ตลาดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน จ่อทะลุ 1.87 แสนล้านดอลล์ปี75
แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่โลกกำลังให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านจากรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค
เพอร์ซิสเทนซ์ มาร์เก็ต รีเสิร์ช บริษัทวิจัยตลาดจากอินเดียระบุว่า ขนาดตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนโลกมีแนวโน้มจะขยายตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยเพิ่มขึ้นจาก 5.68 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 เป็น 1.871 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2575 สะท้อนถึงอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 14.2% ในช่วงปี 2566-2575
สาเหตุหลัก ที่หนุนให้อุปสงค์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนพุ่งทะยานขึ้นทั่วโลกคือความต้องการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ทั้งประเภทไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด, ข้อกำหนดด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดที่บังคับใช้โดยรัฐบาลประเทศต่าง ๆ, ตลาดอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึง ความพยายามในการวิจัยและพัฒนาแบบต่อเนื่องเพื่อยกระดับศักยภาพของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน
นอกจากนั้น ราคาที่ลดลงของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนก็เป็นอีกปัจจัยหนุนสำคัญ เนื่องจากช่วยให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ หันมาใช้งานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนกันอย่างแพร่หลาย โดยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุปกรณ์ต่าง ๆ หลากหลายประเภท เช่น สมาร์ตโฟน, เครื่องมือที่ใช้พลังงาน, ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า และชิ้นส่วนการบิน
ปัจจุบัน เทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมีข้อได้เปรียบเหนือเทคโนโลยีอื่น ๆ ทั้งในคุณสมบัติด้านความหนาแน่นพลังงานสูงและอัตราการคายประจุต่ำ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้หนุนให้มีการยอมรับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนกันอย่างแพร่หลายและนำแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมาใช้ประโยชน์ในภาคส่วนต่าง ๆ มากมาย
ข้อมูลที่รวบรวมและจัดหาโดยกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) บ่งชี้ว่าการผลิตลิเทียมทั่วโลกพุ่งทะยานขึ้นอย่างมากในปี 2565 โดยอยู่ที่ 130,000 ตัน (ไม่นับรวมตัวเลขการผลิตจากสหรัฐ) เพิ่มขึ้นกว่า 20,000 ตัน จาก 107,000 ตันในปี 2564
ปัจจุบัน ออสเตรเลีย, ชิลี และจีนรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของตลาดการผลิตลิเทียมโลก โดยในปี 2565 ออสเตรเลียผลิตลิเทียมได้ 61,000 ตัน, ชิลีผลิตได้ 39,000 ตัน และจีนผลิตได้ 19,000 ตัน ส่วนอาร์เจนตินาผลิตได้ 6,200 ตันและบราซิลผลิตได้ 2,200 ตัน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 26 มกราคม 2567