดับนักพัฒนา BCG ในพื้นที่ทั้ง 5 ภูมิภาค และผลักดันให้เกิดเครื่องมือหรือหน่วยงานให้บริการรับรอง เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกมากขึ้น โดยผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการนี้ จะได้ผู้ประกอบการและนักพัฒนา BCG ที่มีความตระหนักรู้ ถึง 1,000 ราย ล่าสุดได้สัมมนาเชิงลึกไปแล้ว จำนวน 569 ราย พร้อมได้ต้นแบบ (prototype) กรอบการประเมินตัวชี้วัด BCG Indicator ที่ได้รับการพัฒนาจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและทดสอบ Test run กับกลุ่มผู้ประกอบการในแต่ละระดับ (League) ภายในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2566 นี้
“สำหรับผู้ประกอบการ MSME ที่ต้องการปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วยแนวคิด BCG โครงการนี้จะมีกิจกรรมการสร้างการตระหนักรู้เพื่อเป็นบันไดขั้นแรกของผู้ประกอบการสู่การเปลี่ยนแปลง โดยโครงการจะมีการจัดกิจกรรมทั้งแบบ Online และ On-site ทั้ง 5 ภูมิภาค ซึ่งจะมีการเผยแพร่ช่องทางสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจหลังจบงานนี้ รวมถึงในการจัดทำ BCG Indicators เพื่อให้เป็นเครื่องมือวัดที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการ จะมีการเปิด public hearing อีกครั้ง เพื่อเสนอต้นแบบที่ได้ผ่านกระบวนการ Stakeholder Consulting สำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกด้านเพื่อร่วมกันเสนอความเห็นและออกแบบ BCG Indicators ที่มีประสิทธิภาพ สามารถวัดคุณลักษณะของ BCG และเชื่อมโยงกับสิทธิพิเศษต่างๆ ได้ นอกจากนี้ จะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชุมแนวทางการส่งเสริม BCG กับหน่วยงานบูรณาการเพื่อหาแนวทางนำเครื่องมือวัด BCG จำนวน ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยงาน เพื่อหารือร่วมกันต่อไป” รศ.ดร.วีระพงศ์ กล่าว
ด้าน ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงบทบาทของ สอวช. ในการดำเนินงานโครงการนี้ว่า สอวช. ขับเคลื่อนภายใต้เป้าหมายเดียวกันกับ สสว. ในโครงการฯ นี้ สอวช. มีแนวคิดในการดำเนินงานฯ หลัก คือ การส่งเสริมผู้ประกอบการ BCG จากการสร้างความตระหนักรู้และการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานสำหรับ BCG ซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อมโยงกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การสนับสนุนจาก สสว. และจากภาครัฐ และมาตรการอื่นๆ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเติบโตได้อย่างยั่งยืน และสร้างโอกาสทางการค้าและก้าวข้าม Trade Barrier ในตลาดโลก
สอวช. ได้ดำเนินงานวิจัยเชิงนโยบายร่วมกับเครือข่ายอย่าง ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มาช่วยวิจัยเชิงนโยบายเพื่อออกแบบและพัฒนา BCG Indicator กรอบการประเมิน กรอบเชิงโครงสร้างหน่วยงานที่จะมาสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากตัวชี้วัด และการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในลักษณะขั้นบันไดการพัฒนาที่จะต่อยอดและปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจฯ และเป็น BDS ของ สสว. ต่อไป ได้ต่อยอด Circular Design Platform ที่ดำเนินการร่วมกับ Global Compact Thailand
ที่ผ่านมานำมาจัดสัมมนาเชิงลึกสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ BCG รวมทั้งเครือข่ายตามภูมิภาคอย่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาราชภัฎอุดรธานี และในรายสาขากับสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) กลุ่มบริษัทโซลเวย์ในประเทศไทย และบริษัทในเครือสหพัฒน์รวมถึงคณะทำงาน BCG สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างแนวคิดและปรับใช้ในธุรกิจ และโดยการทำงานในภาพรวมจะออกแบบให้ครอบคลุมทั้งพัฒนาระบบกระตุ้นผู้ประกอบการที่จะปรับตัวธุรกิจ/การดำเนินงาน BCG พร้อมทั้งสร้างขีดความสามารถและการปรับตัวเพื่อรับโอกาสได้ในอนาคต
“สอวช. ยังมีแผนการที่จะขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมให้เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในการประยุกต์ใช้แนวคิด BCG ผ่านการใช้นวัตกรรม ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่าง สอวช. และ สสว. ในการสนับสนุน MSME สู่ BCG การตระหนักรู้ของผู้ประกอบการจากโครงการนี้จะเป็นบันไดขั้นแรกของผู้ประกอบการสู่การเปลี่ยนแปลงสู่แนวคิด BCG และเกิด action ของผู้ประกอบการในการพัฒนาธุรกิจต่อไป และ BCG Indicators ที่เกิดขึ้นจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนระบบนิเวศทั้งด้านการวิจัย นวัตกรรม และการสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ “BCG Indicator เครื่องมือเพื่อการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน” โดยเป็นการเผยแพร่ผลการศึกษาและเกณฑ์การประเมิน BCG สำหรับ MSME ในการเป็นเครื่องมือวัดผู้ประกอบการเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับ BCG ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจมีความยั่งยืนและสามารถสร้างโอกาสในการแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกมากขึ้น
นอกจากนี้ ในงานยังได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “สร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการไทยด้วย BCG โมเดล” โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผอ.สสว. คุณเฉลิม โกกนุทาภรณ์ คณะทำงาน BCG Model และรองประธานสายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดร.พีรพร พละพลีวัลย์ เลขาธิการสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) และคุณเอกชัย เอื้ออารีมิตร รองกรรมการผู้จัดการบริษัทแหลมฉบัง อิมเม็กซ์ จำกัด ดำเนินรายการโดย ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่าย กลุ่มนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สอวช.
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 11 กรกฏาคม 2566