เศรษฐกิจฝืดคู่ค้า "หั่นเครดิต" ธุรกิจเข้าโหมดค้าขาย "เงินสด"
จับตาปัญหาเศรษฐกิจไทยซบเซาฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ส่งผลกระทบกำลังซื้อประชาชนลุกลามจากระดับล่างสู่ระดับกลางมากขึ้น ฉุดรั้งธุรกิจสายป่านสั้นเจอปัญหาขาดสภาพคล่อง สมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกผวาปัญหาหนี้เสีย เข้าสู่โหมดการทำธุรกิจด้วย “เงินสด” เป็นหลัก ช่วยคู่ค้าไม่ต้องแบกสต๊อกยาว-ลดการสั่งซื้อขั้นต่ำ ยักษ์ค้าปลีกค้าส่งอุดรฯ เผยซัพพลายเออร์คุมเข้มหนี้ค้างชำระ “หั่นเครดิตเทอม” กลุ่มผู้ผลิตวัสดุอสังหาฯเผยตลาดวิกฤตเจอหนี้ค้างยาว
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศซบเซา สัญญาณการฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน กระทั่งภาพผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมปิดตัวจำนวนมาก โดยล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า 6 เดือนแรกของปี 2567 มีโรงงานปิดตัวทั้งสิ้น 667 แห่ง เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีการปิดตัว 358 แห่ง ก็ยิ่งตอกย้ำปัญหาเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชนรุนแรงมากขึ้น
ธุรกิจขอยืดหนี้การค้าเพิ่มขึ้น :
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหา และฟื้นตัวไม่เต็มที่และทั่วถึง ทำให้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีภาระหนี้ค่อนข้างสูง และรายได้ยังไม่กลับมา ส่งผลกระทบต่อเนื่องจากระดับล่าง เริ่มลามไปสู่ระดับกลางมากขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นจะเห็นว่าผู้ประกอบการขนาดกลางที่มีสายป่านไม่ยาว เริ่มมีสัญญาณการขอยืดการชำระหนี้การค้าเพิ่มมากขึ้น หรือลูกค้าก็มีการขอผ่อนผันการชำระหนี้มากขึ้น เนื่องจากบางส่วนขาดสภาพคล่องทางธุรกิจจากกำลังซื้อภาครายย่อยที่หายไป ทำให้ภาพก่อนจะเกิดเป็นตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะเห็นการยืดหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น
เน้นค้าขายด้วย “เงินสด” :
นายสมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความท้าทายด้านเศรษฐกิจกำลังซื้อที่ลดลงแบบลากยาว และการแข่งขันที่ดุเดือดกับคู่แข่งต่างชาติ ทำให้ผู้ค้าปลีกแต่ละราย คัดลูกค้าที่มีแนวโน้มจะมีปัญหาด้านการเงินออกไปแล้ว จนปัจจุบันเหลือแต่กลุ่มที่ค้าขายด้วยเงินสด จึงไม่จำเป็นต้องใช้การยืดหนี้หรือขยายเครดิตเทอมมากนัก
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ผู้ค้าส่งส่วนใหญ่ได้แจ้งเตือนลูกค้าล่วงหน้าให้ลดการสต๊อกสินค้าลงให้สอดรับกับกำลังซื้อในตลาด เช่น สต๊อกไม่เกิน 14 วัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดภาระทางการเงินคู่ค้าแล้ว ยังช่วยให้สินค้าใหม่อยู่เสมอ รวมถึงลดปัญหาสินค้าหมดอายุก่อนจำหน่ายได้หมด
ลดภาระการสต๊อกสินค้า :
