IPEF OECD และ BRICS เวทีนำไทยกลับจอเรดาร์โลก
นับตั้งแต่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เข้าบริหารประเทศในเดือน ส.ค.2566 ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศทุกระดับกล่าวตรงกันว่า ถึงเวลานำไทยกลับสู่จอเรดาร์โลก เครื่องมือหนึ่งคือใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกนำไทยเข้าเป็นสมาชิกในกรอบพหุภาคี
ปัจจุบันการที่ไทยขอเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD), BRICS และการอยู่ในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก(Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ถูกพูดถึงมากทั้งในทางบวกและทางลบ กระทรวงการต่างประเทศจึงจัดเวที “ทิศทางไทยในจอเรดาร์โลก: IPEF OECD และ BRICS” เป็นปฐมบทแห่งซีรีส์รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย
เปิดฉากที่ สาลินี ผลประไพ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อธิบายว่า การทูตเศรษฐกิจเป็นภารกิจหลักของกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศ หัวใจสำคัญคือการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับไทยผ่านทางการทูต ใช้เครื่องมือทางการทูตเพื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจ และในขณะเดียวกันก็ใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อเป้าหมายการต่างประเทศ
เป้าหมายของการทูตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย Competitiveness เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับความสามารถของไทยให้น่าดึงดูด “ซึ่งเราจะทำสิ่งนี้ได้ต้องมีมาตรฐานที่ดีจึงจะมีคนอยากมาค้าขายลงทุนมาท่องเที่ยว”
Visibility ทำให้ประเทศอื่นมองเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีความหมาย มีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตานานาชาติ และ Impact คือการที่ไทยสามารถมีส่วนร่วมสำคัญในโลกในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้เล่นที่เพิ่มพลังบวกให้กับกรอบความร่วมมือที่ไทยเข้าไปมีส่วนร่วม
การขับเคลื่อนการทูตเศรษฐกิจต้องทำเพื่อที่ไทยจะได้ขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศที่มีศักยภาพสูง เพื่อยกระดับมาตรฐานเศรษฐกิจ ธุรกิจ รัฐกิจ ความโปร่งใส เพิ่มการมีส่วนร่วมของไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และที่ทำทั้งหมดก็เพื่อให้เราบริหารความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิสรัปชัน
“การทูตเศรษฐกิจคือความพยายามทำให้ไทยมีคุณสมบัติเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด” รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศสรุปซึ่งสอดรับกับใจไทย อุปการนิติเกษตร รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ที่กล่าวว่า IPEF เป็นตัวอย่างที่จับต้องได้ของการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก
“ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกไม่ได้มีแค่ความมั่นคง แต่มีแง่มุมเศรษฐกิจด้วย เป็นกรอบที่ริเริ่มโดยสหรัฐ ประกอบด้วยหุ้นส่วน 14 ประเทศ ไทยเข้าร่วมตั้งแต่แรก สหรัฐต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคนี้มากขึ้นซึ่ง IPEF มีทุกอย่างที่รองฯ สาลินีพูด” ใจไทยกล่าวพร้อมขยายความความสำคัญของประเทศหุ้นส่วน IPEF ต่อไทยว่า 14 ประเทศ IPEF มีเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็น 40% ของจีดีพีโลก และ 47% ของมูลค่าการค้าต่างประเทศของไทย เจ็ดประเทศในท็อปเท็นคู่ค้าของไทย และแปดประเทศในท็อปเท็นตลาดส่งออกไทยล้วนอยู่ใน IPEF ดังนั้นการร่วมมือกับประเทศเหล่านี้ย่อมสร้าง impact ให้กับไทยได้
ใจไทยขยายความเพิ่มเติมว่า IPEF ประกอบด้วย 4 เสาหลัก :
เสาหลักที่ 1 การค้า :
เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า ไทยอยู่ระหว่างการเจรจา
เสาหลักที่ 2 ซัพพลายเชน :
ส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน มีผลบังคับใช้กับไทยเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.67
เสาหลักที่ 3 เศรษฐกิจสะอาด (Clean Economy) :
ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยลงนามแล้วและอยู่ระหว่างกระบวนการยื่นสัตยาบันสาร
เสาหลักที่ 4 เศรษฐกิจเป็นธรรม (Fair Economy) :
ส่งเสริมการต่อต้านการทุจริตและความโปร่งใสในการจัดเก็บภาษี ไทยลงนามแล้วและอยู่ระหว่างกระบวนการยื่นสัตยาบันสาร
“ด้วยเสาหลักทั้ง 4 IPEF จะปูทางสู่ FTA มาตรฐานสูง” รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ย้ำ
ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการกฎระเบียบการค้าและพหุภาคี เผยมุมมองจากภาคเอกชนว่า ทั้ง IPEF, OECD และ BRICS เป็นความท้าทายที่ไทยต้องทำแต่ละกรอบมีจุดเด่น
กล่าวคือ “OECD เป็นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมมีมาตรฐานสินค้าและสิ่งแวดล้อมเป็นระบบง่ายต่อการที่ไทยจะเข้าไปเรียนรู้ เรียนง่าย ไม่ต้องสร้างเอง” เหมาะสำหรับยกระดับมาตรฐานไทยเพื่อการเจริญเติบโตที่เข้มแข็งและยั่งยืน IPEF มีสี่เสาคล้ายกันแต่มีกฎระเบียบที่เป็นกฎหมายมากขึ้น
“OECD เป็นบันไดเหมือน ISO ส่วน IPEF นั้นเหมือนเราเข้าไปร่วมร่างกติกาแล้วนำกติกามาใช้” นิลสุวรรณเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ขณะที่ BRICS เป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ การเข้าร่วม BRICS สร้างเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยโดยการยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศที่มีศักยภาพสูง ในเมื่อทั้งสามแพลตฟอร์มล้วนมีจุดเด่น นิลสุวรรณกล่าวด้วยว่า สภาอุตสาหกรรมกำลังผสมผสานทั้งสามแพลตฟอร์มนี้ให้เข้ากัน
รศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองในมุมที่มีความระมัดระวังมากขึ้นว่า ปัจจุบันมหาอำนาจแข่งกันรุนแรงมากเปลี่ยนจากโลกาภิวัตน์ (Globalization) ช่วงหลังสงครามเย็นมาบัดนี้กลายเป็น Geopolitics
ดังนั้นการพิจารณา IPEF, OECD และ BRICS ของไทยต้องมองด้วยมุมมอง 3C ได้แก่
Context ที่จิตติภัทรอธิบายว่า ขณะนี้ Geopolitics กลายเป็นกรอบใหญ่มาแทนที่ Globalization มหาอำนาจมองฝั่งตรงข้ามเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์มากกว่ามองเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ สหรัฐต้องการคงความเป็นผู้นำไว้โดยใช้วิธีสร้างพันธมิตรกลุ่มย่อยในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เช่น Quad, AUKUS จากนั้นจึงมี IPEF เพื่อให้โลกเห็นว่าสหรัฐก็มีมิติอื่นด้วย
มุมมองที่ 2 คือ Choice นักวิชาการรายนี้มองว่า การเลือกหรือไม่เลือก ล้วนเป็นทางเลือกของรัฐใดรัฐหนึ่ง
“Choice ต้องตอบโจทย์ยุทศาสตร์แห่งชาติ” เช่น อินโดนีเซียเลือกเป็นสมาชิก OECD ไม่เลือก BRICS เพราะอยากเป็นประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ว่าจะเลือกแบบใดย่อมสะท้อนคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งยังมีโอกาสและข้อจำกัดเสมอ เช่น การที่อินโดนีเซียเลือกเข้าเป็นสมาชิก OECD ก็ต้องเจอกับข้อกังขาจากอิสราเอลที่สองประเทศไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน
มุมมองที่ 3 Content การเป็นสมาชิกกลุ่มใดย่อมมีทั้งโอกาสและความท้าทาย ในแง่ของโอกาส OECD มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด และทั้ง OECD และ IPEF เปิดโอกาสให้ไทยได้ปฏิรูปโครงสร้าง ส่วนความท้าทาย OECD และ IPEF มีเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติตามมากมาย ขณะที่ BRICS ไม่มีแต่มีภาพลักษณ์การเลือกข้าง หากไทยไปเข้าร่วมจะถูกมองว่าไม่มีจุดยืนหรือไม่นี่คือสิ่งที่จิตติภัทรตั้งคำถาม ส่วน IPEF แม้จะมีโอกาสแต่ก็ไม่ใช่เขตการค้าเสรี เป็นเพียง stepping stone ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ ต่อไป
ทั้งหมดนี้คือความคิดเห็นส่วนหนึ่งจากเวทีแรก ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศให้คำมั่นว่าจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแบบนี้อีกหลายครั้งและจะนำผลการหารือไปปรับใช้เพื่อกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง
การต่างประเทศไทย‘ไม่มีอะไรบังเอิญ’ :
นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวว่า ทั้ง IPEF OECD และ BRICS ได้รับการจับตามองจากประชาคมระหว่างประเทศ ไม่ว่าเพื่อนบ้านหรือชาติตะวันตกต่างมองว่าหมากต่อไปที่ไทยจะเดินคืออะไร สิ่งที่กระทรวงจัดพูดคุยกันในครั้งนี้คือการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เหตุผลที่ไทยจะเข้าเป็นสมาชิก OECD, BRICS และการที่ไทยอยู่ใน IPEF สะท้อนว่าไทยกำลังเตรียมตัวพัฒนาตัวเอง เร่งยกดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถการเติบโต ซึ่งสุดท้ายแล้วจะเป็นประโยชน์กับประชาชนคนไทย
“ทุกกรอบที่ไทยเข้าไปเป็นสมาชิก หรือแสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิก มาจากการคิดอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่มีเรื่องบังเอิญในกระทรวงการต่างประเทศ เราเป็นประเทศขนาดกลางไม่ใช่ super power เราต้องบริหารจัดการความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของเราเอง move beyond การเลือกข้าง”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 1 สิงหาคม 2567