หอการค้าไทยผนึก 28 หน่วยงาน ตั้งศูนย์แก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ-ล้นตลาด
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผนึกกำลังภาครัฐและภาคเอกชน 28 หน่วยงานตั้งศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรราคา
ตกต่ำ-ล้นตลาดของไทย ย้ำภาคเกษตรและอาหารเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ
วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการคนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและ 28 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนเล็งเห็นว่าภาคเกษตรและอาหารเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ มีประชากรที่อยู่ในภาคเกษตร จำนวน 7.8 ล้านครัวเรือน และกำลังแรงงานภาคเกษตรประมาณ 12 ล้านคน
โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.50 ล้านล้านบาทต่อปี จึงถือว่าภาคเกษตรและอาหารเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ
โดยต้องยอมรับว่าภาคเกษตร ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในด้านรายได้ ผลผลิต และคุณภาพ ด้วยปัจจัยภายในและภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ อาทิ ความผันผวนของสภาพอากาศ ปัญหาภัยแล้ง โรคระบาดในสัตว์บก สัตว์น้ำ รวมไปถึงโรคระบาดในพืช ส่งผลให้สินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ ตลอดจนการแข่งขันในตลาดส่งออกของโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงสูงขึ้น จากกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นอุปสรรค ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผลผลิต และรายได้ของเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย 28 หน่วยงาน จึงได้ลงนามความร่วมมือว่าด้วย เรื่อง การขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อแก้ไขวิกฤตของภาคเกษตรและอาหารในภาวะที่สินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำให้เป็นรูปธรรม ตลอดจนพัฒนาแนวทางการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตเกษตรกร รวมทั้งคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตรและอาหาร
โดยได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือว่าด้วย เรื่อง การขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ-ล้นตลาดของไทย ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย
ภาครัฐ :
1)สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2)กรมประมง
3)กรมปศุสัตว์
4)กรมวิชาการเกษตร
5)กรมส่งเสริมการเกษตร
6)กรมส่งเสริมสหกรณ์
7)สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
8)กรมการค้าภายใน
9)กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
20)สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
11)สถาบันอาหาร
12)มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ภาคเอกชน :
1)สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย
2)สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย
3)สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย
4)สมาคมเชฟประเทศไทย
5)สมาคมตลาดสดไทย
6)สมาคมผู้ค้าปลีกไทย
7)สมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย
8)สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย
9)สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป
10)สมาคมภัตตาคารไทย
11)สมาคมโรงแรมไทย
12)บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน)
13)บริษัท เซ็นทรัลฟู้ด รีเทล จำกัด
14)บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ จำกัด
15)บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด
16)บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)
อีกทั้งได้แสดงเจตนารมณ์ความร่วมมือ ดังนี้
ภาคีหน่วยงานภาครัฐ โดย
(1)รวบรวมข้อมูลผลผลิตสินค้าเกษตรตามฤดูกาลและจัดส่งข้อมูลให้ศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางและนำมาใช้ข้อมูลร่วมกัน
(2)รวบรวมผลวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์สินค้าเกษตร ได้แก่ 1) พืชผัก ผลไม้ 2) ประมง และ 3) ปศุสัตว์ที่หน่วยงานต่าง ๆ จัดทำไว้เพื่อเตรียมความพร้อมในการประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรในกรณีที่ล้นตลาดและราคาตกต่ำไปยังผู้แปรรูปและผู้จัดจำหน่ายโดยตรง
(3)ส่งเสริมแนวทางยกระดับด้วยการพัฒนาตลาดล่วงหน้าและวิจัยเพื่อแปรรูปสินค้าเกษตรในกรณีที่ล้นตลาดและราคาตกต่ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรทั้งห่วงโซ่อุปทาน
(4)ประชาสัมพันธ์ภารกิจของศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร ในราชการส่วนภูมิภาคและเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกพื้นที่
