ภาคการผลิตส่งสัญญาณ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
สำนักงานสถิติแห่งชาติ (เอ็นบีเอส) ของจีนเผยแพร่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ที่สำรวจโดยเจ้าหน้าที่ของทางการออกมาเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ที่แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมการผลิตของโรงงานในจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อเศรษฐกิจจีนที่กำลังประสบปัญหาชะลอตัวอย่างหนักจากวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์และการขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ตัวเลขของดัชนีพีเอ็มไอประจำเดือนมีนาคม กระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ 50.8 จุด สูงขึ้นจาก 49.1 จุดในเดือนกุมภาพันธ์ และนับเป็นระดับดัชนีพีเอ็มไอที่สูงที่สุดในรอบ 1 ปี โดยมีปัจจัยหลักมาจากคำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ค่าดัชนีพีเอ็มไอที่สูงกว่าระดับ 50 จุดนั้นแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของการผลิตในรอบเดือนก่อนหน้า
ที่น่าสนใจก็คือ ดัชนีพีเอ็มไอ ซึ่งจัดทำโดยเอกชนคือ ไคซิน อินไซท์ กรุ๊ป และเป็นที่จับตามองที่ถูกเผยแพร่ตามหลังออกมา ก็แสดงให้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยดัชนีพีเอ็มไอ ประจำเดือนมีนาคม ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 51.1 จุด จาก 50.9 จุด ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกันแล้ว ดัชนีของเดือนมีนาคมยังขยายตัวมากที่สุด เร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2023 อีกด้วย
จ้าว ฉิงเหอ นักสถิติอาวุโสประจำ เอ็นบีเอส กล่าวไว้ในการแถลงเพื่อเผยแพร่ดัชนีพีเอ็มไอ ว่า กิจกรรมของโรงงานการผลิตจีนในเดือนมีนาคมเร่งเร็วขึ้นหลังจากเทศกาลหยุดยาวเพื่อฉลองตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แต่ในเวลาเดียวกันก็เตือนเอาไว้ด้วยว่า อุตสาหกรรมการผลิตยังคงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐต่อเนื่องต่อไป ด้วยเหตุที่ว่า บรรดาบริษัทต่าง ๆ ยังคงประสบปัญหา “อุปสงค์จากตลาดไม่เพียงพอ” ซึ่งตรงกับความกังวลของบรรดาคู่ค้าของจีนที่เกรงว่า อุตสาหกรรมการผลิตในจีนอาจเพิ่มการผลิตจนเกินความต้องการ ซึ่งจะลุกลามไปสู่ตลาดสำหรับการส่งออกในอีกไม่ช้าไม่นาน
นักวิเคราะห์ชี้ว่า การกระเตื้องขึ้นของดัชนีพีเอ็มไอของจีน สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ส่งสัญญาณแสดงสภาวะมีเสถียรภาพออกมาในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ โดยเชื่อว่า การที่ดัชนีต่าง ๆ แสดงค่าออกมาในเชิงบวกถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจจีนกำลังพลิกฟื้นกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าทางการจีนจะยังคงปลุกปล้ำกับปัญหาการทรุดตัวอย่างหนักในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยถ่วงต่อสถานะทางการเงินการคลังของรัฐบาลท้องถิ่นในระดับมณฑลและเป็นปัญหาต่อบรรดาธนาคารของรัฐทั้งหลายอยู่ในเวลานี้ก็ตาม
ทีมวิเคราะห์ของซิตีชี้ว่า ดัชนีพีเอ็มไอประจำเดือนมีนาคมอาจนำไปสู่การยกระดับการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของจีนตามมา โดยย้ำว่าการฟื้นตัวเป็นวงกว้างในภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ เท่ากับเป็นการยืนยันว่า เศรษฐกิจโดยรวมของจีนพลิกฟื้นกลับมาอยู่ในร่องในรอยอีกครั้งแล้ว ในขณะที่ โกลด์แมน แซกส์ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า กิจกรรมในภาคการบริการและภาคการก่อสร้าง ในเดือนมีนาคมก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนรวมทั้ง หวัง เจ๋อ จากไคซิน อินไซต์ กรุ๊ป เตือนเอาไว้ว่า แม้จะมีสัญญาณแสดงออกมาในเชิงบวก แต่เศรษฐกิจจีนยังคงมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและยังอยู่ในทิศทางเป็นลบ
หวังชี้ว่า แรงกดดันให้เศรษฐกิจจีนทรุดตัวลงอีกยังคงมีอยู่ การจ้างงานยังคงอ่อนแอ ระดับราคายังคงต่ำ อุปสงค์ภายในประเทศยังไม่เพียงพอเพราะยังไม่ได้รับการแก้ไขเหตุปัจจัยพื้นฐาน
ปัญหาทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า จีนยังคงจำเป็นต้องหาหนทางกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของอุปสงค์ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ
หวง จือชุน หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ ระบุเอาไว้ในบทวิเคราะห์ที่เผยแพร่ออกมาหลังการแถลงดัชนีพีเอ็มไอว่า เชื่อว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนจะยังคงดำเนินต่อไปในระยะสั้น แต่จะไม่ยั่งยืนและเศรษฐกิจโดยรวมของจีนเองก็จะอ่อนแอลงอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้
แคปิตอล อีโคโนมิกส์ ย้ำว่า ในทันทีที่การสนับสนุนในเชิงนโยบายยุติลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงหลังของปีนี้ ปัญหาในเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจจะกลับมาปรากฏอีกรอบ ซึ่งเป็นไปได้ที่จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของจีนชะลอตัวลงอีกครั้งนั่นเอง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 3 เมษายน 2567