นายสมชายกล่าวว่า ขณะเดียวกันผู้ค้าส่งยังได้ปรับตัวและส่งกลยุทธ์ต่าง ๆ ออกมา เพื่อช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถผ่านสถานการณ์ไปด้วยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นลดราคาสินค้าเพื่อให้ลูกค้าที่ซื้อไปจำหน่ายต่อสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น หรือลดเงื่อนไขการซื้อ เช่น ลดปริมาณการซื้อขั้นต่ำ จากเดิมต้องสั่งยกลังลงเป็นแพ็ก เพื่อช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายและสามารถซื้อสินค้าได้หลากหลายขึ้น รวมถึงปรับระบบการส่งสินค้าโดยรวมเส้นทางพื้นที่ใกล้เคียงเข้าด้วยกัน เพื่อคงความถี่ของรอบการส่งและยังคุ้มต้นทุนเชื้อเพลิงอยู่ แม้ปริมาณการสั่งสินค้าจะลดลง
“ทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้นทำให้ปัจจุบันปรากฏการณ์การยืดหนี้การค้าให้กับลูกค้านั้นจึงเกิดขึ้นไม่มากนัก” นายสมชายกล่าว
ซัพพลายเออร์หั่นเครดิตเทอม :
นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง จ.อุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้หลายจังหวัดบ่นกันหมด เศรษฐกิจตกต่ำสุด ๆ ไม่มีปัจจัยใด ๆ เป็นตัวบวกที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้น ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังปี 2567 คาดว่าจะเหมือนเดิม ประชาชนทุกคนปรับตัว ประหยัด ใช้จ่ายน้อยลง ด้านร้านค้าพยายามปรับตัว เลือกสินค้าที่ขายได้ และลดการสต๊อกสินค้า
“ตั้งงี่สุนพยายามปรับตัวตั้งแต่ปลายปี 2566 มีสัญญาณจากซัพพลายเออร์เปิดเครดิตสั้นลง เราต้องมาปรับเรื่องการขายสินค้าหน้าร้าน ลดการสต๊อกสินค้าและบริหารกระแสเงินสดให้ดี ที่ผ่านมามียอดขายประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี ปรับลดลงมาเรื่อย ๆ ปี 2566 ยอดขายเหลือ 2,600-2,700 ล้านบาท สำหรับปี 2567 ก็พยายามประคองให้ได้เท่ากับปีที่แล้ว การกลับไปเท่าเดิมคงยาก” นายมิลินทร์กล่าว
ขณะที่กลุ่มลูกค้าชาวลาวตอนนี้กำลังซื้อลดลงไม่คึกคักเหมือนช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากเงินกีบลาวอ่อนค่าหนัก
นายมิลินทร์กล่าวว่า สำหรับมหกรรมลดราคาสินค้าที่ห้างภูธรกว่า 80 แห่งทั่วประเทศ รวมตัวกันในชื่อ Local Low Cost ซึ่งตอนนี้จัดกันทุกไตรมาส ก็สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดได้ระดับหนึ่ง
วัสดุอสังหาฯเจอหนี้ค้างยาว :
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งผู้รับเหมาก่อสร้าง โรงงานวัสดุ บริษัทออกแบบ ได้รวมตัวกันเรียกร้องส่งเสียงถึงรัฐบาลเร่งมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้มากขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยระบุว่า หลังจากที่ได้พยายามปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องแล้ว แต่ปัจจุบันภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ได้รับผลกระทบมาเป็นระยะ ๆ ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องตลอด Supply Chain ได้รับผลกระทบแบบโดมิโน จนอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการเป็นจำนวนมาก
โดยมีผู้ประกอบการบางราย เช่น บริษัท เฟรมเทค วินโดว์ แอนด์ ดอร์ จำกัด โรงงานประกอบและติดตั้งงานประตู หน้าต่างอะลูมิเนียม พร้อมกระจก มีพนักงาน 500 คน ระบุว่าปัจจุบันยอดขายบริษัทตกลงอย่างต่อเนื่อง และลูกค้าค้างชำระหนี้การค้ายาวนานเสี่ยงหนี้สูญ ต้องกู้เงินหมุนเวียนเป็นจำนวนมากเพื่อให้บริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอ
