ดัชนีค้าปลีกไตรมาส 3 ทรุดยาว ขอรัฐบาลปลุกกำลังซื้อ หนุนซอฟต์พาวเวอร์ไทย
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยดัชนีค้าปลีกไทยไตรมาส 3 หดตัวต่ำกว่า 50 จุด เป็นเดือนที่สี่ แรงฉุดกำลังซื้อฐานรากอ่อนแอ หวังไตรมาสสี่ฟื้นตัว แรงหนุนนโยบายวีซ่าฟรี เสนอรัฐ 6 ข้อ ปลุกค้าปลีก - บริการ เร่งออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ หนุนซอฟต์พาวเวอร์สินค้าไทย เร่งเจรจา FTA การจ้างงาน
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดผลสำรวจ "ดัชนีความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีก" ประจำไตรมาสสาม ปี 2566 พบว่า ลดลงมาที่ 46.4 จุด ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในรอบปี 2566 ต่อเนื่องจากเดือนมิ.ย. ได้รับปัจจัยลบจากทั้งกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ, หนี้ครัวเรือนสูง ราคาพลังงาน และสาธารณูปโภค และการท่องเที่ยวที่เป็นช่วงโลว์ซีซัน
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก ระยะ 3 เดือนจากนี้ (ต.ค.- ธ.ค.) เพิ่มขึ้น 12.0 จุด มาจากการมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล มาตรการลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำมัน นโยบายวีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวชาวจีน และคาซัคสถาน การโหมโปรโมชันของร้านค้าในช่วงไตรมาสสุดท้าย ที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงเทศกาลปลายปีได้ดีขึ้น
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การสำรวจดัชนี ความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกทั่วประเทศในไตรมาสที่สาม เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ยอดขายของสาขาเดิม ยอดใช้จ่ายต่อครั้ง และความถี่ในการใช้จ่าย แสดงถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคในฐานรากที่อ่อนแอ และมุ่งเลือกใช้จ่ายที่จำเป็น
ทั้งนี้เมื่อประเมินดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกจำแนกตามประเภทร้านค้าปลีกพบว่า ธุรกิจห้างสรรพสินค้า, แฟชั่น, สุขภาพ-ความงาม, ร้านวัสดุก่อสร้าง-ตกแต่งและซ่อมบำรุง, ร้านไอที เริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ส่วนร้านสะดวกซื้อ, ซูเปอร์มาร์เก็ต มีการชะลอตัวลง และร้านค้าส่ง ไฮเปอร์มาร์เก็ต ภัตตาคาร ร้านอาหาร ยังซบเซา แต่เมื่อแยกตามภูมิภาคพบว่า กรุงเทพฯ ปริมณฑล เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ส่วนภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึมลึก ส่วนภูมิภาคอื่นๆ ชะลอตัว
แนวทางขับเคลื่อนภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย กับการเชื่อมโยงภาคค้าปลีก และภาคบริการ โดยสมาคมฯ เห็นสอดคล้องที่ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาปากท้องของคนในประเทศ ด้วยการลดค่าครองชีพ และราคาน้ำมัน มาตรการฟรีวีซ่าจีน แต่มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอีก 6 ข้อได้แก่
1. การจัดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อดึงดูดกลุ่มที่มีกำลังซื้อ โดยการลดหย่อนภาษีประจำปีระหว่างเดือนพ.ย.และ ธ.ค. ร่วมกระตุ้นการใช้จ่ายต่อเนื่อง
สำหรับนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เสนอให้เพิ่มการหารือร่วมกับภาคเอกชน และสมาคมต่างๆ เพื่อให้การผลักดันนโยบายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
2. เปิดตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพ โดยเร่งเจรจา FTA Thai-EU ให้เร็วที่สุด รวมเข้าเป็นสมาชิกเขตเสรีการค้าอื่นเพิ่มเติม เช่น BRICS เป็นต้น เพื่อให้เกิดการลงทุน และเกิดการจ้างงาน
3. การหาแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคค้าปลีก-บริการ โดยปรับให้มีการจ้างงานหลากรูปแบบ และพัฒนาทักษะแรงงาน เช่น การจ้างงานอิสระ การจ้างงานประจำรายชั่วโมง ซึ่งต้องคำนึงถึงอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงาน โดยไม่จำกัดสิทธิเฉพาะสัญชาติ
4. การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ มากกว่าการพักชำระหนี้เพียงอย่างเดียว
5. ร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้กับซอฟต์พาวเวอร์ไทย โดยสนับสนุนสินค้าไทยผ่านการจัดตั้งโครงการ Thailand Brand เพื่อเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าของเอสเอ็มอีไทย ปีละ 2 ครั้ง ในทุกช่องทางของร้านค้าทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่งจะจับจ่ายของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ และควรเริ่มอย่างเร่งด่วนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566
6. การผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการค้าเต็มรูปแบบ ทั้งด้านไลฟ์สไตล์, กีฬา, เอ็นเตอร์เทนเมนท์ และชอปปิง
“สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ประเมินว่าในภาพรวมค้าปลีก และบริการยังอยู่ในช่วงเปราะบาง แต่หากรัฐบาลเร่งเครื่องฟื้นฟูสุขภาพเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทุกฝ่ายร่วมมือ จะนำพาให้เศรษฐกิจไทยกลับมามีเสถียรภาพมั่นคง และเดินหน้าอย่างเข้มแข็งอีกครั้ง โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยพร้อมร่วมมือกับภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆ”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 9 ตุลาคม 2566