ขณะที่ภาคีหน่วยงานภาคเอกชน โดย
1)นำผลวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์สินค้าเกษตรที่ล้นตลาดและราคาตกต่ำ มาวางแผนช่องทางการตลาดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคและโรงงานแปรรูป
2)ส่งเสริมแนวทางยกระดับด้วยการพัฒนาตลาดล่วงหน้าและวิจัยเพื่อแปรรูป สินค้าเกษตรในกรณีที่ล้นตลาดและราคาตกต่ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรทั้งห่วงโซ่อุปทาน
3)ประชาสัมพันธ์ภารกิจของศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร ไปยังเครือข่ายภูมิภาคทุกพื้นที่ เพื่อให้ความร่วมมือกับศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร
ดังนั้น ภาคีเครือข่ายได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร หรือศูนย์ AFC (Agriculture and Food Coordination and Public Relations Center) ขึ้น
โดยจะทำหน้าที่ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหารทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ ผ่านความร่วมมือตั้งแต่ระดับราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และภาคเอกชน
อาทิ เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด หอการค้าจังหวัด สมาคมการค้าต่าง ๆ และค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) ให้สามารถมีช่องทางการขาย หรือต้องการจะทำ Contract Farming โดยขายให้กลุ่มผู้ค้าส่งสมัยใหม่ ภัตตาคาร ร้านอาหาร หรือโรงงานแปรรูป
ในขณะเดียวกัน ศูนย์ AFC จะทำหน้าที่ประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพยากรณ์สินค้าเกษตรและอาหาร โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะช่วยประเมินสถานการณ์สินค้าเกษตรที่ล้นตลาดและราคาตกต่ำร่วมกับภาคีเครือข่าย และนำมาวางแผนช่องทางการตลาด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภค ภัตตาคาร ร้านอาหาร ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และโรงงานแปรรูป เป็นต้น
นอกจากนี้ ภายใต้ความร่วมมือการขับเคลื่อนศูนย์ AFC ได้ริเริ่มช่วยเหลือเกษตรกรและแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำแล้ว ดังนี้
1)สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ได้นำร่องความร่วมมือการรับซื้อวัตถุดิบ สัตว์น้ำกลุ่มปลาโอของไทยจากเรือประมงไทย ร่วมกับสมาคมประมงอวนล้อมจับ (ประเทศไทย) เพื่อผลักดันและสนับสนุนการใช้วัตถุดิบสัตว์น้ำกลุ่มปลาโอ (โอดำ โอลาย และโอหลอด) ที่ได้จากเรือประมงไทยในน่านน้ำไทย โดยสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ได้เตรียมการช่วยรับซื้อสัตว์น้ำกลุ่มปลาโอ (ในช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2567) จำนวน 20 ล้านกิโลกรัมหรือคิดเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท
2)สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ได้ร่วมมือกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในการรับซื้อวัตถุดิบปลาทะเลเพื่อนำไปผลิตเป็นเนื้อปลาบด (ซูริมิ) ที่ได้จากเรือประมงไทยในน่านน้ำไทย โดยจะรับซื้อวัตถุดิบสัตว์น้ำในราคาที่สูงขึ้น 1-2 บาทต่อกิโลกรัม
3)สมาคมภัตตาคารไทย ได้ร่วมมือกับสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย ในการส่งเสริมและยกระดับการบริโภคปลากะพงขาวของไทย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกระจายสินค้าไปยังสมาชิกสมาคมภัตตาคารไทยและผู้บริโภคโดยตรง ตลอดจนการร่วมประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ คุณภาพ และมาตรฐานสินค้าปลากะพงขาวของไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคธุรกิจและเกษตรกร
อย่างไรก็ดี ทั้งหมด คือ ความตั้งใจของหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัด สมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง และ 28 หน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อแก้ไขสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ
อย่างไรก็ดี ท่านสามารถแจ้งปัญหาราคาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำและล้นตลาดได้ที่หน่วยงานในจังหวัด อาทิ หอการค้าจังหวัด เกษตรจังหวัด และพาณิชย์จังหวัด เพื่อช่วยประสานงานกับศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร (AFC) หรือส่งผ่านแพลตฟอร์มแจ้งปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำได้ที่เว็บไซต์หอการค้าไทย www.thaichamber.org หรือติดต่อโดยตรงเข้าศูนย์ AFC โทร.0-2018-6888 ต่อ 2600, 6070, 5480 ได้... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/economy/news-1620373
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 1 สิงหาคม 2567