ผลสำรวจคนไทย 70% รู้จัก Soft Power แต่ 60% ไม่เข้าใจนโยบายรัฐ
The Attraction เผยผลสำรวจพบว่า ประชาชนกว่า 70% มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Soft Power เป็นอย่างดี แต่เกินกว่า 60% ยังไม่ค่อยเข้าใจนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) ที่รัฐบาลได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้
The Attraction (ดิ แอทแทรคชั่น) ผู้ผลิตคอนเทนต์ เพื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ในแง่มุมที่น่าสนใจผ่านการเล่าถึงมุมมองสำคัญทางด้านอาหาร วัฒนธรรม ความบันเทิง เศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ ได้เล็งเห็นความสำคัญด้านการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ที่ทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในสังคม จึงได้จัดทำ “แบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนไทยที่มีต่อซอฟต์พาวเวอร์” กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ติดตามเพจและประชาชนทั่วไปในโลกออนไลน์ โดยคาดหวังว่าข้อมูลและสถิติที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและองค์กรต่างๆ
จากแบบสอบถามพบว่า ประชาชนกว่า 70% มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Soft Power เป็นอย่างดี อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่มองว่าแนวคิดเรื่อง Soft Power เป็นเรื่องใกล้ตัว และคำนิยามที่ประชาชนชื่นชอบ 5 อันดับแรก คือ ภูมิพลังวัฒนธรรม พลังโน้มนำ พลังเย็น อำนาจละมุน และมานานุภาพ แต่ก็มีเสียงบางส่วนบอกว่าควรใช้ทับศัพท์ไม่ต้องหาคำแปลให้ปวดหัว แต่เมื่อเจาะถึงนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) ที่รัฐบาลได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เสียงของประชาชนเกินกว่า 60% เทไปในฝั่งเดียวกันคือ ยังไม่ค่อยเข้าใจ และ “งงมากแม่” นอกจากนี้ยังพบผลสำรวจที่น่าสนใจอีกมากมาย
5 อันดับที่คนไทยนึกถึงมากที่สุดเมื่อพูดถึงเรื่อง Soft Power :
ครองแชมป์อันดับที่ 1 คือ “ข้าวเหนียวมะม่วง” น่าจะเป็นผลบุญที่น้องมิลลิ (Milli-ดนุภา คณาธีรกุล)ได้นำขึ้นไปโชว์บนเวที Coachella 2022 อันดับที่ 2 คือ “ต้มยำกุ้ง” ตราตรึงอยู่ในใจคนไทยและต่างชาติมาอย่างยาวนาน อันดับที่ 3 คือ มวยไทย อันดับที่ 4 กางเกงช้าง และอันดับที่ 5 ชาไทย
บุคคลผู้ทรงอิทธิพลในการสร้างและผลักดัน Soft Power :
เป็นไปตามคาดอันดับที่ 1 คือ “ลิซ่า ลลิษา มโนบาล” ไม่ว่าจะหยิบจับอะไรก็กระตุ้นพลัง Soft Power ของไทยไปหมด ล่าสุดสวมชุดแบรนด์ไทย Asava รับพระราชทานเครื่องราชฯ จาก คิงชาร์ลส์ที่ 3 สวยสง่าดุจเจ้าหญิงต่อสายตานานาชาติ อันดับที่ 2 คือตกเป็นของพี่บัวขาว ที่ขยันสร้างคอนเทนต์ ให้สาวๆ ต่างชาติได้กรี๊ดและเข้ามาฝึกมวยไทยอยู่ตลอดเป็น Soft Power ฝ่ายชายที่น่าสนใจและควรได้รับการสนับสนุนอย่างยิ่ง อันดับที่ 3 คือ จาพนม อันดับ 4 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และอันดับที่ 5 เบลล่า ราณี
อะไรที่ชาวเน็ตอยากให้ผลักดันเป็น Soft Power ของเมืองไทย :
อันดับที่ 1 คือ“ด้านงานสร้างสรรค์ งานศิลปะ” ปฎิเสธไม่ได้จริงๆ เพราะประเทศไทยมีวัฒนธรรมและศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ที่ต่างชาติชื่นชอบ และล่าสุดยูเนสโก ยังประกาศว่า "เชียงราย" เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ ประจำปี 2566 และยังมีจังหวัดอื่นๆ ที่น่าผลักดันเช่นกัน อันดับที่ 2 คือ ภาพยนต์ไทย อันดับที่ 3 คือ เฟสติวัล อันดับที่ 4 อุตสาหกรรมดนตรี อันดับที่ 5 สุราก้าวหน้า
ปัญหาและอุปสรรคของการผลักดัน Soft Power :
อันดับที่ 1 คือ “นโยบายภาครัฐ” ที่บ้างครั้งก็ดู งงงง ว่าจะไปในทิศทางไหน หรือแค่ทำเป็นกระแสเท่านั้น อันดับที่ 2 คือ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะนอกจากการให้คำนิยามจะไปกันคนละทิศละทางแล้ว ภาษาที่ใช้สื่อสารก็ทำให้คนหลายกลุ่มเข้าถึงได้ยาก อันดับที่ 3 คือ งบประมาณ ที่จะสนับสนุน อันดับที่ 4 การประชาสัมพันธ์ อันดับที่ 5 การต่อยอด ที่ยังถือว่าน้อยมาก
องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน Soft Power :
เป็นที่น่าเสียดายที่ THACCA ไม่ติดท็อปไฟว์ อาจเป็นเพราะเพิ่งโปรโมทมาไม่ถึงปีก็เป็นได้ ทำให้ อันดับที่ 1 ตกเป็นของ “กระทรวงวัฒนธรรม” ได้รับความชื่นชมไปเต็มๆ อันดับที่ 2 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อันดับที่ 3 CEA สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อันดับที่ 4 TCDC ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบประเทศไทย อันดับที่ 5 Content Thailand กองภาพยนตร์ และวีดิทัศน์
แบรนด์ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน Soft Power ของประเทศ :
อันดับที่ 1 คือ “KING POWER” อันดับที่ 2 สิงห์ อันดับที่ 3 ช้าง อันดับที่ 4 PTT อันดับที่ 5 กระทิงแดง ทั้ง 5 แบรนด์เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศอยู่แล้ว ถือว่าเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ Soft Power ของไทยที่ดีอีกช่องทาง
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 4 ธันวาคม 2566