เปิด 9 จุดเสี่ยง เศรษฐกิจไทย ปี 2567 ฟื้นแต่ยาก วิกฤตทะเลแดง-ตลาดจีนระส่ำ
"รศ.ดร.อัทธ์" นักวิชาการอิสระให้จับตาวิกฤตทะเลแดงปิดกั้นเส้นทางขนส่ง ทำราคาน้ำมันแตะสูงสุดที่ 120 เหรียญ/บาร์เรล ค่าระวาง ค่าประกันภัยพุ่งแน่ 10-15% ด้านเศรษฐกิจจีนระส่ำสะเทือนไทย ฉุดทั้งนักท่องเที่ยว ทั้งการลงทุน ประเมิน GDP ไทยปี 2567 โต 2.5-3.1% ส่งออกโตในรอบสองปีอยู่ที่ 2.2-2.5% แต่ปัจจัยลบเพียบ
วันที่ 21 ธันวาคม 2566 รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาอาวุโส บจก. บริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (IRC) กล่าวถึงบทวิเคราะห์ 9 จุดเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า Red Sea Cisis หรือวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในทะเลแดงขณะนี้
คาดการณ์ว่าจะส่งผลให้เส้นทางขนส่งทางด้านการค้าต้องสะดุด เพราะเรือขนส่งสินค้าต้องเปลี่ยนเส้นทางทำให้ล่าช้าออกไป 1-2 สัปดาห์ ซึ่งกระทบเรื่องของราคาน้ำมัน เชื่อว่าราคาน้ำมันพุ่งไปอยู่ที่ 85-120 เหรียญ/บาร์เรล ส่วนระวางและค่าประกันภัยจะเพิ่มขึ้นอีก 10-15%
นอกจากนี้ ยังได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะเติบโตอยู่ที่ 2.5-3.1% การส่งออกขยายตัวในรอบสองปี ซึ่งโตอยู่ที่ 2.2-2.5% แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า โดยระดับความเสี่ยงตัวแปรเศรษฐกิจไทยที่มีผลต่อ GDP 2567 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
โดยลำดับความเสี่ยงที่ 1 คือเรื่องของการส่งออก มาจากเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายดอกเบี้ยสหรัฐ ความเสี่ยงที่ 2 คือการบริโภค ด้วยประชาชนมีหนี้ครัวเรือนที่สูง โดยเฉลี่ยติดลบอยู่ที่ประมาณ 1,002 บาท/คน ความเสี่ยงที่ 3 คือการลงทุน จากอัตราดอกเบี้ยและนโยบายลงทุน ความเสี่ยงที่ 4 คือนักท่องเที่ยวจีน ด้วยเศรษฐกิจจีนเอง และขาดความมั่นใจ
อย่างไรก็ตาม 9 จุดเสี่ยงเศรษฐกิจและการส่งออกไทยปี 2567 มีดังนี้
1)เศรษฐกิจโลกชะลอตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ด้าน IMF คาดเศรษฐกิจโลกโต 2.9% และ OECD คาดเศรษฐกิจโลกโต 2.7% โดยประเทศพัฒนาแล้วเศรษฐกิจโต 1.4% และตลาดใหม่และประเทศกําลังพัฒนาโต 4%
2)หนี้คนไทยมหาศาล ทํากําลังซื้อและเศรษฐกิจลดลง โดยมีหนี้ครัวเรือนรวม 19 ล้านล้านบาท (ในระบบและนอกระบบ)
3)การปิดตัวธุรกิจไทยโดยธุรกิจไทยเสี่ยงปิดกิจการ ได้แก่ ธุรกิจเหล็ก ธุรกิจรถยนต์มือสอง ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ใช้น้ำมัน (มอเตอร์ไซค์และรถยนต์) ธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและกล่องกระดาษ ธุรกิจอาหารแช่แข็งขายในตลาดสด ธุรกิจค้าปลีกห้องแถว ธุรกิจรับซื้อสินค้าเกษตร ธุรกิจการเกษตรแบบล้าสมัย และธุรกิจสิ่งทอที่ใช้เส้นใยสังเคราะห์
4)สงครามภายใต้ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ กระทบการส่งออกไทย ราคาน้ำมัน การค้าและการขนส่งทางเรือ 5.อัตราดอกเบี้ยผันผวนมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน 6.ศักยภาพการส่งออกและ FDI ต่ำ โดยสินค้าส่งออกไทยอยู่ในกลุ่มศักยภาพต่ำสุด และ FDI ไทย ยังคงติดหล่ม อันดับ 5 ของอาเซียน (รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม)
7.พึ่งพิงเศรษฐกิจจีนมากเกินไป ซึ่งไทยพึ่งพาเศรษฐกิจจีนถึง 16.2% ต่อ GDP ซึ่งเศรษฐกิจจีนปี 2567 จะชะลอตัวอยู่ที่ 4.2% 8.เอลนีโญส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทย อยู่ที่ 26,234 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมูลค่าการส่งออกลดลง 4% กระทบการส่งออกรวม 8.8% ถึง 9.3% 9.ต้นทุนการผลิตสูง ทั้งค่าแรง ค่าไฟ และราคาน้ำมันสูงเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 21 ธันวาคม 2566