บริษัท สยามแกรนด์ อลูมิเนียม จำกัด โรงงานผลิตและติดตั้งประตู-หน้าต่างอะลูมิเนียม มีพนักงาน 215 คน จากภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวอย่างมาก ส่งผลกระทบให้ปัจจุบันไม่มียอดรายการผลิต ไปจนถึงรายการที่ผลิตแล้ว ลูกค้าก็ขอเลื่อนส่งสินค้าแบบไม่มีกำหนด
ขณะที่บริษัท เอ็ม.เอ็ม.เค. คอมเมอร์เชียล จำกัด ประกอบธุรกิจพื้นไม้ลามิเนต พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ ดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 24 มีพนักงาน 58 ชีวิต ระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันทั้งลูกค้าใหม่และเก่า ชะลอตัวและหยุดสั่งซื้อสินค้า ทำให้เกิดผลกระทบในด้านการเงินเพื่อประคับประคองทั้งธุรกิจและพนักงาน
สารพัดธุรกิจ “ขาดสภาพคล่อง” :
ขณะที่บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัทมียอดหนี้การค้าค้างชำระเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้มีการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากลูกค้ามีปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ปัจจุบันมีลูกค้าค้างชำระตั้งแต่ 3 เดือนจนถึง 12 เดือน โดยเป็นลูกหนี้การค้าบริษัทที่เกี่ยวข้องกันตามนิยามของมาตรฐานบัญชี โดยได้เครดิตเทอม 30-180 วัน
นายสุธี สิมะกุลธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตมอเตอร์คอมเพรสเซอร์รายแรกในไทย แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า บริษัทแจ้งหยุดกิจการชั่วคราวระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2567 โดยบริษัทจะหยุดกิจการเป็นช่วง ๆ เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถจัดหาวัตถุดิบและส่งมอบให้งานการผลิตได้ตามแผนการผลิตของบริษัท
โดยฝ่ายจัดการจึงให้หยุดกิจการเป็นการชั่วคราว ในวันที่ 4, 5, 11, 12, 13, 18 และ 19 กรกฎาคม 2567 ส่วนวันอื่น ๆ ยังคงทำงานตามปกติเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย โดยได้แจ้งการหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวให้พนักงาน พนักงานตรวจแรงงาน และจ่ายเงินให้ลูกจ้างร้อยละ 75 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75
แอดไวซ์มอนิเตอร์แบบวันต่อวัน :
นายณัฏฐ์ ณัฐนิธิการัชต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด (มหาชน) เชนค้าปลีกไอที “Advice” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมของกำลังซื้อสินค้าไอทีในช่วงครึ่งปีแรก 2567 หดตัวจากปีก่อนประมาณ 3% ซึ่งช่วงต้นปีควรเป็นช่วงที่กำลังซื้อฟื้นตัวเพราะเป็นรอบของการเปลี่ยนอุปกรณ์พอดี แต่ด้วยงบฯของภาครัฐที่มาค่อนข้างช้า และผู้บริโภคหลายคนรอซื้ออุปกรณ์ที่ชูจุดขายเกี่ยวกับ AI ทำให้กำลังซื้อน่าจะเทมาที่ช่วงครึ่งปีหลังแทน
“แม้ว่าสถานการณ์กำลังซื้อสินค้าไอทีจะยังทรงตัว ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการจัดการสต๊อก สภาพคล่อง หรือการขายของแอดไวซ์ เพราะเรามีระบบที่สามารถมอนิเตอร์ดีมานด์กับซัพพลายได้แบบวันต่อวัน ทำให้ไม่เกิดปัญหาสต๊อกบวม ซึ่งมองว่ารีเทลรายใหญ่ ๆ มีความชำนาญในการจัดการเรื่องพวกนี้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการดีลกับซัพพลายเออร์และคู่ค้า หรือแม้แต่การสำรองเงินสดให้เพียงพอ”
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 31 กรกฏาคม 2567