สตาร์ทอัพไทยโตก้าวกระโดด ลงทุน Q1 กว่า 530 ล้านดอลลาร์ หนุน Tech Hub อาเซียน
Nikkei Asia ชี้ การลงทุนในสตาร์ทอัพไทยโตก้าวกระโดด พบเงินลงทุนไตรมาสแรกรวมกว่า 530 ล้านดอลลาร์ หลังจากมาตรการยกเว้น Capital Gains Tax ออกมาได้เพียง 1 ปี หนุนไทยสู่การเป็น Tech Hub แห่งอาเซียนแข่งสิงคโปร์ เผยล่าสุดไทยมี Tech Startup กว่า 1 พันราย
Nikkei Asia รายงานว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมสำหรับสตาร์ทอัพ (Startup) ด้วยการจำลองโมเดลของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นฮับของผู้ประกอบการชั้นนำในภูมิภาค โดยแนวคิดนี้บ่งชี้ได้จากการที่รัฐบาลไทยออกมาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax โดยความร่วมมือระหว่าง สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)
มาตรการดังกล่าวได้มีการประกาศใช้เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นการส่งเสริมให้บริษัทร่วมทุนและนักลงทุนได้รับการจูงใจจากมาตรการสำหรับการลงทุนใน Startup ไทยภายใต้อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น Automotive Technology , Smart Technology, Biotechnology เป็นต้น ส่งผลให้การลงทุนใน Startup ไทย เพิ่มสูงขึ้นถึง 530 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสแรกปี 2566 ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19
จากผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก ประจำปี 2566 (Global Startup Ecosystem Index 2023) โดย StartupBlink พบว่า สิงคโปร์เป็นประเทศในเอเชียอันดับต้น ๆ ที่มีเศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่ในระบบนิเวศของ Startup โดยอยู่อันดับ 6 แซงหน้าจีน (อันดับ 12) และญี่ปุ่น (อันดับ 18) ซึ่งมีหลากหลายปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์เป็นดันดับต้น ๆ ของ Startup Ecosystem ได้แก่ การคอร์รัปชันต่ำ การใช้เอกสารที่ไม่ยุ่งยาก และมีประชากรที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจในสิงคโปร์ได้เปรียบว่าประเทศในแถบตะวันตก
สำหรับ Startup Ecosystem ในประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 52 ต่ำกว่าอินโดนีเซีย (อันดับ 41) และมาเลเซีย (อันดับ 43) โดยความท้าท้ายของ Startup Ecosystem ในประเทศไทย เช่น การขาดแคลนนักลงทุน และทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะสูง เป็นต้น แต่จากรายงานของ Nikkei Asia ยังชี้ให้เห็นถึงการมี Capital Gains Tax ได้กระตุ้นการลงทุนใน Startup ไทย ได้ถึง 530 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกปี 2023 (อ้างอิงข้อมูลจาก DealStreetAsia) ซึ่งมากกว่าไตรมาสแรกในปี 2019 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19
โดยพบว่าในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา "Roojai" หรือ "รู้ใจ ประกันออนไลน์" Insurance-tech Startup ไทยสามารถระดมทุนได้ 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐในรอบการระดมทุนที่นำโดยกลุ่มประกันภัยจากเยอรมนี HDI International และในเดือนกันยายน ธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็มีแผนที่จะเปิดตัวกองทุนสำหรับ Startup โดยเริ่มต้นที่ 28.7 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีผู้ให้กู้เป็นบริษัทย่อยของ Mitsubishi UFJ Financial Group ของญี่ปุ่น และคาดว่าจะมีนักลงทุนประมาณ 50 รายเข้าร่วม โดยมีวัตถุประสงค์หลักของกองทุนเพื่อสร้าง Startup Ecosystem ในประเทศไทย
นอกจากรายงานของ Nikkei Asia ที่สะท้อนเงินลงทุนใน Startup ไทยที่เพิ่มสูงขึ้นแล้วนั้น จากข้อมูล Cento Report ยังพบว่า ในครึ่งปีแรก 2022 ประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนในเทคโนโลยี (Tech Investment) เพียง 2% และเพิ่มขึ้นเป็น 6% ในช่วงปลายปี 2022 แสดงให้เห็นถึงเงินลงทุนใน Startup ไทยที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลฯ ให้ความเห็นว่า ข้อมูลจาก Nikkei Asia สะท้อนให้เห็นถึงผลสำเร็จของสภาดิจิทัลฯ ในฐานะผู้นำภาคเอกชนด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมดิจิทัล ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผลักดันกฎหมายยกเว้นภาษี Capital Gains Tax เพื่อสนับสนุนธุรกิจ Startup ไทยให้มีเงินลงทุนเพิ่มสูงขึ้นถึง 530 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกปี 2023 (2566) ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019 (2562) ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญอันยิ่งใหญ่ในการขับเคลื่อนไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน
โดยจำนวน Tech Startup ในประเทศไทยมีเพียง 1,000 ราย ในขณะที่สิงคโปร์มี Tech Startup ถึง 50,000 ราย จึงสามารถระดมทุนด้านเทคโนโลยีได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น สภาดิจิทัลฯ จึงเห็นถึงความสำคัญต่อการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและ Startup ในประเทศไทย จึงได้ผลักดันให้รัฐบาลออกมาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ Startup ไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น”
นายศุภชัย กล่าวอีกว่า เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สภาดิจิทัลฯ ได้เข้าร่วมเวทีการประชุมเครือข่ายนักลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ SVCA Conference 2023 จัดโดย Singapore Venture Capital & Private Equity Association และได้พบกับ Sequoia Capital ซึ่งเป็นหนึ่งใน VC ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึง VC แถวหน้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเชิญชวนให้มาลงทุนในประเทศไทย โดยสภาดิจิทัลฯ เน้นย้ำยุทธศาสตร์ในการผลักดันประเทศไทยเป็น Hub ของ Innovation & Technology ดังเช่นสิงคโปร์ โดยประเทศไทยได้มีนโยบายยกเว้นภาษี Capital Gains Tax เป็น 0% ทำให้ข้อจำกัดทางกฎหมายลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว
สิ่งสำคัญในการเตรียมศักยภาพของประเทศสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากภาครัฐที่มีตั้งแต่ระดับสูงสุดและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับภาคเอกชน ในการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายดึงดูดทุนที่ชัดเจนและรวดเร็ว ก็จะสร้างความมั่นใจในการลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างมหาศาล รวมไปถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศให้มีความพร้อมในกรอบความคิด องค์ความรู้ ธรรมาภิบาล ในขณะเดียวกันก็ต้องดึง Talent จากทั่วโลกมาด้วย โดยสภาดิจิทัลฯ จะมุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการดึงดูดเงินลงทุนและ Talent เข้าประเทศ และจะเป็นอีกหนึ่งพลังที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง
มาตรการยกเว้นภาษี หรือ Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนใน Startup มีวัตถุประสงค์เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรจากการขายหุ้น Startup ไทย จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนไทยและต่างชาติผ่านธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) สนับสนุนให้ Startup ไทยสามารถระดมทุนได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งเสริมและยกระดับศักยภาพของ Startup ไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนา Startup Ecosystem เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตของ Startup ไทย พร้อมก้าวสู่ระดับสากล
นอกจากนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรสำคัญที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน รัฐบาล และภาคประชาชน ได้ร่วมขับเคลื่อน นโยบายส่งเสริม Startups และอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 1) มาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax สำหรับการลงทุนในธุรกิจ Startups ไทย 2) ภาษีเงินได้ 17% สำหรับชาวต่างชาติทักษะสูง เมื่อทำงานในไทย 3) ลดหย่อนภาษี 150% หรือสนับสนุน 50% ของค่าจ้างงานทักษะอาชีพด้านดิจิทัล 4) ลดหย่อนภาษี 250% หรือสนับสนุน 50% ของค่าอบรมบุคลากรในทักษะด้านดิจิทัล 5) Convertible Debt, ESOP และ Crowdfunding สำหรับ SMEs และ Startups 6) ตลาดหลักทรัพย์ Live Exchange สำหรับ SMEs และ Startups 7) ลดหย่อนภาษี 200% เมื่อธุรกิจซื้อซอฟท์แวร์ที่ผลิตในประเทศ 8) บัญชีนวัตกรรมไทย ให้เงื่อนไขพิเศษสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และ 9) SMEs ได้แต้มต่อในการประมูลโครงการภาครัฐ
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 24 กรกฏาคม 2566